นพดล ฟ้องอดีตผู้จัดการมรดก ยักยอกทรัพย์ตระกูลธรรมวัฒนะ เรียกค่าเสียหาย 1.6 พันล้าน

นพดล เดินหน้าฟ้องอาญา ณฤมล กับพวก ข้อหาร่วมกันยักยอกทรัพย์ เรียกค่าเสียหายกว่า 1.6 พันล้าน ศาลนัดไต่สวน 28 เม.ย. นี้

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายนพดล ธรรมวัฒนะ ในฐานะผู้จัดการมรดก นางสุวพีร์ ธรรมวัฒนะ (เจ้ามรดก) และผู้รับมอบอำนาจจาก นางมัลลิการ์  ธรรมวัฒนะ ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน เดินทางมาเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นางณฤมล ธรรมวัฒนะ และ นางสาวคนึงนิตย์ ธรรมวัฒนะ เป็นจำเลยที่ 1 -2 ต่อศาลอาญาในข้อหาและฐานความผิดเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันยักยอกทรัพย์มรดก มูลค่า 1,641,197,970 บาท (หนึ่งพันหกร้อยสี่สิบเอ็ดล้านหนึ่งแสนเก้าหมื่นเจ็ดพันเก้าร้อยเจ็ดสิบบาท)

สำหรับคดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องสรุปว่าเดิม นายนพดล นางมัลลิการ์ นางณฤมล และนางสาวคนึงนิตย์ ธรรมวัฒนะ เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน แต่ต่อมานางณฤมล ได้ยื่นขอลาออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกร่วม และศาลมีคำสั่งอนุญาต

การจัดการมรดกของ นางสุวพีร์ ธรรมวัฒนะ ผู้ตาย (เจ้ามรดก) ซึ่งได้ระบุไว้ในพินัยกรรมถึงจำนวนทายาทที่มีสิทธิรับมรดก รายการทรัพย์ที่ระบุให้ทายาท รวมถึงวิธีการจัดการทรัพย์มรดก ซึ่งถูกระบุไว้ในพินัยกรรม และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ ก็คือการจัดการทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม ฉบับลงวันที่ 15 มี.ค. 2531 ระบุว่า “ข้อ 3.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง(ตลาดยิ่งเจริญ)รวมทั้งสองฝากฝั่งคลองถนน เมื่อข้าพเจ้าถึงแก่กรรม ให้ผู้จัดการมรดกโอนใส่ชื่อไว้ และจัดการปลูกสร้างดัดแปลงแล้วเก็บผลประโยชน์ไว้เป็นกองกลาง เพื่อแบ่งปันแก่ทายาทตามพินัยกรรม ข้อ 1 อันดับที่ 1-9

เมื่อถึงเวลาอันสมควร ให้ผู้จัดการมรดกจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัด ชื่อว่า บริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด โอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เรียกว่า ตลาดยิ่งเจริญ เข้าเป็นทุนของบริษัท และให้ทายาทตามพินัยกรรม ข้อ 1 อันดับที่ 1-9  เป็นผู้ถือหุ้น ห้ามโอนทรัพย์สินให้บุคคลอื่นในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ของผู้ถือหุ้น ถ้าผู้ใดละเมิดข้อห้ามให้ตกเป็นของผู้ถือหุ้นที่ไม่ละเมิดข้อห้ามโอนตามส่วนเฉลี่ย เว้นแต่ผู้ถือหุ้นคนใดจะขายหุ้นจะต้องขายให้แก่ผู้ถือหุ้นที่เป็นทายาทด้วยกันเท่านั้นในราคาตลาด แต่ถ้าหากว่าทายาทผู้ถือหุ้นไม่ยอมรับซื้อ โอนหุ้นให้บริษัทสุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด เป็นผู้รับซื้อหุ้นดังกล่าว

ADVERTISMENT

นายนพดล และนางมัลลิการ์ ธรรมวัฒนะ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสุวพีร์ ธรรมวัฒนะ ผู้ตาย (เจ้ามรดก) ตรวจสอบพบว่า อดีตผู้จัดการมรดก คือนางณฤมล ธรรมวัฒนะ และผู้จัดการมรดก คือนางสาวคนึงนิตย์ ธรรมวัฒนะ ซึ่งนางณฤมล นอกจากจะเป็นอดีตผู้จัดการมรดกของนางสุวพีร์ ธรรมวัฒนะ (เจ้ามรดก) แล้วยังเป็นกรรมการ และเป็นผู้ถือหุ้น ของบริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด อีกด้วย บุคคลทั้งสองร่วมกันยักยอกเอาที่ดินมรดกของนางสุวพีร์ (เจ้ามรดก) ซึ่งยกให้กับบริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด เพื่อเป็นทุนของบริษัทฯ จำนวน 30 โฉนด ตามข้อกำหนดในพินัยกรรม แต่บุคคลทั้งสองได้บังอาจเบียดบังยักยอกทรัพย์มรดกของบริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด ที่บุคคลทั้งสองมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เฉกเช่นเดียวกับทายาทคนอื่นๆ ซึ่งทายาททุกๆ คนต่างรู้ดีว่าเป็นเพียงผู้ครอบครองกรรมสิทธิแทนเท่านั้น และทายาททุกคนต่างมีหน้าที่ที่ต้องโอนที่ดินทั้ง 30 โฉนด คืนให้กับ บริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด

แต่บุคคลทั้งสองร่วมมือร่วมใจกันกระทำความผิด ทั้งต่อหน้าที่ของตน และหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากศาลให้เป็นผู้จัดการมรดก ของนางสุวพีร์ (เจ้ามรดก) เอาที่ดินของบริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด ไปโอนขายให้ บริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด อันเป็นการเบียดบังยักยอกเงินจนบริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด ได้รับความเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 1,641,197,970 บาท (หนึ่งพันหกร้อยสี่สิบเอ็ดล้านหนึ่งแสนเก้าหมื่นเจ็ดพันเก้าร้อยเจ็ดสิบบาท)

ADVERTISMENT

บุคคลทั้งสองร่วมกันขายที่ดินกองมรดก ส่วนที่พินัยกรรมระบุไว้โดยแจ้งชัด ยกให้เป็นทุนของบริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด แต่กลับโอนขายใช้หนี้ตัวเอง ส่วนที่เหลือจากการหักกลบลบหนี้ นำไปให้บริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด กู้ยืม คิดดอกเบี้ยในราคาตลาด ตามสัญญากู้ยืมเงินระหว่างกัน การกระทำความผิดต่างๆ ที่บุคคลทั้งสองร่วมมือกันนั้น เกิดขึ้นอย่างสะดวกโดยไม่มีใครตรวจสอบ เพราะบุคคลทั้งสองต่างเป็นผู้ถือหุ้น และเป็นกรรมการ บริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทฯ ได้

นายนพดล และนางมัลลิการ์ ธรรมวัฒนะ ในฐานะผู้จัดการมรดกมีอำนาจหน้าที่จัดการมรดกให้เป็นไปตามข้อกำหนดในพินัยกรรม อันเป็นเจตนารมณ์ และคำสั่งเสียของเจ้ามรดก  ที่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกทุกคนต้องปฏิบัติตาม ซึ่งนายนพดล และนางมัลลิการ์ ธรรมวัฒนะ ได้ปฏิบัติ ตามโดยการโอนที่ดินทั้ง 30 โฉนด คืนให้แก่บริษัท สุวพีร์  ธรรมวัฒนะ จำกัด ตั้งแต่ปี 2546และทายาทคนอื่น ๆ เช่น นายปริญญา ธรรมวัฒนะ นายวิกรม นายเอกธนัส ซึ่งเป็นทายาทนายเทอดชัย ธรรมวัฒนะ ต่างก็โอนคืนให้แก่บริษัท สุวพีร์  ธรรมวัฒนะ จำกัด ด้วยกันทั้งหมด ยกเว้นจำเลยทั้งสองที่โอนขายให้แก่บริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด และเบียดบังเอาเงินนั้นมาใช้เพื่อประโยชน์ของจำเลยทั้งสองเอง อันเป็นความผิดฐานผู้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์

โดยนายนพดล กล่าวภายหลังยื่นฟ้องว่า คดีนี้มีหลักฐานชัดเจนที่จำเลยเอาหลักฐานเป็นที่ดิน มี่ครอบครองแทนของบริษัท สุวพีร์ โดยเอาที่ดินดังกล่าวไปขายให้บริษัท สุวพีร์ ซึ่งมีสัญญาโอนซื้อขายที่กรมที่ดินอย่างชัดเจน ซึ่งหลักฐานในส่วนนี้ชัดเจน และขณะที่ทำจำเลยก็เป็นผู้จัดการมรดกด้วย และกระทำความผิดทั้งปิดบังมาเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งตนเพิ่งตรวจสอบพบ เพราะว่าที่ดินมรดกในฐานะผู้จัดการมรดกจะต้องจัดการให้เป็นไปตามพินัยกรรม คำสั่งในพินัยกรรมสั่งไว้ชัดเจนว่าห้ามยกพินัยกรรม และทรัพย์สินดังกล่าวให้กับตลาดยิ่งเจริญ แต่ก็ถูกเบียดบังให้ไปเป็นของจำเลย กับโดนเอาไปจำหน่าย ทั้งที่จำเลยมีสัญญายอมกับนายปริญญาในปี 2558 และในสัญญายอมก็ระบุไว้อยู่แล้วว่า ที่ดินของตลาดยิ่งเจริญยังไม่ได้ทำการโอนให้กับทางตลาด ซึ่งจะต้องคืนให้กับบริษัท สุวพีร์ แต่จำเลยกับเบียดบังเอาเงินไปเป็นของตนเอง

นายนพดลกล่าวต่อมาว่า ศาลมีคำสั่งรับคดีนี้เป็นคดีอาญา หมายเลขดำที่ 663/2568 และนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 28 เม.ย และตนเตรียมพยานไว้ไต่สวนจำนวนหลายปาก และหนึ่งในนั้นก็มีตนอยู่ด้วย และจากพยานหลักฐานทั้งหมด ตนมั่นใจว่าศาลจะมีคำสั่งรับฟ้องคดีนี้ และในพินัยกรรมก็เขียนไว้อย่างชัดเจน ว่าที่ดืนยกให้กับตลาดยิ่งเจริญ จะนำไปทำอย่างอื่นไม่ได้ ตนฟ้องเรียกมูลค่าความเสียหายจำนวน 1,641 ล้านบาทตามมูลค่าความเสียหายจริง

“เรื่องนี้บริษัท ฯ อ่วมรับหนี้ทั้งหมดทั้งหนี้กู้ยืมสถาบันการเงิน และหนี้จากการทุจริตของบุคคลทั้งสอง ในปัจจุบันบุคคลทั้งสองมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด  เพราะข้อมูลในทางบัญชีนอกจากบุคคลทั้งสองจะขายที่ดินของบริษัท สุวพีร์ธรรมวัฒนะ จำกัด ให้แก่บริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด แล้วบุคคลทั้งสองยังทุจริตนำเงิน ที่เบียดบังยักยอกทรัพย์ที่เหลือจากการตีใช้หนี้บริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด มาให้บริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด  กู้ยืมเงิน และคิดดอกเบี้ย  เมื่อตรวจสอบข้อมูลทางบัญชีแล้วพบว่าบุคคลทั้งสองมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด  อยู่ประมาณ 400 ล้านบาทเศษ  บริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด ต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่บุคคลทั้งสอง และบริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด  ยังต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) จนถึงปัจจุบัน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image