โฆษกศาลแจงเหตุผล3ข้อ รื้อคดีอาญาถึงที่สุด กรณีจับแพะ

จากกรณีนายชัยฤทธิ์ ขานฤทธี อายุ 57 ปี ร้องขอความเป็นธรรมต่อกระทรวงยุติธรรม ให้กับ นายกนกพรหม ขานฤทธี อายุ 28 ปี บุตรชาย จำเลยคดีชิงทรัพย์ และทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับอันตรายสาหัส โดยใช้รถจักรยานยนต์ ทะเบียน ขพล 893 กรุงเทพมหานคร เหตุเกิดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2551 บริเวณโรงพยาบาลบางนา 1 โดยศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 23 ปี และถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรมมาแล้ว 5 ปี ทั้งนี้นายชัยฤทธิ์ ร้องขอความเป็นธรรม เนื่องจากมั่นใจว่าบุตรชายไม่ได้กระทำความผิด

ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มกราคม นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่าในคดีดังกล่าวมีคำสั่งศาลถึงที่สุดแล้วให้นายกนกพรหม มีความผิดฐานชิงทรัพย์ มีโทษจำคุกรวม 23 ปี ดังนั้นหากคดีของนายกนกพรหม ตรวจพบว่ามีพยานหลักฐานใหม่ที่แสดงว่าไม่ผิดจริงและเข้าหลักเกณฑ์พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มีขั้นตอนดังต่อไปนี้คือ ให้นายกนกพรหม ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้จัดการ ผู้บุพการี ผู้สืบสันดานและสามีภรรยา ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ภายใต้เงื่อนไข 3 ประการ ประกอบด้วย 1.กรณีที่มีพยานบุคคลซึ่งศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิพากษาคดีเดิม ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลัง ว่าคำเบิกความของพยานเป็นเท็จหรือไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง 2.กรณีพยานหลักฐานอื่นนอกจากพยานบุคคลตามข้อแรก ซึ่งศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิจารณาพิพากษาอันถึงที่สุดนั้น มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลัง แสดงว่าเป็นพยานหลักฐานปลอมหรือเป็นเท็จซึ่งไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง 3.มีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดี ถ้าได้นำมาสืบในคดีอันถึงที่สุดนั้น จะแสดงว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษทางอาญา เช่นนายกนกพรหม ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดและไม่ได้กระทำความผิด กรณีแบบนี้สามารถยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นที่ได้พิพากษาคดีนั้น หรือศาลอื่นในเขตอำนาจ หลักจากนั้นศาลจะไต่สวนคำร้องว่ามีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่หรือไม่ เมื่อไต่สวนคำร้องเสร็จจะส่งสำนวนการไต่สวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์ โดยเร็ว ศาลอุทธรณ์ซึ่งได้รับสำนวนดังกล่าวจะพิจารณาว่าคำร้องนั้นมีมูลหรือไม่ ถ้าไม่มีมูลจะสั่งยกคำร้อง แต่ถ้ามีมูลจะดำเนินการพิจารณาต่อไป

นายสืบพงษ์ กล่าวต่อว่า พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาฯ เป็นกรณีที่กฎหมายเปิดช่องทางให้คดีที่ถึงที่สุดแล้ว มีทางออกให้แก่จำเลยที่สามารถรื้อฟื้นคดีได้ แม้คำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว เพื่อให้จำเลยมีโอกาสหรือมีทางออกทางแก้ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานในภายหลังว่าบุคคลเหล่านั้นไม่ได้กระทำความผิด ถ้าไม่มีกฎหมายฉบับนี้บุคคลนั้นย่อมมีผลผูกพันรับโทษไปกับคำพิพากษาเดิม ไม่สามารถเอาคนที่กระทำผิดจริงไปลงโทษได้ตามหลักทั่วไป และจากกรณีแบบนี้จะมี พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 ซึ่งจำเลยอาจได้รับค่าทดแทนเป็นเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เนื่องจากการตกเป็นจำเลยในคดีอาญาและถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี และปรากฏว่าคำพิพากษาในคดีนั้นฟังเป็นยุติ ว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ซึ่งจำเลยจะได้รับค่าทดแทน ส่วนจำนวนเงินมากน้อยเพียงใดนั้นจะมีคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนละค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหลายหน่วยงาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image