ทางหลวง รับมือก่อน-หลังสงกรานต์ เปิดรับเพื่อนไลน์ @highway1193 เช็ก141จุดเสี่ยง

เทศกาลสงกรานต์ ต่อเนื่องวันครอบครัว ปีนี้มีวันหยุดต่อเนื่องร่วมสัปดาห์ ตามวิถีคนไทยนี่เป็นฤกษ์งามยามดีในการเดินทางกลับบ้านไปหาครอบครัว ถนนหลายสายจากกรุงเทพฯ มุ่งสู่ทุกภูมิภาค เหนือ กลาง อีสาน ตะวันออก ตะวันตก ใต้ จึงหนาแน่นเป็นพิเศษ ทั้งขาออก-ขาเข้า

พล.ต.ต.สมชาย เกาสำราญ ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง (ผบก.ทล.) หัวเรือใหญ่ รับผิดชอบดูแลอำนวยความสะดวก ความปลอดภัย บังคับใช้กฎหมายในถนนหลัก เส้นทางหลวง มุ่งหน้าทุกจังหวัด แนะนำเส้นทางสะดวกให้กับประชาชนผู้ใช้รถ ใช้ถนน ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ให้เดินทางปลอดภัยและมีความสุข

“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจเส้นทางการเดินทางทุกจังหวัดในประเทศไทย และเตรียมอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่จะเดินทางในเทศกาล จากข้อมูลพบว่าคนจะเริ่มออกเดินทาง แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกผู้ทำงานเกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งปิดทำการไปตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน จะเริ่มออกเดินทางจาก กทม.ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายนช่วงเย็น ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 9 เมษายน ขณะที่ส่วนราชการ หรือผู้ที่ทำงานประจำนั้น จะหยุดวันที่ 12 เมษายน กลุ่มนี้น่าจะเดินทางเย็นวันที่ 11 เมษายนต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 12 เมษายน และอาจจะต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 13 เมษายนด้วย ซึ่งทั้งกลุ่ม 1 และกลุ่ม 2 บางรายหากต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรติดขัด อาจจะไม่ออกเดินทางตั้งแต่เย็นวันก่อนหยุด แต่ให้เริ่มออกเดินทางในวันหยุดหรือวันถัดไป จะสามารถเฉลี่ยปริมาณรถให้ลดน้อยลงได้ ซึ่งอาจจะขับรถได้สบายขึ้นŽ ปีนี้จะมีประชาชนเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 20-25 เปอร์เซ็นต์จากปีที่แล้ว แต่บางเส้นทางเช่น อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา-อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี อาจจะมีประชาชนเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวเพิ่มขึ้นมากถึง 50-80 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากแนวโน้มคนที่ซื้อรถและจดทะเบียนรถเพิ่มขึ้นทุกปีๆ ซึ่งตามปกติค่านิยมของคนมีรถยนต์ มักจะขับรถยนต์กลับบ้านเองมากกว่าการโดยสาร”Ž ผบก.ทล.อธิบาย


พล.ต.ต.สมชายแนะนำว่า สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มออกสตาร์ตเดินทาง เส้นภาคเหนือนั้น จะต้องใช้ทางหลวงหมายเลข 32 ซึ่งเป็นถนนสายเอเชีย จาก กทม.ไป จ.นครสวรรค์ หากผ่าน จ.นครสวรรค์ไปแล้วก็สามารถกระจายขึ้นจังหวัดทางภาคเหนือไปได้เลย เช่น จ.กำแพงเพชร จ.พิษณุโลก อย่างไรก็ตามปัญหาของถนนสายเอเชียที่พบบ่อยที่สุด คือการเดินทางมาบรรจบกันที่ทางต่างระดับบางปะอิน ปริมาณรถจะหนาแน่น เนื่องจากรถจะมาจากหลายสาย และมาบรรจบกันที่จุดๆ เดียว แนะนำสำหรับผู้ที่มาจากวงแหวนตะวันตก ถึงทางหลวงหมายเลข 347 ต.เชียงราก จ.ปทุมธานี ให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 347 ทันที ออกไปที่ทางต่างระดับบางปะหัน ก็จะสามารถเลี้ยวซ้ายเข้า จ.อ่างทอง จ.สิงห์บุรี จ.ชัยนาท ซึ่งหากเลยจังหวัดเหล่านี้ไปแล้วการจราจรจะเบาลง

Advertisement

“สำหรับเส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขาไปแนะนำให้ใช้ถนนพหลโยธิน มุ่งหน้าไปยัง จ.สระบุรี ปีนี้พบว่าพหลโยธิน กม.ที่ 99 มีการสร้างเสาตอม่อ สะพานมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา เพราะฉะนั้นจุดดังกล่าวน่าจะทำให้รถเกิดการชะลอตัวบ้าง หากขับไปถึง จ.สระบุรี แล้วให้เข้าทางหลวงหมายเลข 2 เพื่อเข้าสู่ถนนมิตรภาพ พบว่าในตอนต้นของถนนสายดังกล่าวมีการคืนเส้นทางหมดแล้ว ไม่มีการก่อสร้าง แต่เมื่อไปถึงตอนกลางของถนนอาจว่ามีการลาดผิวทางเป็นระยะ ปัญหารถสะสมบริเวณลำตะคอง และ ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ซึ่งหากเลย 2 จุดนี้มาได้ ก็ไม่น่าจะมีปัญหา ก่อนจะแยกซ้ายไป จ.ชัยภูมิ แยกขวาไปอีสานใต้ อาทิ จ.ร้อยเอ็ด จ.บุรีรัมย์ หรือแยกไปเข้า จ.ขอนแก่น ปริมาณรถก็จะเบาลง หรือจะใช้ทางหลวงเส้น 304 กบินทร์บุรี นาดี ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ปีนี้ก็ยังมีการก่อสร้างอยู่ แต่คืนพื้นที่บางส่วนสัญจรได้สะดวกมากขึ้น หรืออาจจะใช้ถนนหมายเลข 348 เข้า อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว หรือ จ.บุรีรัมย์ ที่คนจะนิยมใช้ แม้ว่าถนนเส้นดังกล่าวจะคับแคบ หรือมีปริมาณรถสะสมค่อนข้างมาก แต่เป็นเส้นทางที่สามารถขับลงไปแล้วถึงภาคอีสานใต้ได้เลย อาจจะมีติดบ้าง แต่ก็สามารถชะลอตัวได้ดี ดีกว่าต้องขับรถอ้อมไปไกล ซึ่งตำรวจจะเปิดเส้นทางพิเศษเพื่อระบายรถให้ โดยจะต้องดูตามสถานการณ์ ซึ่งปกติภาคอีสานจะต้องเปิดเส้นทางพิเศษอยู่แล้ว เนื่องจากมี 20 กว่าจังหวัด เป็นภูมิภาคที่ค่อนข้างกว้าง”ผบก.ทล.อธิบาย

Ž
สำหรับสายใต้นั้น พล.ต.ต.สมชายระบุว่า ภาคใต้เป็นจังหวัดที่ยาวและไกล ประชาชนเลือกจะโดยสารรถทัวร์หรือเครื่องบินมากกว่าขับรถกลับเอง ยกเว้นคนที่อยู่ใต้ตอนบน อาทิ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ชุมพร ซึ่งเป็นจุดที่ตำรวจทางหลวงเป็นห่วง เนื่องจากเป็นช่วงที่คนมักจะหลับใน เพราะอ่อนล้ากับการขับรถมาหลายชั่วโมง ประกอบกับถนนลงภาคใต้ในปีนี้ เสร็จเรียบร้อยทุกสาย ขับได้สบาย จนอาจจะทำให้ประชาชน
ชะล่าใจ

เส้นทางจุดเสี่ยง

ผู้การทางหลวงกล่าวเพิ่มว่า จากสถิติยังพบอีกว่าสาเหตุหลักการเกิดอุบัติเหตุนั้น 58 เปอร์เซ็นต์เกิดจากการใช้ความเร็ว ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจจับความเร็ว ขณะที่ 16 เปอร์เซ็นต์เกิดจากการขับรถตัดหน้าในระยะกระชั้นชิด แก้ด้วยการปิดยูเทิร์น หรือจุดกลับรถที่ไม่จำเป็น ขณะที่อีก 26 เปอร์เซ็นต์เกิดจากการหลับใน แก้ด้วยการติดป้ายให้คนขับอ่านเป็นระยะต้องให้คนขับใช้ความคิดตลอดเส้นทางจะได้ไม่หลับ และหากไม่ไหวจริง อยากเชิญชวนให้แวะที่จุดพักของตำรวจทางหลวงที่มีบริการทุกจังหวัด ซึ่งมีบริการห้องน้ำที่สะอาด ผ้าเย็น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รวมไปถึงกาแฟ ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน นอกจากนี้ทุกหน่วยยังเตรียมห้องนอนด้วย กรณีที่บางรายขับต่อไม่ไหวและหลับในรถไม่สบาย หลับไม่สนิท สามารถมาใช้บริการได้เลยทันที
”จากการลงพื้นที่ตรวจสอบเส้นทางทุกสาย ทำให้รวบรวมจุดเสี่ยงรวมทั่วประเทศ ทุกจังหวัดได้ 141 จุด โดยวิเคราะห์จากระยะทาง 200 เมตร เคยเกิดอุบัติเหตุซ้ำหลายครั้ง ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ ทางโค้ง อันตราย, ทางลาดชัน และเส้นทางที่คนมักหลับใน ซึ่งใน 3 รูปแบบนี้ ตำรวจเป็นห่วงส่วนของหลับในที่สุด เนื่องจากทางโค้งและทางลาดชันจะมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดใกล้เคียง เพื่อรออำนวยความสะดวกและจะติดป้ายบอกทางเป็นระยะ ขณะที่ในส่วนของการหลับในนั้นป้องกันยากที่สุด เนื่องจากต้องขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายคนขับ จึงอยากฝากให้ประเมินร่างกายตนเอง หากง่วงหรือไม่ไหวอย่าฝืน ให้จอดพักดื่มกาแฟ เข้าห้องน้ำ หรือนอนหลับเอาแรงได้ที่จุดพักที่ตำรวจทางหลวงจัดให้ 196 แห่ง ได้ทุกเมื่อ”Ž พล.ต.ต.สมชายให้รายละเอียด

Advertisement

ถ้ามีปัญหาอุปสรรคการเดินทาง สามารถขอความช่วยเหลือได้ตลอดเวลาที่สายด่วน 1193 หรือ 1586 หรือผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ที่เปิดมาแล้วกว่า 3 ปี คือ @highway1193 โดยแชร์โลเกชั่นพร้อมส่งเบอร์โทรศัพท์มาให้ ตำรวจจะไปตามจุดนั้นทันที

เพียงแค่ก่อนออกเดินทางขาไป-ขากลับ ให้เช็กสภาพรถ คนขับ เส้นทาง พร้อมเคารพกฎจราจรสักนิด หากเมื่อยล้า อ่อนแรง อย่าฝืน เท่านี้ก็จะเดินทางถึงที่หมายอย่างปลอดภัย และสามารถกลับไปอยู่กับครอบครัวได้อย่างมีความสุขแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image