‘บิ๊กต๊อก’นั่งหัวโต๊ะ สางคดีรถหรูเลี่ยงภาษี 7,123 คัน คาด 10 เดือนเสร็จ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 7 มีนาคม ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมเพื่อติดตามและเร่งรัดการดำเนินงานของ 8 หน่วยงาน กรณีขบวนการทำรถยนต์จดประกอบ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ดีเอสไอ กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมสรรพากร กรมการขนส่งทางบก สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ (สนว.)สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และกรมการค้าต่างประเทศ โดยมี พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เป็นเลขานุการฯ

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวภายหลังประชุมว่า สำหรับปัญหารถยนต์จดประกอบตั้งแต่ปี 2553-2556 สถิติที่มีคือ 7,123 คัน ซึ่งก็ไปเชื่อมโยงสถานการณ์ของบ้านเมืองเราในปัจจุบันนี้ 2-3 ประเด็น หากเราปล่อยตรงนี้ไปก็เป็นปัญหา ดังนั้นเรื่องนี้จึงต้องดำเนินการให้เสร็จเรียบร้อย เพื่อให้ความเป็นธรรมกับคนที่มีชื่ออยู่ในบัญชีและจะได้สบายใจว่ารถยนต์ของเขาผิดหรือถูกอย่างไร ต้องพิสูจน์ให้เห็น อีกทั้งจะได้ไม่ต้องนำมาเป็นเรื่องราวที่เอามาประกอบเกี่ยวพันกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทางดีเอสไอเป็นหน่วยงานที่ได้รับการร้องเรียน การชี้มูล การยื่นคำร้องในกลุ่มรถยนต์ 7,000 กว่าคัน ซึ่งตนเห็นว่าก็จะเป็นปัญหาของดีเอสไอเหมือนกัน เมื่อทำไปแล้วก็จะไปเชื่อมโยงกับที่ทุกคนทราบทุกวันนี้ และจะกลายเป็นว่าดีเอสไอเป็นหน่วยงานที่มีปัญหา ว่าดีเอสไอเลือกปฏิบัติหรือไม่ ไม่สมควรปฏิบัติหรือไม่

DSC_5355-2_Fotor

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้มีข้อสรุปคือ ขณะนี้ตัวเลขรถยนต์จดประกอบอยู่ที่กรมการขนส่งทางบก 7,123 คัน จึงให้กรมการขนส่งทางบกไปตรวจสอบว่าในปี 2553-2556 โดยยืนยันตัวเลขให้ชัดเจนว่ารถยนต์จดประกอบมี 7,123 คันหรือไม่ หากเพิ่มหรือลดอย่างไรก็ให้ยืนยันมา พร้อมทั้งส่งบัญชีหมายเลขเครื่องยนต์และตัวถังของรถแต่ละคันมายังดีเอสไอ จากนั้น ดีเอสไอจะรวบรวมข้อมูลที่กรมการขนส่งทางบกส่งมาให้นั้น ส่งไปยังกรมศุลกากรเพื่อให้กรมศุลกากรตรวจสอบว่ารถยนต์นั้นถูกหรือสงสัยว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งตรงนี้จะชัดแล้วว่ารถที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือไม่ถูกต้อง หรือสงสัยว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมายจะปรากฎตรงนี้ กลุ่มที่ถูกต้องก็จะคืนความเป็นธรรมให้ประชาชน และเราก็จะคัดหมายเลขหรือรถยนต์นั้นออกไปจากบัญชีดังกล่าว ก็จะเหลือกลุ่มของรถที่สงสัยว่าผิดกฎหมาย ซึ่งก็จะดูว่าผิดในประเด็นใด

Advertisement

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ในส่วนที่สงสัยว่าผิดกฎหมายมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ตรวจสอบได้ว่าผิดแน่นอน กรมศุลกากรก็จะดำเนินการทางอาญามาที่ดีเอสไอ สำหรับทางแพ่งกรมศุลกากรก็ดำเนินการตาม มาตรา 6 ก็คือเรื่องภาษี และ 2.กลุ่มรถที่สงสัยว่าผิดกฎหมาย ก็จะถูกตรวจสอบ โดยกรมศุลกากรจะส่งเรื่องมาที่ดีเอสไอ ทั้งนี้หากดีเอสไอตรวจสอบแล้วพบว่าในกลุ่มดังกล่าวมีรถยนต์ที่ถูกต้องก็จะคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชน ส่วนกลุ่มที่ผิดก็จะนำมาสู่กระบวนการเดียวกันกับกลุ่มที่ 1 โดยจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าวเข้ามาดำเนินการทางอาญา คาดว่าจะใช้เวลาในการตรวจสอบประมาณ 10 เดือน คือเดือน ธ.ค.นี้ ให้เรียบร้อยตามข้อตกลงที่เจ้าหน้าที่แต่ละกรม แต่ละหน่วยไปประเมินมาแล้วว่าจะใช้ระยะเวลาเท่าไรในการดำเนินการให้แล้วเสร็จ ส่วนเรื่องภาษีจะได้เท่าไรตนไม่อยากลงรายละเอียด ทั้งนี้ เพื่อขจัดปัญหาของสังคมที่ว่าเลือกปฏิบัติ ทำไมไม่ปฏิบัติ จึงทำให้มันชัด

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมา อะไรคือสาเหตุของความล่าช้า พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ได้บอกไปยังอธิบดีดีเอสไอแล้วว่าไปทำให้สังคมไม่มีคำถามอย่างที่ผู้สื่อข่าวถาม แต่ที่ถามก็ถูกต้องแล้ว ทั้งนี้ ในส่วนของรถยนต์นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ลงในรายละเอียด เป็นเพียงการพูดคุยกันภาพรวมและกรอบการทำงานเท่านั้น ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์แต่ละคัน ทางอธิบดีดีเอสไอจะรายงานมายังตนอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีข้อมูลอยู่แล้ว จึงคาดว่า 10 เดือนจะเกิดความเรียบร้อยเพราะมันมีข้อมูลอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในรถยนต์จำนวน 7,000 กว่าคันมีการคำนวณความเสียหายไว้หรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ในเรื่องของความเสียหายคงเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากร จึงต้องไปถามกรมศุลกากร เพราะเรื่องนี้ตนยังไม่ได้ลงรายละเอียด ซึ่งใช้เวลาประชุมครั้งนี้เพียง 10 นาทีเท่านั้น เนื่องจากมองว่าเป็นเรื่องเก่า มีการดำเนินการไปบ้างแล้ว

Advertisement

ต่อข้อถามอีกว่า ในส่วนของการทำงานเรื่องดังกล่าวที่เกิดความล่าช้า ได้มีการเปลี่ยนคณะทำงานหรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ไม่ลงรายละเอียด ให้แต่ละกรมไปจัดการในเรื่องพวกนี้ ตนไม่ได้เป็นคนกำหนดกรอบเวลา แต่คณะทำงานเป็นผู้กำหนดกรอบระยะเวลา

พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการตรวจสอบรถยนต์ 7,123 คัน ซึ่ง 500 กว่าคันแรกที่เคยทำไว้ ซึ่งเป็นรถที่อยู่ในกลุ่มรถยนต์ที่มีมูลค่า 4 ล้านบาทขึ้นไปนั้น เราได้ตรวจสอบแล้วประมาณ 300 กว่าคัน และส่งไปให้กรมศุลกากรประเมินภาษี ซึ่งมีผลกลับมาแล้ว 8 คัน ซึ่งเป็นรถที่ถูกไฟไหม้ที่จ.โคราช เมื่อปี 2556 ส่วนที่เหลือกำลังเร่งรัดติดตามอยู่ ทั้งนี้ รัฐมนตรีให้นโยบายว่ารถยนต์ในจำนวน 7,000 กว่าคันไม่ควรแบ่งว่า 4 ล้านบาทขึ้นไปหรือไม่ 4 ล้านบาท เนื่องจากก่อนหน้านี้ เรามีการแบ่งว่าราคา 4 ล้านบาทขึ้นไปตรวจสอบก่อน ส่วนที่มีราคาต่ำกว่านั้น ส่วนเพราะถ้ารถมันผิดก็ต้องผิด ถ้าไม่ผิดก็คือไม่ผิด เราไม่ควรเอาราคามาแบ่งในการตรวจสอบ ดังนั้น รถจำนวนดังกล่าวจะต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบทุกคัน

ด้าน พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร ผบ.สำนักปฎิบัติการคดีพิเศษภาค ดีเอสไอ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการแจ้งข้อหาผู้ต้องหาแล้ว 5 ราย พร้อมทั้งได้ออกหมายจับชาวมาเลเซีย 2 ราย ซึ่งจากการตรวจสอบพบกลุ่มคนเหล่านี้ดำเนินการเป็นกระบวนการ โดยในรายรถหรูที่ถูกไฟไหม้ที่ อ.กลางดง จ.นครราชสีมา ในช่วงระหว่างเวลาดำเนินการขนส่งนั้น อยู่ระหว่างการสรุปสำนวนคดี ส่วนรถที่เหลือบางคันรอขอมูลจากต่างประเทศเกี่ยวกับรายละเอียดตัวรถ โดยรถในกลุ่มนี้รับไว้เป็นคดีพิเศษจำนวน 11 คดี ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการสอบสวน

ผู้สื่อข่าวถามว่า รายละเอียดเกี่ยวกับผลดำเนินการตรวจสอบรถราคา 4 ล้านบาทขึ้นไป ที่ดีเอสไอส่งข้อมูลตต่อให้กับกรมศุลกากรนั้น พ.ต.ท.กรวัชร์ กล่าวว่า รถล็อตแรกที่ดีเอสไอได้ประมวลข้อมูลส่งให้กรมศุลกากรตรวจสอบมี 399 คัน ซึ่งทางกรมศุลกากรได้มีคำตอบแจ้งกลับมาว่าเบื้องต้นรถในกลุ่มนี้ที่เข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายแน่นอนมี 8 คัน นอกจากนี้ กรมศุลกากรได้ขอให้ดีเอสไอทำรายละเอียดข้อมูลรถเพิ่มเติม 30 คันที่อยู่ในกลุ่มรถ 399 คัน ส่งมาให้กรมศุลกากรพิจารณา ทั้งนี้ ในส่วนรถ 8 คัน ทางกรมศุลกากรได้เรียกเก็บภาษีคันละ 3 ล้านบาทเศษ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image