สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงาน ปปง. แถลงผลปฏิบัติการปราบปรามการฟอกเงิน 2 ไตรมาส ยึดทรัพย์สินได้กว่า 1,900 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.อ.ประจวบ วงศ์สุข รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รองผบ.ตร.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร./ผอ.ศปปง.ตร.) ร่วมกับ นายกมลสิษฐ์ วงศ์บุตรน้อย รองเลขาธิการ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) , พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล , พล.ต.ต.ชัยพจน สูวรรณรักษ์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2/เลขานุการ ศปปง.ตร. พล.ต.ต.พัฒนศักดิ์ บุปผาสุวรรณ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค , และ พล.ต.ต.ภัคพงศ์ สายอุบล ผู้บังคับการอำนวยการ ตำรวจภูธรภาค 1 ร่วมแถลงผลการระดมกวาดล้างปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ห้วงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ถึง 6 เมษายน 2568
พล.ต.อ.ประจวบ กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานของศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ประจำปีงบประมาณ 2568 ห้วง 6 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึง 31 มีนาคม 2568 ดำเนินการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งมีผลการดำเนินคดีอาญาฟอกเงินในภาพรวม จำนวน 252 คดี และสามารถยึดอายัดทรัพย์ได้ จำนวน 1,902,710,831.63 บาท
ในส่วนของการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าตามนโยบายรัฐบาล สั่งการให้ทุกหน่วยทั่วประเทศเร่งปราบปรามปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะการลักลอบนำเข้า การครอบครอง และการจำหน่าย ในการนี้ศปปง.ตร. สั่งการให้ทุกหน่วยที่ดำเนินการจับกุมผู้กล่าวหารายงานตามระเบียบสำนักงานนายกรัฐมนตรีฯ ประสานความร่วมมือกับ ปปง. ดำเนินการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงิน และกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์ลักลอบเก็บอุปกรณ์การนำออกไปจำหน่าย และการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า อันเป็นพฤติการณ์เข้าข่ายการกระทำความผิดมูลฐาน ลักลอบหนีศุลกากร ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ปัจจุบันมีผลการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ถึง 6 เมษายน 2568 จับกุมตัวผู้ต้องหา 2,337 ราย ของกลาง 1,610,443 ชิ้น มูลค่าของกลาง 296,170,159 บาท จำแนกเป็นคดีสำคัญรายใหญ่ที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน และตรวจสอบเส้นทางการเงินได้จำนวน 22 คดี ของกลาง 839,948 ชิ้น มูลค่า 202,863,310 บาท
นายกมลสิษฐ์ กล่าวว่า ในการการดำเนินการตามกฎหมายของสำนักงาน ปปง. เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้านั้น หากเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร จะเป็นความผิดมูลฐานไปสู่การยึดอายัดทรัพย์สินได้ โดย ปปง. จะสามารถดำเนินการได้ 2 แนวทาง คือ การดำเนินการดำเนินการทางอาญาในความผิดมูลฐาน “ฟอกเงิน”และทางแพ่งในการยึดอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดและการดำเนินการทางอาญาในความผิดมูลฐาน “ฟอกเงิน”
พล.ต.อ.ประจวบ กล่าวอีกว่ากำชับให้ทุกหน่วยทั่วประเทศเพิ่มความเข้มในการตรวจสอบ มิให้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าและแก๊สหัวเราะ ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบนำเข้า จำหน่าย ครอบครอง หรือเป็นแหล่งซุกซ่อน หากพบการกระทำความผิด ให้สืบสวนขยายผลให้ได้ข้อเท็จจริง พยานหลักฐานและนำไปสู่การดำเนินคดีตามความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการ ฟอกเงินฯ ทุกกรณี