เปิดร่างป.วิอาญา’ดักฟัง’ อัยการเทียบเนื้อหาพ.ร.บ.7ฉบับ ชี้ข้อมูลลักลั่น

นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ…. เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเข้าถึงและได้มาซึ่งเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด (ดักฟัง) ที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการของร่างกฎหมายฉบับนี้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เป็นผู้เสนอ จากนั้นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาเสร็จ และขณะนี้ได้ส่งร่างกฎหมายให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาก่อนเสนอ สนช.ต่อไปว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายดังกล่าวเดิมทีอยู่ในชั้นความลับมาก แต่ต่อมาที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงข่าว จึงได้ถอดชั้นความลับของกฎหมายฉบับนี้ออก เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 77 บัญญัติให้ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องก่อนการตรากฎหมาย ซึ่งตัวร่างมีสาระสำคัญคือ

“1.ร่างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 105/1 กำหนดให้พนักงานฝ่ายปกครองผู้มีหน้าที่สืบสวนสอบสวน ซึ่งได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด หรืออธิบดีกรมการปกครอง หรือตำรวจผู้มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนซึ่งได้รับอนุมัติจากผู้บังคับการตำรวจขึ้นไป อาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจ เพื่อมีคำสั่งอนุญาตในการเข้าถึงและได้มาซึ่งเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารอื่นใดซึ่งส่งทางไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการสื่อสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศใด ที่ถูกใช้หรืออาจถูกใช้เพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิดที่เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือคดีความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา คดีความผิดที่เป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม หรือคดีความผิดที่มีความซับซ้อนซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป โดยให้สามารถดำเนินการคราวละไม่เกิน 90 วัน และให้ผู้ได้รับอนุญาตรายงานผลการดำเนินการให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดทราบทุก 30 วัน

“2.มาตรา 105/2 กำหนดความผิดสำหรับผู้กระทำด้วยประการใดๆ ให้ผู้อื่นรู้หรืออาจรู้เอกสารหรือข้อมูลข่าวสารที่ได้มาตามมาตรา 105/1 โดยกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และให้เพิ่มโทษ 3 เท่า สำหรับกรณีที่ผู้กระทำเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 105/1 วรรค 1 โดยเนื้อหาของร่างกฎหมายฉบับนี้มีลักษณะทำนองเดียวกันกับกฎหมายอื่นๆ 4 ฉบับ ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ดักฟัง และได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสาร คือ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 มาตรา 17 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 30 พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 มาตรา 25 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2519 มาตรา 14 จัตวา” นายธนกฤตกล่าว

นายธนกฤตกล่าวต่อว่า ในเรื่องของกระบวนการตรวจสอบเพื่ออนุญาตและหลักเกณฑ์การอนุญาต ที่จะต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลหรือสิทธิอื่นใด ประกอบกับเหตุผลและความจำเป็นว่า ต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่ามีการกระทำความผิดหรือจะมีการกระทำความผิด หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะได้เอกสารหรือข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการกระทำความผิดจากการขออนุญาตเข้าถึงเอกสารและข้อมูลข่าวสาร และไม่อาจใช้วิธีการอื่นใดที่เหมาะสมหรือมีประสิทธิภาพมากกว่าได้ โดยการอนุญาตล้วนกำหนดเหมือนกันคือให้อนุญาตได้คราวละไม่เกิน 90 วัน และกำหนดให้การรายงานผลการดำเนินการจะต้องกระทำทุกๆ 30 วัน ตรงนี้เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมจากกฎหมายทั้ง 4 ฉบับข้างต้นซึ่งกำหนดแต่เพียงให้ผู้ได้รับอนุญาตรายงานผลการดำเนินการให้ทราบเท่านั้น แต่ไม่ได้ระบุระยะเวลาเอาไว้ว่าต้องรายงานภายในกำหนดเวลาใด และกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมในเรื่องคำขออนุญาตเข้าถึงและได้มาซึ่งเอกสารหรือข้อมูลข่าวสาร ให้ต้องระบุเหตุผลและความจำเป็นและรายละเอียดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในคำขอด้วย ในกฎหมายอื่นอีก 4 ฉบับดังกล่าวไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์เรื่องนี้ไว้ ถือว่าเป็นผลดีต่อการคุ้มครองสิทธิของบุคคลมากขึ้นกว่าเดิม

Advertisement

นายธนกฤตกล่าวอีกว่า นอกจากนี้มีประเด็นความลักลั่นเป็นความแตกต่างของกฎหมายทั้ง 5 ฉบับนี้ในเรื่องของการทำลายเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารที่ไม่เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงเอกสารหรือข้อมูลข่าวสาร โดยบางกฎหมาย ได้แก่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2519 ไม่ได้มีบทบัญญัติบังคับให้ต้องทำลายเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารไม่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ขณะที่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และร่างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 105/1 วรรค 7 มีบทบัญญัติบังคับให้ต้องทำลายเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารที่ไม่เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่ได้รับอนุญาตได้ แต่ในร่างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 105/1 วรรค 7 กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมไปจากกฎหมายอีก 2 ฉบับ ว่า เมื่อได้ทำลายเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารแล้วให้รายงานให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดทราบด้วย ทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นข้อดีในการเพิ่มการตรวจสอบถ่วงดุลโดยอำนาจตุลาการ

“ในเรื่องการทำลายเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารที่ไม่เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่ได้รับอนุญาตนี้ มีความสำคัญและจำเป็นมาก เพราะข้อมูลและเอกสารที่ได้มาซึ่งไม่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เช่น ข้อมูลที่ได้จากการดักฟังโทรศัพท์และเอกสารที่ได้มาอาจไปกระทบสิทธิส่วนบุคคลของผู้เกี่ยวข้องได้ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางชู้สาวในครอบครัว ข้อมูลด้านการเงิน ความลับทางการค้า หรือข้อมูลอื่นๆ ที่อาจสร้างความเสียหายแก่ผู้เกี่ยวข้องได้ และประการสำคัญคือ ข้อมูลซึ่งมีที่มาจากการส่งผ่านทางคอมพิวเตอร์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ สามารถเกิดขึ้นและทำสำเนาส่งต่อกันได้ง่าย หากข้อมูลและเอกสารเหล่านี้ถูกปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวนและใช้เป็นพยานหลักฐานในคดี ย่อมต้องมีความสุ่มเสี่ยงที่ข้อมูลและเอกสารจะรั่วไหลไปยังบุคคลภายนอกและสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้” อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุดกล่าว

นายธนกฤตกล่าวด้วยว่า สำหรับร่างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 105/1 นี้ ที่กำหนดให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจผู้มีหน้าที่สืบสวนสอบสวน สามารถเข้าถึงเอกสารหรือข้อมูลข่าวสาร ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดต่างๆ ที่กำหนดไว้อาจมีความซ้ำซ้อนกับอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อื่นที่มีอำนาจเช่นกันในการเข้าถึงเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารตามกฎหมายเฉพาะดังกล่าวข้างต้น ถึงแม้ว่าร่างมาตรา 105/1 วรรค 8 จะบัญญัติให้กำหนดกระบวนการในการเข้าถึงและได้มาซึ่งเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารเป็นการเฉพาะโดยให้เจ้าพนักงานตามกฎหมายดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นก็ตามมา นอกจากนี้ ตามที่ร่างมาตรา 105/1 กำหนดให้คดีความผิดที่มีความซับซ้อนมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป สามารถยื่นคำขอเพื่อเข้าถึงเอกสารและข้อมูลข่าวสารได้ ตรงนี้ตนมีข้อสังเกตว่าเป็นการกำหนดประเภทความผิดไว้อย่างกว้างๆ โดยไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนแน่นอนว่าอย่างไรเป็นความผิดที่มีความซับซ้อน ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายและการตีความได้ว่าอย่างไรถึงจะเป็นความผิดที่มีความซับซ้อน และอาจก่อให้เกิดปัญหาการใช้อำนาจโดยไม่ชอบของเจ้าหน้าที่รัฐได้อีกด้วย

Advertisement

“มีข้อสังเกตในเรื่องของอัตราโทษสำหรับความผิดฐานเปิดเผยข้อมูลของกฎหมายทั้ง 5 ฉบับ ข้างต้น กับกฎหมายอีก 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ว่าจากอัตราโทษความผิดฐานรู้หรือได้มาซึ่งเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารแล้วเปิดเผยข้อมูลหรือเอกสาร ที่ได้มาให้ผู้อื่นล่วงรู้ในกฎหมาย มีอัตราโทษที่แตกต่างกัน บ้างจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ได้แก่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฉบับนี้ บ้างก็จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ได้แก่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2519 บ้างกำหนดอัตราโทษให้จำคุกไม่เกิน 3-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 6 หมื่นบาทถึง 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ได้แก่ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 จึงถือเป็นปัญหาสำคัญในเรื่องความลักลั่นในการกำหนดอัตราโทษที่แตกต่างกันทั้งที่เป็นการกระทำความผิดอย่างเดียวกัน” นายธนกฤตกล่าว

นายธนกฤตกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในบรรดากฎหมายทั้ง 7 ฉบับ บางฉบับกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิดฐานเปิดเผยข้อมูลหรือเอกสารที่ได้มาให้ผู้อื่นล่วงรู้ต้องรับโทษหนักขึ้นกว่าโทษปกติ โดยต้องระวางโทษเป็น 3 เท่าของอัตราโทษที่กำหนดไว้ แต่บางฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ไม่ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องรับโทษหนักขึ้นแต่อย่างใด ถือเป็นปัญหาความลักลั่นในเรื่องอัตราโทษฐานเปิดเผยข้อมูลหรือเอกสารที่ได้มา อีกทั้งบรรดากฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการเข้าถึงเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารดังกล่าวมาข้างต้น ก็ไม่มีกฎหมายฉบับใดเลยที่กำหนดโทษเฉพาะสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่นำข้อมูลข่าวสารไปใช้ประโยชน์อื่นที่นอกเหนือจากการสืบสวนหรือใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี มีแต่เพียงโทษที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำความผิดฐานเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารเท่านั้น

นายธนกฤตกล่าวทิ้งท้ายว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฉบับนี้ จำเป็นต้องมีการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 77 ในการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องเสียก่อนที่จะมีการตรากฎหมาย ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติผู้เสนอร่างกฎหมายที่จะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นก่อนที่จะมีการพิจารณาร่างกฎหมายโดย สนช.ต่อไป โดยในการรับฟังความคิดเห็นอย่างน้อยต้องรับฟังผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงานรัฐนั้น หรือผ่านเว็บไซต์ www.lawamendment.go.th หรือจะใช้วิธีอื่นใดด้วยก็ได้ ระยะเวลาในการรับฟังความคิดเห็นต้องไม่น้อยกว่า 15 วัน รวมทั้งต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางการรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำร่างกฎหมายอื่นๆ ที่ได้กำหนดไว้ด้วย

“จากนี้ไปคงต้องรอดูว่า หลังจากผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นแล้ว จะมีการนำเอาผลการรับฟังความคิดเห็นที่ได้รับ มาประกอบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฉบับนี้อย่างใด” นายธนกฤตกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image