เจ้าของฟาร์มกุ้ง ร้องผบ.ตร.ซื้อรถมือ2 ถูกคนร้ายเชิดเงินไม่ได้รถ แถมโดนตำรวจกักตัวอ้างซื้อรถโจร แจ้งความเรื่องเงียบ ก่อนมี กต.ตร.โผล่มาเคลียร์จ่ายเงินเยียวยา 3.5 แสน ทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ เชื่อมีการทำเป็นขบวนการ
เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) นายประวิทย์ (สงวนนามสกุล) เจ้าของฟาร์มกุ้ง พร้อมทนายความเข้ายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจเเห่งชาติ (ผบ.ตร.) โดยมี พ.ต.อ. สาโรช พลพินิจ รอง ผบก.งป. เวรอำนวยการเป็นผู้รับเรื่อง เพื่อเสนอต่อๆไปยังสำนักงานเลขานุการตำรวจเพื่อเสนอผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
นายประวิทย์ อ้างว่าตนถูกตำรวจชุดจับกุม ยศ ”ร.ต.อ” กับพวกรวม 5 นาย กลั่นแกลังเพื่อให้ต้องรับโทษทางอาญา โดย ร.ต.อ. นั้นได้รู้อยู่แล้วว่าตนมิได้กระทำความผิดและควบคุมตัวตนไปทำให้ขาดจากอิสรภาพ โดยมิชอบ โดยเมื่อประมาณช่วงเดือน ตุลาคม 2567 ตนมีความประสงค์ที่จะหาซื้อรถยนต์มือ 2 ต่อมา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2567 นายจุตรงค์ (สงวนนามสกุล) ได้แนะนำรถยนต์ ยี่ห้อ โตโยต้า รุ่น ฟอร์จูนเนอร์ รุ่นปี 2019 โดยแจ้งว่ามีผู้ประกาศขายทางกลุ่มเฟสบุ๊คชื่อว่า “ขายดาวน์รถยนต์ ผ่อนต่อ-เปลี่ยนสัญญา-เฉพาะรถขายดาวน์เท่านั้น” โดยตนได้แจ้ง ว่าสนใจรถยนต์คันดังกล่าว จึงนัดหมายกับผู้ขายเพื่อขอดูรถในหน้าห้างสรรพสินค้าเเห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.บ้านสวน อ.เมืองฯ จว.ชลบุรี
ปรากฏเมื่อไปถึงสถานที่ก็เจอ รถยนต์ที่จะซื้อจะขายกันจอดอยู่บริเวณลานจอดรถหน้าทางเข้าห้างฯ โดยตนได้เข้า ไปจอดรถบริเวณใกล้เคียงรถยนต์คันดังกล่าว และ นายจุตรงค์ฯ ได้โทรหาผู้ขาย หลังจากนั้นมีชายวัยอายุประมาณ 40 ใส่เสื้อชุดบอลสีเหลือง ลายหนุมาน และผู้หญิงอายุประมาณ 30 ปีเดินลงจากรถยนต์ โตโยต้าฟอร์จูนเนอร์ฯ และแสดงตัวว่าเป็นน้องสาวของเจ้าของรถ ตนจึงตรวจสอบเอกสารพร้อมมอบเงินจำนวน 350,000 บาท ให้ทำการตรวจรับก่อนจะดำเนินการทำการซื้อขายกัน ขณะเดียวกันมีกลุ่มชายฉกรรจ์จำนวน 6-7 นายวิ่งเข้ามาล็อคพวกตนไว้อ้างว่าตนเองซื้อรถผิดกฎหมาย แต่ปล่อยให้ผู้ขายทั้งสองถือเงินวิ่งหนีไป ทำให้ตนได้รับความเสียหาย และมาแจ้งความต่อ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองชลบุรี เนื่องจากมองว่าชุดจับกุมกับผู้ขายรู้เห็นและทำกันเป็นขบวนการ แต่เรื่องเงียบและต้นสังกัดแจ้งว่าชุดจับกุมไม่ได้ทำอะไรผิด
โดยนายประวิทย์ กล่าวว่าหลังจากมีเกิดเรื่องได้มี กต.ตร.จังหวัดท่านหนึ่ง ได้เข้ามาติดต่อพร้อมมอบเงินเยียวยาให้ 3.5 แสนบาท ทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ของ กต.ตร. ซึ่งมองว่าเป็นเทคนิคทางการกฎหมายเท่านั้น และถึงแม้ตนเองจะได้เงินเยียวยาแล้วแต่ที่ผ่านมาตนเองต้องใช้เงินไปกับการจ้างทนายความและดำเนินทางกฎหมายหมดไปหลักแสนบาท และมองว่าเรื่องนี้มีความไม่ชอบมาพากลจึงอยากให้ทาง ผบ.ตร. ตรวจสอบตำรวจชุดจับกุมรวมถึง กต.ตร. คนดังกล่าวด้วย