เจ้าของอู่วิชาญ ซ่อมรถสมเด็จช่วง ร้องกรมคุ้มครองสิทธิฯขอทนายสู้คดี หลังถูกฟ้อง

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 8 มีนาคม ที่กระทรวงยุติธรรม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิชาญ รัษฐปานะ เจ้าของอู่วิชาญ ประกอบรถเบนซ์ ของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เดินทางมายังกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

ทั้งนี้ เพื่อยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยขอให้กรมคุ้มครองสิทธิฯช่วยเหลือ เรื่องทนายความสู้คดี ค่าธรรมเนียมศาล เนื่องจากหลังถูกพระมหาศาสนมุนี  หรือหลวงพี่แป๊ะ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสและพระเลขานุการสมเด็จฯ วัดปากน้ำ ฟ้องดำเนินคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 10 ล้านบาท อีกทั้งขอให้คุ้มครองพยาน

นายวิชาญกล่าวว่า ในวันนี้ต้องการมาขอทนายความ ค่าทำเนียมศาล และขอให้กรมคุ้มครองสิทธิฯคุ้มครองตนในฐานะพยานในคดีรถสมเด็จช่วง แต่ก็ไม่ทราบว่าจะขอคุ้มครองพยานได้หรือไม่ เนื่องจากคดีดังกล่าวยังไม่มีการฟ้องร้องอะไร และยังอยู่ในชั้นการสอบสวน แต่ตนต้องการขอให้คุ้มครองเพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีกหรือไม่ อีกทั้งไม่ทราบด้วยว่าการที่ตนถูกฟ้องร้องดังกล่าว จะเป็นการข่มขู่ตนหรือไม่ ซึ่งตนถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 10,050,000 บาท แบ่งเป็นค่ารถ 4 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยรวมแล้ว 5 ล้านกว่าบาท รวมถึงค่าเสียชื่อเสียงอีก 5 ล้านบาท ทั้งนี้ ตนเพิ่งได้รับหมายศาลในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา เป็นคดีหมายเลขดำที่ ส 359/2559 ฟ้องโดยพระมหาศาสนมุนี (ธนกิจ ศรีอุ่นเรือน) โดยนายสุรพงษ์ สิทธิกรณ์ ทนายความเป็นผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวิชาญ ซึ่งศาลได้นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 25 เม.ย.นี้ เวลา 13.30 น.

“หลังจากถูกฟ้องร้องดำเนินคดีและมีหมายศาลมาที่บ้าน ทำให้ผมและครอบครัวเกิดความเครียด ภรรยาก็ร้องไห้ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยถูกฟ้องร้องอะไรแบบนี้เลย อีกทั้งผมไม่รู้เกี่ยวกับระบบทนายความ แต่เชื่อว่าถ้าเราอยู่บนความจริง ความจริงก็คือความจริง วันหนึ่งเขามาพึ่งพาให้ผมช่วยซ่อมรถให้ อีกวันมาบอกว่าผมเป็นโจรเอารถไปขายให้พระ วันหนึ่งเขาให้ผมช่วยเป็นธุระจัดการนำเงินมาผ่านยังผม เพื่อจะได้ไปจ่ายแทนให้ เพราะเขาจะได้จ่ายเงินมาด้านเดียว แต่วันหนึ่งมากล่าวหาว่าผมเป็นคนรับเงินทั้งหมดและเอารถไปให้เขา” นายวิชาญกล่าว

Advertisement

นายวิชาญกล่าวต่อว่า ยืนยัน ไม่ใช่เจ้าของรถแม้แต่วินาทีเดียว ไม่ใช่เจ้าของเครื่องยนต์ หรือบอดี้ที่เอาเข้ามา รวมถึงไม่ใช่เจ้าของอะไหล่ที่เขามาจ้างให้ตนทำเป็นตัวรถ อีกทั้ง ตนไม่ได้เป็นคนดำเนินการในเรื่องการจดประกอบ และไม่เคยรู้เรื่องการจดประกอบ ไม่รู้เรื่องทะเบียน 99 และไม่รู้ด้วยว่าใครเคยเป็นเจ้าของชื่อรถคนแรก จึงไม่ได้เป็นผู้ขายรถคันดังกล่าวให้กับหลวงพี่แป๊ะ แต่เป็นช่างที่ได้รับการว่าจ้างให้ซ่อมรถดังกล่าว โดยหลวงพี่แป๊ะเป็นผู้ว่าจ้าง

เจ้าของอู่วิชาญกล่าวว่า โดยมีการแบ่งค่าจ้างในจำนวน 4 ล้านบาท เป็น 2.5 ล้านบาท ให้บริษัทอ๊อด 89 ซึ่งเป็นผู้จัดหาอะไหล่รถมาและเป็นผู้ดำเนินการเรื่องจดประกอบ ส่วนตนรับงานซ่อมโดยมีค่าจ้าง 1.5 ล้านบาท ซึ่งเป็นงานปรับแต่งภายใน ภายนอกรถ ไม่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการจดประกอบ เงินค่าจ้าง 1.5 ล้านบาท ก็มีการว่าจ้างช่างในส่วนอื่น ซ่อมรถและทยอยจ่ายช่างแต่ละคนไป ซึ่งเมื่อทำรถเสร็จและพ้นจากอู่ของตนไป จึงนำไปสู่ขั้นตอนการจดประกอบ ซึ่งตนไม่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ไม่ยืนยันว่าหลวงพี่แป๊ะรู้จักกับบริษัทอ๊อด 89 หรือไม่ แต่ระหว่างการซ่อมรถดังกล่าว ก็มีการพบกันหลายครั้ง

นายวิชาญกล่าวอีกว่า ไม่เข้าใจ ทำไมหลวงพี่แป๊ะจึงไม่ฟ้องผู้ที่เป็นคนจัดหาอะไหล่ หรือทำการจดประกอบรถให้ แต่กลับมาฟ้องตนซึ่งเป็นเพียงผู้รับจ้างแค่ซ่อมรถให้ใช้งานได้ ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ทางหลวงพี่แป๊ะไม่ได้ติดต่อพูดคุยกับตน ทั้งที่ในช่วงที่มีการทำรถก็มีการติดต่อกันอย่างต่อเนื่องและมีการทยอยจ่ายเงินค่าจ้างเป็นงวด

ด้านนางกรรณิการ์ แสงทอง อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวถึงกรณีนายวิชาญ รัษฐปานะ เจ้าของอู่รถโบราณ ที่ทำรถโบราณ ยี่ห้อเมอร์เซเดสเบนซ์ ทะเบียน ขม99 กรุงเทพมหานคร ของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เดินทางเข้าร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือจากกรมคุ้มครองสิทธิฯ เพื่อขอทนายความในการสู้คดี พร้อมทั้งขอค่าธรรมเนียมศาลและคุ้มครองในฐานะพยาน ว่า ขั้นตอนการยื่นเรื่องขอทนายความและค่าดำเนินการศาล จากกรมคุ้มครองสิทธิฯสามารถทำได้ เนื่องจากมีกองทุนยุติธรรมของกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ไว้ช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีเงินจ้างทนายความ เงินประกันตัว ประกันหลักทรัพย์ และค่าดำเนินการในชั้นศาลต่างๆ ส่วนกรณีนายวิชาญ มายื่นเรื่องขอทนาย เบื้องต้นให้เขียนคำร้องว่าต้องการอะไรบ้าง จากนั้นจะพิจารณาดูว่าผ่านหลักเกณฑ์ตามขั้นตอนระเบียบกองทุนยุติธรรมหรือไม่ ส่วนกรณีที่ผู้เสียหายขอให้เจ้าหน้าที่คุ้มครองในฐานะพยานด้วยนั้น แนะนำให้ไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เนื่องจากรับเป็นคดีพิเศษไปแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image