สมาคมนักกม.สิทธิฯ ร่อนจ.ม.เปิดผนึกถึงปธ.ศาลฎีกา ขอดูแลผู้พิพากษา พิจารณาคดีตามหลักกฎหมาย อย่างปกติ
เมื่อวันที่ 8 เมษายน สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้โพสต์ จดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกาและอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ขอให้ดูแลผู้พิพากษาศาลอาญาให้ดำเนินกระบวนพิจารณาตามหลักการกฎหมาย “อย่างเป็นปกติ” ระบุว่า
ตามที่สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ได้ติดตามข้อมูลการพิจารณาคดีของศาลอาญา ในคดีที่นายอานนท์ นำภา ถูกกล่าวหาเป็นจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อ.1629/2564 และคดีหมายเลขดำที่ อลศ.4/2567 พบว่าในคดีแรก ศาลสั่งพิจารณาคดีลับ ส่วนคดีที่สอง ศาลจะสั่งพิจารณาคดีลับ แต่ในท้ายที่สุดได้พิจารณาคดีโดยเปิดเผยเนื่องจากนายอานนท์ นำภา และทนายความโต้แย้งคัดค้าน แต่เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ศาลกลับอ่านคำสั่งคดีละเมิดอำนาจศาลในห้องเวรชี้ ไม่ได้อ่านในห้องพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยตามหลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ “ผิดปกติ” อย่างมาก
สมาคมฯ ขอเรียนต่อท่านว่า นายอานนท์ นำภา รวมถึงจำเลยในคดีมาตรา 112 และคดีการเมืองอื่นๆ พึงได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมตามหลักการกฎหมายและหลักการสากลที่นานาอารยะประทศให้การยอมรับ โดยเฉพาะหลังจากสภายุโรปลงมติประณามประเทศไทยเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2568 จากกรณีการเนรเทศชาวอุยกูร์กลับประเทศจีนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงประเด็นการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อเยาวชน นักการเมือง และนักกิจกรรมทางการเมืองด้วย เนื่องจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของผู้เห็นต่างไม่ควรถูกดำเนินคดี
อย่างไรก็ตาม เมื่อประชาชนเหล่านั้นถูกรัฐดำเนินคดีแล้ว ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่กระบวนการยุติธรรมไทยต้องคำนึงสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาหรือจำเลย และศาลต้องพิจารณาคดีไปตามหลักการแห่งกฎหมาย และดำเนินกระบวนพิจารณาไป “อย่างปกติ” ดังเช่นคดีทั่วไป เนื่องจากเป็นหลักประกันแก่จำเลยว่าจะได้รับการพิจารณาคดีโดยศาลอย่างสุจริต เที่ยงธรรม ปราศจากอคติ
แต่จากข้อมูลที่สมาคมฯ ได้รับทราบในคดีของนายอานนท์ นำภา คดี อ.1629/2564 ศาลกลับสั่งให้พิจารณาคดีลับในนัดสืบพยานจำเลย ทั้งที่ก่อนหน้านั้นในการสืบพยานโจทก์ไม่มีการสั่งพิจารณาคดีลับแต่อย่างใด ส่วนในคดี อลศ.4/2567 ซึ่งศาลไม่ได้สั่งพิจารณาคดีลับ กลับปรากฏว่าวันนัดฟังคำสั่งศาลคือวันที่ 28 มีนาคม 2568 ศาลกลับอ่านคำสั่งในห้องเวรชี้ซึ่งไม่อนุญาตให้ประชาชนเข้าร่วมฟัง แทนที่จะอ่านคำสั่งในห้องพิจารณาคดี “ตามปกติ” ตามหลักการในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 182 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ให้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งในศาลโดยเปิดเผยในวันเสร็จการพิจารณา หรือภายในเวลาสามวันนับแต่เสร็จคดี ถ้ามีเหตุอันสมควร จะเลื่อนไปอ่านวันอื่นก็ได้ แต่ต้องจดรายงานเหตุนั้นไว้” และมาตรา 188 ที่บัญญัติว่า “คำพิพากษาหรือคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป”
การอ่านคำสั่งศาลในห้องเวรชี้ จึงมีประเด็นว่าเป็นการใช้อำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และคำสั่งศาลที่อ่านในห้องเวรชี้ ไม่ได้อ่านโดยเปิดเผยให้ห้องพิจารณาคดีนั้น มีผลบังคับนายอานนท์ นำภา แล้วหรือไม่ หรือต้องอ่านคำสั่งโดยเปิดเผยก่อนจึงจะมีผลโดยชอบ
กรณีปัญหาดังกล่าวข้างต้น หรือคำถามต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลจะไม่เกิดขึ้นเลย หากศาลใช้วิธีพิจารณาคดี “ตามหลักการปกติ” คือพิจารณาคดีโดยเปิดเผย และอ่านคำสั่งศาลโดยเปิดเผย เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนว่าศาลได้พิจารณาคดีไปอย่างสุจริต เที่ยงธรรม ปราศจากอคติ
สมาคมฯ จึงขอแสดงความห่วงกังวลต่อการพิจารณาคดีของผู้พิพากษาศาลอาญาที่ไม่คำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของจำเลยและหลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย ทั้งที่เป็นหลักการสำคัญอันพึงตระหนักและบังคับใช้เสมอในการพิจารณาคดี และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะดำเนินการตรวจสอบกรณีดังกล่าวเพื่อให้ผู้พิพากษาในความดูแลของท่านปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษาให้เป็นไปตามหลักการกฎหมายและหลักการพิจารณาคดีตามปกติต่อไป