บิ๊กบริษัทส่งออกปลาแช่แข็ง แจ้งความ”ผอ.-จนท.”กรมประมง ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 6 พฤษภาคม ที่สน.พหลโยธิน นายพิสิทธิ์ หล้าสุดตา กรรมการผู้จัดการบริษัทซี อินเตอร์เนชั่นแนล โฟรเซน โปรดักส์ จำกัด พร้อม นายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ทนายความ และประธานเครือข่ายต่อต้านการบ่อนทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เข้าพบ พ.ต.ท.เฉลียง อินทิพย์ รอง ผกก.(สอบสวน) สน.พหลโยธิน เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ระดับผู้อำนวยการ และเจ้าหน้าที่งานตรวจสอบคุณภาพสินค้าประมง รวม 2 คน ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หลังพบมีความเกี่ยวข้องกับการปลอมใบรับรองและตราของบริษัทซี อินเตอร์เนชั่นแนล โฟรเซน โปรดักส์ จำกัด ทำธุรกิจส่งปลาแช่แข็งไปยังประเทศแถบยุโรป

นายพิสิทธิ์ เปิดเผยว่า เมื่อปี 2558 บริษัทซี อินเตอร์เนชั่นแนล โฟรเซน โปรดักส์ จำกัด ถูกกรมประมงส่งจดหมายระบุว่าส่งปลาแช่แข็งออกต่างประเทศไม่ได้มาตรฐาน พอตรวจสอบพบว่าสินค้าดังกล่าวไม่ใช่ของบริษัทตน จึงตรวจสอบเพิ่มเติมจนทราบว่ามีบริษัทอื่นปลอมแปลงเอกสารและสวมรอย เลยตัดสินใจเข้าแจ้งความที่สน.ทุ่งสองห้อง ต่อมามีการโอนคดีไปยังกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) นำไปสู่การสืบสวนจนทราบบริษัทที่แอบอ้าง และสามารถจับกุมผู้กระทำผิดจำนวน 6 คน มีทั้งชาวไทยและต่างชาติ ก่อนที่ทั้งหมดจะประกันตัวออกไป จนกระทั่ง ปลายปี 2559 ในระหว่างดำเนินการขยายผล มีนายตำรวจคนหนึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการสั่งให้ยุติคดี โดยอ้างว่าเป็นคดีที่ไม่ซับซ้อน ถือว่าไม่เข้ากฎเกณฑ์การทำคดีของบก.ป.

นายพิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ต่อมาตนได้ร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนพบว่ามีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมประมงมีลายมือชื่อในเอกสารสำคัญ เมื่อ2เดือนก่อน จึงเข้าแจ้งความไว้ที่สน.พหลโยธิน ให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่สังกัดกรมประมง1คน ส่วนวันนี้ เป็นการแจ้งความเอาผิดเพิ่มอีก2คน เป็นระดับผู้อำนวยการ1คนและเจ้าหน้าที่อีก1คน พร้อมนำใบรับรองสุขอนามัยสัตว์น้ำ และใบรับรองการจับสัตว์น้ำ ทั้งของจริงและของปลอมที่ใช้แอบอ้าง มาให้เจ้าหน้าที่ เพื่อใช้เป็นหลักฐานเพิ่มเติมด้วย กรณีดังกล่าวสร้างความเสียหายมูลค่าเกือบ 200 ล้านบาท และทำให้บริษัทเสียชื่อเสียง

ด้าน นายสงกานต์ กล่าวว่า บริษัทดังกล่าวทำธุรกิจส่งสินค้าไปยังทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาเป็นหลัก การส่งสินค้าของบริษัทออกไปยังต่างประเทศ จะต้องมีรหัสส่งออกตามมาตรฐาน อันเป็นความลับไม่มีบุคคลภายนอกทราบ แต่มีผู้ประกอบการรายอื่นนำชื่อบริษัทและรหัสส่งออกต่างประเทศไปใช้ หลังจากนี้ เตรียมจะดำเนินคดีกับบริษัทที่ร่วมกันปลอมแปลงเอกสารสิทธิ์ ในเบื้องต้นมีมากกว่า 5 บริษัท คดีนี้ จะมีการชี้แจงที่รัฐสภาในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ เพราะกระทบภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นในการส่งออกสัตว์น้ำของประเทศ อีกทั้งยังมีการกระทำผิดเป็นกระบวนการ เป็นขั้นเป็นตอน มีการออกเอกสารในนามบริษัทของนายพิสิทธิ์ ราคาใบละ 30,000 บาทต่อ 1 ตู้คอนเทนเนอร์ โดยทำมาแล้วกว่า 2 ปี นอกจากนี้ภายในวันที่ 12 พฤษภาคม ตนจะเข้าร้องต่อพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบว่า ทำไมนายตำรวจตำแหน่งผู้บัญชาการรายหนึ่งสั่งให้บก.ป.ยุติทำคดี ทั้งที่ไม่มีอำนาจในขณะนั้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image