‘มูลนิธิเครือข่ายต่อต้านการทุจริตฯ’ยื่น ปปง.สอบเส้นทางการเงิน บริษัทไร่ส้ม-สรยุทธ

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 4 มีนาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) น.ส.ภคอร จันทรคณา กรรมการผู้จัดการบริษัท ชีวานันท์ กรุ๊ป จำกัด และกรรมการมูลนิธิเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น พร้อมด้วย นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เลขาธิการมูลนิธิเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เข้ายื่นหนังสือถึง พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง. ขอให้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา และพวก ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2546-2559 ว่าทรัพย์สินที่ได้มาในช่วงเวลาดังกล่าวได้มาโดยชอบหรือไม่

น.ส.ภคอร กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องจากสื่อมวลชน นักวิชาการ บริษัทเอกชน และเพื่อนนักแสดง เพื่อให้ตรวจสอบและสร้างบรรทัดฐานทางจริยธรรมของผู้ทำหน้าที่สื่อมวลชน ซึ่งจริยธรรมทางจิตใจจำเป็นต้องสูงกว่าการรอคำพิพากษาถึงที่สุด อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จึงขอเป็นตัวแทนภาคประชาสังคมทุกภาคส่วน โดยขอให้ ปปง. เร่งดำเนินการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ของนายสรยุทธ และพวก ว่าทรัพย์สินที่ได้มาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตามพ.ร.บ.ฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ

น.ส.ภคอร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดเพิ่มเติม คือ 1.รายละเอียดของสัญญาของ อสมท กับบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ว่าได้เขียนครอบคลุมถึงประเด็นการรักษาผลประโยชน์ของราชการหรือไม่ 2.ที่มาของสัญญาได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เช่น กฎหมายว่าด้วยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 อีกทั้ง ยังมีกฎหมายเกี่ยวกับพ.ร.บ.การเสนอราคาต่อหน่วยงานภาครัฐ พ.ศ. 2542 ได้มีการแข่งขันราคาโดยชอบธรรมหรือไม่ ซึ่งได้มีการเปิดให้บริษัทอื่นเข้าร่วมประมูลงานด้วยหรือไม่ 3.ต้องตรวจสอบว่าสัญญาในลักษณะเดียวกันมีสัญญาที่ได้กับภาครัฐมากกว่า 1 สัญญาหรือไม่ และ 4.การกำหนดรายละเอียดลักษณะในทีโออาว่าคณะกรรมการร่างสัญญาในทีโออาได้กำหนดคุณลักษณะดังกล่าว เป็นไปในทางที่รักษาผลประโยชน์ขงราชการหรือไม่

นายมงคลกิตติ์ กล่าวว่า ต้องดูว่าสัญญาดังกล่าว เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนหรือไม่ มีการจัดซื้อจัดจ้างถูกระเบียบหรือไม่ เป็นไปตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง หรือพ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2542 หรือไม่ ซึ่งเราต้องตรวจสอบย้อนหลังว่าทรัพย์ที่บริษัทได้มานั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ถ้าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไปทำให้งอกเงยในอนาคต ดังนั้น ทรัพย์สินที่งอกเงยขึ้นมากับทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ถือเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่ถูกต้อง ปปง. ก็ควรดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่

Advertisement

นายมงคลกิตติ์ กล่าวต่อว่า อยากขอความร่วมมือกับหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) โดยศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ซึ่งประกอบด้วย กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็สามารถเข้ามาดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องของผู้มีอิทธิพลได้ และในส่วนของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ควรขยายผลไปยังรายการอื่น ซึ่งไม่เฉพาะของบริษัท ไร่ส้มฯ เท่านั้น ยังมีบริษัทอื่นอีก และไม่ควรขยายผลไปเพียงการติดสินบนเจ้าพนักงาน แต่ควรขยายไปด้วยว่างานนั้นได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมหรือไม่ และมีการประกาศราคากลางหรือไม่ ทั้งนี้ สิ่งสำคัญของกรณีดังกล่าว อยากให้จริยธรรมนั้นอยู่สูงกว่ากฎหมาย สูงกว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้น อุทธรณ์ และฎีกา

_MG_9866

ด้าน พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวว่า ในส่วนของ ปปง. เมื่อมีความผิดมูลฐานที่เกิดขึ้นชัดเจนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต เราก็จะรับเรื่องมาตรวจสอบเส้นทางการเงินในส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจต้องใช้เวลาพอสมควรเพราะทางผู้ร้องต้องการให้ปปง.ตรวจสอบย้อนหลังไปหลายปี และมีข้อมูลจำนวนมาก ทั้งนี้ เราจะตรวจสอบคือ 1.ตรวจสอบตามคำพิพากษาของศาลว่าขั้นตอนเป็นอย่างไร มีการคืนเงินมากน้อยเพียงใด ซึ่งการได้มาของทรัพย์สินก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง และ 2.จะมีการตรวจสอบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นใหม่หรือไม่ ซึ่งกรณีนี้หน่วยที่เกี่ยวข้อง หรือภาคเอกชนจะต้องทำให้เกิดความชัดเจนว่าเป็นความผิดหรือไม่ ถ้าเป็นความผิดเราก็จะดูเรื่องเส้นทางการเงิน ถ้ามันไม่ผิด เราก็คงจะดูไปตามข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ภาคเอกชนจะส่งให้ด้วยว่ามีมากน้อยแค่ไหน และครบถ้วนหรือไม่ ยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่มีธง จะตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมาตามข้อเท็จจริง

พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวต่อว่า ในเรื่องการตรวจสอบคดีทุจริตมีกระบวนการ ไม่เหมือนกับคดีทั่วไป มันเป็นคดีที่จะต้องตรวจสอบยืนยันให้แน่ชัดว่ามีการกระทำความผิดที่เป็นการทุจริตเกิดขึ้น เราจึงจะดำเนินการได้ ดังนั้น ความชัดเจนของมูลฐานภาคเอกชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำให้เกิดความชัดเจน ปปง. ถึงจะดำเนินการได้ ทั้งนี้ ในส่วนของยึดทรัพย์นั้น จะต้องดูว่ามีการคืนทรัพย์ไปหรือไม่ ถ้ามีการคืนทรัพย์ไปแล้วครบถ้วน ก็หมายความว่ามีการดำเนินการตามมาตรการอื่นไปแล้ว ก็ไม่ต้องใช้มาตรการตามกฎหมายฟอกเงิน เหมือนหลายคดีที่ผ่านมา เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไปตรวจสอบพบการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าตัวรู้ยอมติดคุก และเอาเงินใช้ไป ปปง. ก็ไม่ต้องเข้าไปยึดทรัพย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image