เอ็กซ์คลูซีฟ! ชำแหละกลแต่งตั้งสีกากี ตั๋ว -โผ -จอก ส่องทางปฏิรูป จากคนวงใน “ชัยยง กีรติขจร”

พล.ต.อ.ชัยยง กีรติขจร อดีตรองผบ.ตร.

การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ เป็นโจทย์ใหญ่เหตุแห่ง “ปฏิรูปตำรวจ”

เป็นการบ้านของ 36 บอร์ดปฏิรูปสีกากีที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฯ ต้องปลดชนวน!?

ถึงวาระโยกย้ายสีกากีทีไร ไม่ว่าระดับตำแหน่งไหน มักมีเสียงครหา วิ่งเต้น เด็กเส้นมากอภินิหาร ตั๋วพิเศษ หรือกล่าวหาหนักถึงขั้น ซื้อ-ขายเก้าอี้ ซึ่งล้วนบั่นทอนความเชื่อมั่นภายในองค์กร ลดทอนความน่าเชื่อถือ ลดเครดิตภาพลักษณ์สีกากี

“มติชน” สัมภาษณ์พิเศษ “กูรู” ด้านกำลังพลสีกากี นายตำรวจผู้คลุกวงในการทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายมาหลายสมัยตั้งแต่ “กรมตำรวจ” จนเป็น “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ”

“พล.ต.อ.ชัยยง กีรติขจร” หรือที่ในวงการสีกากี เรียก “บิ๊กย้ง” อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) เคยเป็นผู้บังคับการกองทะเบียนพล ผู้บัญชาการสำนักงานสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เจาะลึกการแต่งตั้งสีกากี ปฏิรูปอย่างไรจึงจะปลดชนวน แต่งตั้งวาระที่ที่ผ่านมา มีอะไรในกอไผ่หรือไม่

เป็นข้อมูลจากประสบการณ์ ที่ 36 อรหันต์ ต้องหยุดฟัง!?

Advertisement

ถาม :  แต่งตั้งอย่างไรให้ ตำรวจเป็นองค์กรมีประสิทธิภาพ

ตอบ : ไม่ใช่เรื่องยาก ต้องทำให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)มีความมั่นคงในตำแหน่งพอสมควร และเจริญก้าวหน้ามาอย่างถูกต้อง ผบ.ตร.ต้องผูกพันกับหน่วยเพื่อให้รับผิดชอบต่อหน่วย เจริญเติบโตโดยยึดโยงกันหน่วย ไม่ใช่พยายามเจริญเติบโตด้วยวิธีใดก็ตามจนถึงรองผบ.ตร. แล้วรอเป็น ผบ.ตร.

ถ้าผบ.ตร.ต้องไปทำความรู้จักกับผู้มีอำนาจ บารมี เพื่อให้เห็นว่า ฉันเป็น ผบ.ตร.ได้ ผมว่ามันเป็นปัญหาผบ.ตร.ควรได้รับการยอมรับจากตำรวจ และประชาชน ผมเคยเสนอให้นายพลตำรวจ ที่มีประมาณ 400 กว่าคน เลือก รอง ผบ.ตร. แล้วเสนอ 2 คน ที่คะแนนโหวตสูงสุดให้นายกรัฐมนตรีและ ก.ตร. พิจารณาคัดเลือกเหลือ 1 คน ด้วยวิธีนี้ ผบ.ตร.จะได้รับการยอมรับจากคนในหน่วย อีกอย่างทำให้คนที่จะเจริญเติบโตเป็น รอง ผบ.ตร. จะต้องแสดงฝีไม้ลายมือในการทำงานให้ลูกน้องเห็น เพื่อลูกน้องจะได้เลือกให้เป็น ผบ.ตร.

นอกจากนี้ ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนเป็นต้น ทางของกระบวนการยุติธรรม ต้องมีความมั่นคงพอสมควร ถ้า ผบ.ตร.มาด้วยวิธีนี้ เขามีความมั่นคงพอสมควร

Advertisement

ถาม : คณะกรรมการต่างๆที่มีอยู่ เช่น ก.ตร. เป็นตัวช่วยได้อย่างไร

ตอบ : การแต่งตั้งต้องมีคณะกรรมการกลั่นกรองที่น่าเชื่อถือ ก.ตร. ต้องไม่ใช่รับเบอร์แสตมป์ ผมถามว่าองค์ประกอบ ก.ตร.ในปัจจุบัน รองผบ.ตร. หรือ จเรตำรวจแห่งชาติ(จตช.) ที่เป็น ก.ตร. กล้าพูดอะไรมากมายมั้ย ไม่กล้าพูดหรอก เพราะการที่ รองผบ.ตร. – จตช. จะได้ทำงานอะไร อยู่ที่ ผบ.ตร.มอบหมาย จะได้เป็น ผบ.ตร.หรือไม่ ขึ้นกับผบ.ตร. จะเลือกหรือไม่ รอง ผบ.ตร. ก็จะไม่กล้าขัดแย้งใน ก.ตร. เว้นแต่เหลืออดจริงๆ

เราจะเห็นว่าในอดีต ก.ตร.ที่วอล์คเอ้าท์แสดงความเห็นมาก ก็คือก.ตร.ใส่สูท ผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วทำอย่างไรให้รองผบ.ตร.ที่เป็น ก.ตร. มีพลัง เลือกตั้งสิ สมมติ มีพล.ต.อ. 14 คน เลือกมา 5 คน โดยผ่านคะแนนเสียงที่ลูกน้องเห็นชอบ ผมเคยเลือกก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิไม่มีใครล็อบบี้ผมได้ ผมรับปากทุกคนที่โทรมา แต่เลือกหรือไม่อยู่ที่ผม

เมื่อก.ตร.ผ่านการเลือกตั้งมา เขาจะเป็นก.ตร.ที่สง่างาม แล้ว รองผบ.ตร.ที่มีคะแนนเสียงสูงสุด คนนั้นแหละ ว่าที่ ผบ.ตร.คนต่อไป เขาจะกล้าออกเสียงเพราะพลังจากลูกน้อง ใครจะปลดต้องคิดให้ลึก คนที่เป็นรองผบ.ตร.แล้วไม่มีคะแนน ลูกน้องไม่เอา อายแทบแทรกแผ่นดินหนี

ถาม : ยึดหลักอาวุโส แก้ปัญหาการแต่งตั้งตำรวจได้หรือไม่

ตอบ : หลักอาวุโส แก้ปัญหาแต่งตั้งตำรวจได้แน่นอน เพียงแต่ต้องใช้ความรู้ความสามารถมาพิจารณาประกอบอย่างมีระบบมีหลักเกณฑ์ มิฉะนั้นผู้อาวุโสจะไม่ทำงาน รอให้ถึงเวลาอย่างเดียว หลักเกณฑ์การแต่งตั้งควรใช้อาวุโสเป็นหลักตำรวจคนไหนผลงานดี ออกแบบให้เพิ่มอาวุโสในการแต่งตั้ง คนไหนไม่ดีลดอาวุโส กำหนดรูปแบบให้ชัดเจน วัดประเมินผลอย่างเป็นธรรม เอาภาคประชาชนในท้องถิ่นร่วมประเมิน สร้างแบบประเมินตามรูปแบบพื้นที่ทำงานสร้างหลักประกันการเจริญก้าวหน้า ป้องกันการแทรกแซงและอยู่ใต้อาณัติของผู้มีอำนาจ มีอิทธิพล

ถาม : การสืบสวนสอบสวนแยกกันได้หรือไม่ งานอะไรควรแยกจากตำรวจ

ตอบ : การสืบสวนสอบสวนแยกไม่ได้ มันคือกระบวนการเดียวกัน การจดบันทึกหรือสอบสวน และการหาข้อมูลมันต้องไปด้วยกัน เพื่อให้ตำรวจจับคนร้ายได้เร็ว นี่คือสิ่งที่ประชาชนต้องการจากตำรวจ เกิดเหตุจับให้เร็ว ป้องกัน คุมเหตุอาชญากรรมให้ได้ สิ่งที่ปฏิรูปอันดับแรกคือทำให้ตำรวจที่ต้องอยู่ใน 1,482 โรงพัก อยู่กับโรงพักจริงๆ ดูแลความสงบสุขพื้นที่ให้ประชาชน ทำระบบแต่งตั้งให้เป็นธรรมไม่ต้องให้ตำรวจทิ้งโรงพักไปหาผู้มีอำนาจ

การเอางานใดออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องตอบให้ได้ว่างานนั้นจำเป็นต่องานพื้นฐานที่ตำรวจต้องทำให้ประชาชนหรือไม่ หน่วยงานอะไรที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยพื้นฐานต้องเอาไว้กับตำรวจ เช่นตำรวจทางหลวง ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ไว้สกัดกั้นคนร้ายบนเส้นทาง ชายแดน ด่าน ต้องเอาไว้ จริงๆงานอาวุธปืนต้องเอาไว้กับตำรวจ แต่งานที่ไม่ใช่การรักษาความสงบพื้นฐานของประชาชน เช่น เรื่องปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ อาหารและยา การคุ้มครอง ผู้บริโภค การต่อเติมอาคาร การตั้งโรงงานและการประกอบกิจการ การค้าหลักทรัพย์ พวกนี้ต้องมีผู้มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทำ หน่วยที่รับผิดชอบเอาไป หากขาดพนักงานสอบสวนให้ตำรวจไปช่วย แล้วยุบกองบังคับการ หน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้องต้องเอาออกไป แล้วออกกฎหมายเชื่อมต่องานของตำรวจกับหน่วยเฉพาะทางเมื่อเกิดคดี อย่างนี้จะลดภาระของตำรวจ
เราต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าอยากให้ตำรวจทำอะไร ผมเห็นว่า ประชาชนต้องการให้ตำรวจรักษาความสงบสุขขั้นพื้นฐาน คือ 1. ป้องกันเหตุ ลัก-วิ่ง-ชิง-ปล้น-การ-รีด-ฉ้อ-ยัก การทำร้ายร่างกายให้ได้ 2.เมื่อป้องกันไม่สำเร็จเกิดคดีก็ไปติดตามสืบสวนสอบ สวนจับกุมมาลงโทษให้ได้ อันเป็นการเยียวยาสังคม 3.ไปสืบสวนจับกุมคดีความผิด ป้องกันเชิงรุก ได้แก่ การพนัน ยาเสพติด อาวุธปืน

ถาม : การแต่งตั้งตำรวจมีการวิ่งเต้นหรือไม่ ข่าวลือเชิงลบ มีจริงหรือแค่กุข่าว

ตอบ : หากไม่มีหลักฐานพูดไม่ได้หรอกว่ามีการวิ่งเต้น หรือข่าวที่เป็นอยู่เป็นเรื่องจริง แต่ตอบทางรัฐศาสตร์ เสียงลือเล่าอ้างดังมากเป็นจริงหรือไม่ดูได้จากผลคำสั่งที่ออกมาแต่ละครั้งเป็นตัวชี้ เช่น มีการแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งข้ามหัวกันจำนวนมาก มีการย้ายข้ามหน่วยไปที่ดีอย่างไม่มีเหตุผล แบบนี้ก็น่าเชื่อว่าเกิดการวิ่งเต้นกันจริง

สมัยก่อนมีข่าวลือ 3- 5- 7 ไม่มีหลักฐานชัดเจนหรอก แต่สุดท้ายก็มีการโยกย้ายระดับสูง บางยุคมีการพูดถึงคนนอกมาเกี่ยวข้อง มีระบบซื้อขายที่ดิน สิ่งของ ทองคำ ผ่านตัวแทน

ธรรมชาติการแต่งตั้ง ตำรวจหาข่าวกันหมดแหละว่าจะต้องไปหาใคร ต้องทำอย่างไร บางครั้งผู้บังคับบัญชาที่ทำคำสั่งถึงขั้นบอกลูกน้องเลยว่า เอ็งต้องไปหาใคร

ในระบบสังคมไทย การแสดงตัวขอให้ใครก็ตามทำหนังสือสนับสนุน หรือ ตั๋ว มีจริง

ก่อน พ.ศ. 2540 กฎหมายรัฐธรรมนูญยังไม่ห้าม ผมอยู่ในกระบวนการแต่งตั้งตำรวจมานาน เมื่อก่อนมีหนังสือฝากมาถึงอธิบดีกรมตำรวจ(อ.ตร.) แนะนำตัว สนับสนุน ยืนยันว่าคนนี้ดีนะ ถ้าลักษณะนี้เป็นข้อมูลคนดีในสายตา แต่ไม่บังคับ กดดัน อ.ตร.หรือผู้มีอำนาจว่าต้องได้ ผมว่าไม่เสียหาย แต่หากถึงขั้นปฏิเสธไม่ได้เลย กดดัน ต่อรอง หรือมีเงื่อนไข ถ้าไม่ได้กระทบถึงผู้มีอำนาจ อันนี้ไม่ดี นี่คือการวิ่งเต้น สังคมไทยมีความใกล้ชิดสนับสนุน ฝากกันบ้าง ผมว่าทำได้นะ ไม่ผิดหรอก อยู่ที่ขอบเขตว่าผู้มีอำนาจพิจารณาตามหลักเหตุและผลหรือไม่

หลังปี 2540 กฎหมายรัฐธรรมนูญฯ บัญญัติห้ามข้าราชการการเมืองแทรกแซงการบริหารของข้าราชการประจำหนังสือที่เป็นลายลักษณ์อักษรหายไป ผู้มีอำนาจภายนอกไม่กล้าทำ หนังสือเลี่ยงไปติดต่อกันโดยตรง เกิดคำว่า “เรียกให้ไปรับโผ” เมื่อก่อนอ.ตร.จะมีกลุ่มที่ทำบัญชีให้ เรียกว่ากลุ่มทำบัญชีผู้สนับสนุน พอการเมืองหรือ คนนอกทำหนังสือไม่ได้ ก็เริ่มเรียก อ.ตร.หรือ ผบ.ตร.ไปรับโผ เกิดกลุ่มทำบัญชีสนับสนุนให้ฝ่ายการเมือง ผู้มีอำนาจกลุ่มนี้บางครั้งก็เป็นคนเดิมๆ คนเดียวกับที่ตำรวจกำลังพูดถึงในยุคนี้ ที่เรียกกันในวงตำรวจ ว่า 3 กุมาร หรือ 3 จอก  บางทีมีตัวแทนของผู้มีอำนาจร่วมด้วย

บางครั้งกลุ่มเหล่านี้ไปก้าวก่ายการทำบัญชีแต่งตั้งของหน่วยต่างๆ เอาคนของตัวเองไปวางในตำแหน่งสำคัญ กลุ่มแบบนี้มีแทบทุกครั้ง แต่จะเข้ามาทำอะไรได้มากน้อยแแค่ไหน มีอำนาจหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ ผู้มีอำนาจ จะยอมหรือไม่ยอมแค่ไหน ถ้าทำอยู่ในกรอบ ทำข้อมูลให้ผู้มีอำนาจก็ไม่ผิดนะ แต่หากก้าวก่ายว่าโผต้องได้ มีอำนาจแฝงบีบบังคับโดยผู้มีอำนาจเหนือกว่าที่อยู่นอกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผมว่ามันไม่ถูกต้อง

ถาม : จากบัญชีแต่งตั้งครั้งนี้ มีข้อสังเกตุอะไรบ้าง จุดไหนน่าสงสัย

ตอบ : มีการโยกย้ายข้ามหน่วยจำนวนมาก โดยเฉพาะหน่วยขึ้นตรงสำนักงานผบ.ตร. ล้วนเป็นหน่วยเชี่ยวชาญเฉพาะ มีการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นจากกองบัญชาการหนึ่งๆยังกองบัญชาการอื่นๆ ที่น่าสังเกตุ โดยเฉพาะในหน่วยงานใกล้ศูนย์อำนาจเช่น นครบาล ภาค 1 ภาค 2 มีผู้ที่ได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นทั้งในหน่วยและนอกหน่วยจำนวนมาก มากกว่าเกินกว่าตำแหน่งว่างในหน่วยนั้น

ผมยกตัวอย่าง ใน บช.น. ผกก.ใน น.ว่าง 23 ตำแหน่ง แต่มีรองผกก.จากใน บช.น. ได้เลื่อนขึ้นในหน่วย 28 คน ต้องมีการเอาผกก.ใน น.ออกไป นอกหน่วย 5 คน นอกนั้นรองผกก.ใน น. เลื่อนเป็นผกก.ในหน่วยต่างๆอีก 21 คน รวมแล้ว รองผกก.ใน น.ได้ เลื่อนขึ้นถึง 49 คน มีการแถลงว่า ทุกขั้นตอนการแต่งตั้งครั้งนี้ มีการพิจารณาตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 7/2560 ให้แต่งตั้งโดยผ่านการพิจารณาของกองบังคับการ (บก.) และผู้บัญชาการ ( บช.) ก่อนถึงระดับตร. ตามลำดับชั้น แต่มันน่าสงสัยหลายกรณี เช่น ในนครบาล มีคนได้เลื่อนตำแหน่งทั้งในหน่วย บช.น. และหน่วยอื่นๆ นอก บช.น. ขณะที่หน่วย ที่อยู่ไกลๆ เช่นภาค 4 มีตำแหน่ง ผกก. ว่าง 42 แต่ แต่มี รอง ผกก. ในภาคได้เลื่อนแค่ 27 คน รอง ผกก. ว่างตั้ง 76 ได้เลื่อนแค่ 44 คน ที่เหลือเอาไปเลื่อนให้คนหน่วยอื่น คำถามคือ ทำไมคนในหน่วยสู้คนนอกหน่วยไม่ได้เลยหรือ อันนี้เป็นความผิดปกติไหม ทำไมยอมให้คนนอกหน่วยมากินตำแหน่งในหน่วยตัวเองมากมาย มันใช้เหตุผลอะไรพิจารณา

สงสัยมั้ยคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 7/60 ให้ พิจารณาแต่งตั้งผ่านบอร์ดตามลำดับ แต่มันยังมีช่องว่างเพราะ ในท้ายข้อ 1 ของคำสั่ง เขียนว่ากรณีที่ ผบ.ตร.เห็นว่า บัญชีที่ ผบก. ผบช. หรือคณะรองผบ.ตร.พิจารณามาแล้ว ไม่เหมาะสม มีอำนาจแก้ไข ตามควรแก่กรณี หมายความว่า พิจารณามาอย่างไรก็แล้วแต่ มีอำนาจแก้ไขได้ แต่ก็ไม่ได้ให้ทำโดยอิสระ เขียนว่าทำได้เพื่อประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานบุคคล ดังนั้น หากหน่วย ผบช. ไม่ได้เสนอ ผบ.ตร. ต้องตอบให้ได้ว่า เพื่อประโยชน์ทางราชการอย่างไร

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ผมก็ไม่รู้ว่ามีการแก้ไขชื่อจากบอร์ดต่างๆ ทั้งบอร์ดระดับ บก.  บช. และบอร์ดระดับ ตร. ที่มี รอง ผบ.ตร. และ จเร หรือไม่ จากข้อเท็จจริงดังกล่าว มันเกิดคำถามว่า ตกลงแล้ว ผบก. และ ผบช.ได้พิจารณาตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 7/60 จริงมั้ย แล้ว รอง ผบ.ตร.ที่นั่งพิจารณาไม่ท้วงติงหรือ คนข้ามหน่วยเยอะแยะขนาดนี้

หลายหน่วยคนได้ขึ้นมากกว่าตำแหน่งว่างมากกว่าเท่าตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่กองบัญชาการที่อยู่ไกลๆ เอาตำแหน่งว่างไปเลื่อนให้คนนอกหน่วย คำถามคือ ผบช.ที่เสียตำแหน่งว่าง ยอมเอาคนจากหน่วยอื่น ไปขึ้นในหน่วยตัวเองได้อย่างไร หน่วยตัวเองไม่มีคนที่สมควรจะเลื่อนแล้วหรือ จึงเกิดคำถามว่า ได้ดำเนินการตามโปรเซส ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 7/60 จริงหรือไม่ ผมไม่กล้าพูดหรอกว่ามันผิดปกติ ไม่เหมาะ แต่ถามว่าทำไมออกมาเป็นอย่างนี้

ถาม : เพราะการแต่งตั้งครั้งนี้เปิดโอกาสให้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นข้ามหน่วยข้ามกองบัญชาการหรือไม่ จึงเกิดช่องว่าง

ตอบ : การเลื่อนขึ้นข้ามหน่วย ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ว่าเป็นปัญหา มาตั้งแต่ก่อนปี 2534 ต่อมาปี 2545 เป็นต้นมา เลื่อนขึ้นข้ามหน่วยไม่ได้ พิจารณาเลื่อนตามอาวุโส ถึง 50 เปอร์เซ็น เลื่อน รองผบก.- สว. ต้องพิจารณาจากผู้ที่อยู่ในหน่วยอย่างน้อย 1 ปี แก้ปัญหาการปิดหัวไปเลื่อนข้ามหน่วย ที่เกิดจากคนในส่วนกลาง ไปขึ้นข้ามหน่วย อำนาจการแต่งตั้งให้ผบช. เป็นผู้สั่งแต่งตั้งห้ามเลื่อนข้ามหน่วย ต่อมาปี 2549 กฎก.ตร. ใช้อาวุโส 25 เปอร์เซ็นต์ และขยับเป็น 33เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ได้ใช้ดุลพินิจเยอะหน่อย

แต่หลักเกณฑ์คราวนี้มันเหมือนย้อนกลับไปปี 2534 ปี 2545 คือไม่มีคณะกรรมการ และขึ้นข้ามหน่วยได้ แม้คำสั่งที่ 7/60 ให้มีคณะกรรมการพิจารณาตามลำดับ แต่เมื่อไปกำหนดในตอนท้ายให้อยู่ที่ ผบ.ตร. จะปรับเปลี่ยนให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งมันเป็นนามธรรมมาก ผมว่านี่แหละช่องว่างที่ทำให้การแต่งตั้งออกมา แบบนี้

ที่จริงกรณีการเลื่อนข้ามหน่วยก็อาจเป็นไปได้บ้าง เช่น รองผกก.คนหนึ่ง เคยอยู่หน่วยหนึ่งมานาน ถูกย้ายอย่างไม่เป็นธรรมไปหน่วยอื่น ผบก.หน่วยเห็นว่าเพื่อความเป็นธรรมเอาเขากลับมา ผมว่าอย่างนี้ไม่ผิดนะ การแต่งตั้งคราวนี้ การที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติห้ามการเลื่อนข้ามหน่วยไว้ การเลื่อนข้ามหน่วยก็ทำได้ แต่ผมเห็นว่าการใช้อำนาจดังกล่าวต้อง ต้องดูรัฐธรรมนูญด้วย เรื่องหลักนิติธรรม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพของคน ย่อมได้รับการคุ้มครอง หมายถึงว่า จะทำอะไรต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค การพิจารณาเอาคนจาก บช.อื่นไปเลื่อนตำแหน่งใน บช.ตัวเอง มันเสมอภาคไหม คุณไม่เห็นผลงานเขาเลย เขาอาจเคยอยู่เมื่อ 3 – 4 ปีก่อน แต่ 1 – 2 ปีที่ผ่านมาไปอยู่ที่อื่น แล้วคุณเอาเขามาขึ้นแทนที่จะเอาคนในหน่วย พิจารณาได้อย่างไร

ผมไม่ต้องบอกว่ามันขัดหลักนิติธรรมหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่รู้จักกันเลย ไม่เคยอยู่ในหน่วยเลย ไม่มีเหตุผลเลยที่จะเลื่อนข้ามหน่วยได้ ผมอยากจะให้ผู้มีอำนาจไตร่ตรองให้ดีๆ นะครับ ในเรื่องอย่างนี้ รธน. ฉบับปัจจุบันบัญญัติไว้ชัด บุคคลผู้เป็นทหาร ตํารวจ ข้าราชการ ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นแต่ที่จํากัดไว้ในกฎหมายเฉพาะในส่วนที่ เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจริยธรรม เพราะฉะนั้น ทหาร ตำรวจ ก็ต้องได้รับสิทธิ คุ้มครองเช่นกัน ถ้าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม ควรให้เขามีสิทธิที่จะฟ้องศาลปกครองได้ อย่าไปออกกฎหมายอะไรที่ทำให้เขาฟ้องไม่ได้

ถาม : จากความผิดปกติที่พบในคำสั่ง คำครหา “ซื้อ – ขาย” ตำแหน่ง เป็นไปได้หรือไม่จะพิสูจน์ได้อย่างไร

ตอบ : ผู้ปฏิบัติอาจบอกว่ามันถูกต้อง มีเหตุลผลทั้งหมดที่ผมตั้งคำถาม แต่หากอยากรู้ว่า มีการซื้อ – ขาย อย่างคำครหาหรือไม่ เราต้องทำให้คนทำผิดกล้าออกมาแสดงตัว

ตอบในทางนิติศาสตร์ ตอนนี้ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง เพราะมันไม่มีหลักฐาน ถ้าแจ้งความคนที่บอกว่าซื้อ -ขายตำแหน่งก็จะโดนดำเนินการทั้งทางอาญา และทางแพ่ง และโดนทางปกครองด้วยต้องถอนคำสั่ง ตัวเองไปรับว่าซื้อตำแหน่งมา คำสั่งก็ไม่ชอบด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองทันที คงไม่มีใครทำ การกันเป็นพยานก็แค่พ้นอาญาทางแพ่งรอดไหมไม่รู้ แต่ทางปกครองต้องถอนคำสั่ง เรื่องนี้ถ้าอยากพิสูจน์ว่ามีการซื้อขายตำแหน่งจริงหรือไม่ ต้องให้คนเหล่านี้มาแสดงตน ต้องใช้ทางรัฐศาสตร์ช่วย

ออกกฎหมายมาสิ กรณีที่มีผู้แสดงตนพร้อมหลักฐานว่าได้ไปซื้อขายตำแหน่งในหน่วยงานใดก็ตาม ไม่ให้การกระทำเหล่านั้นเป็นความผิดในทางอาญาทางแพ่ง รวมทั้งไม่ให้มีการยกเลิกถอนคำสั่งแต่งตั้ง ในทางปกครอง ผมเชื่อว่าถ้าดำเนินการเช่นนี้ จะมีคนกล้ามาแสดงตน ซึ่งสังคมในปัจจุบันกำลังต้องการพิสูจน์ความจริงใน เรื่องนี้

ขออย่าให้อำนาจตาม ม. 44 ออกคำสั่ง ว่าคำสั่งแต่งตั้งครั้งนี้ ชอบด้วยกฎหมาย เหมือนที่ผ่านมา ผมอาจพูดเกินเลยไปว่า ในกฎหมายรัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค การใช้กฎหมายที่ขัดรธน.มันเป็นการย้อนแย้ง ต้องระวัง ผมไม่ได้บอกว่าคำสั่งไหนย้อนแย้ง ขอยกตัวอย่าง เช่นบริษัทออกคำสั่งมาแล้ว ให้พนักงานปฏิบัติ พนักงานปฏิบัติไม่เป็นไปตามคำสั่งนี้ พนักงานข้างล่างร้อง แล้วท่านก็ออกคำสั่งไปว่าให้การปฏิบัติที่ไม่ถูกคำสั่ง มันถูกซะแบบนี้มันย้อนแย้ง ไม่รู้นะครับผมไม่ใช่นักกฎหมาย แต่แบบนี้ มันขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขออย่าให้อย่าใช้กฎหมายเพื่อปิดปาก แต่ขอให้ใช้เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริงในการปฏิรูปตำรวจอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image