ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ร่วมกับ ป.ป.ท. ป.ป.ช. สตง. สืบสวนจับกุม 7 เจ้าหน้าที่กองการกีฬา จัดจ้างซ่อมรถบัสทิพย์ ค่าความเสียหายต่อรัฐ 2,790,748 บาท (สองล้านเจ็ดแสนเก้าหมื่นเจ็ดร้อยสี่สิบแปดบาท)
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดยกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ภายใต้การอำนวยการของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ร่วมกันสืบสวนจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหา ข้าราชการพลเรือน สังกัดกองการกีฬา สำนักวัฒนธรรม
กีฬาและการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร จำนวน 7 ราย ที่กองการกีฬา กทม. ดินแดง อาคารกีฬาเวสน์ 3 ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร ดังนี้
1.นายดำรงค์ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ที่ จ.19/2568 ลง 5 มี.ค.68
2.นายภูมินทร์ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ที่ จ.20/2568 ลง 5 มี.ค.68
3.นายคมกริช ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ที่ จ.21/2568 ลง 5 มี.ค.68
4.นายปฏิญญา ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ที่ จ.22/2568 ลง 5 มี.ค.68
5.น.ส.สิริกัญญา ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ที่ จ.25/2568 ลง 5 มี.ค.68
6.นายอภินันท์ แจ้งข้อกล่าวหา
7.นางสาวสุชาวดี แจ้งข้อกล่าวหา
ซึ่งกระทำผิดฐาน “เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิด
ความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสารรับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสาร ร่วมกันรับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้กระทำการอย่างใดขึ้นหรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ และร่วมกันรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162(1)(4) และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
พฤติการณ์ สืบเนื่องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบความผิดปกติของ
การจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการจ้างเหมาซ่อมแซมรถโดยสารปรับอากาศ ขนาด 45-50 ที่นั่ง จำนวน 5 คัน
ในหน่วยงานราชการ สังกัดกองการกีฬา สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร
จึงดำเนินการตรวจสอบเอกสารพบว่าหน่วยราชการดังกล่าวมีการเบิกฎีกาจ้างเหมาซ่อมรถโดยสารดังกล่าวในห่วงระหว่างปี พ.ศ.2565-2567 โดยไม่มีการส่งรถเข้าซ่อมจริง จำนวน 11 ครั้ง
โดยมีกลุ่มของผู้ต้องหาทั้ง 7 คน ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่พัสดุขออนุมัติจ้างซ่อม และทำการปลอมใบเสนอราคาของ บริษัทซ่อมรถทั้ง 5 คัน เพื่อจัดทำเอกสารเสนอราคากลางในการจ้างซ่อม แล้วดำเนินการอนุมัติงบประมาณ
สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จึงส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการ
ทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ดำเนินการ และมีการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ในห้วงระหว่างปี พ.ศ.2565-2567 มีการจ้างเหมาซ่อมรถโดยสารดังกล่าว โดยที่ไม่มีการส่งรถเข้าซ่อมจริงอีก จำนวน 12 ครั้ง และ
กรุงเทพมหานคร ได้ตรวจพบการกระทำลักษณะเดียวกันอีก จำนวน 5 ครั้ง รวมจำนวนเงินที่กลุ่มผู้ต้องหาทำการเบิกจ่ายค่าซ่อมรถ โดยไม่มีการซ่อมจริง 28 ครั้ง หรือ 28 ฎีกาของการเบิกจ่ายงบประมาณ เป็นเงินที่มี การทุจริตทั้งสิ้น 2,790,748 บาท (สองล้านเจ็ดแสนเก้าหมื่นเจ็ดร้อยสี่สิบแปดบาท)
ต่อมาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 กรุงเทพมหานครจึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดเข้าร้องทุกข์
กล่าวโทษต่อ พงส.กก.1 บก.ปปป. เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดทั้ง 7 คน จึงรวบรวมพยานหลักฐานและขออนุมัติหมายจับจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางตามหมายจับข้างต้น
จนกระทั่งในวันที่ 12 มีนาคม 2568 ผู้ต้องหา ทั้ง 7 คน ขอเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน กก.1 บก.ปปป. จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงแจ้งข้อกล่าวหา และจับกุมผู้ต้องหาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป สอบถามปากคำเบื้องต้น ผู้ต้องหายังให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา