เปิดขั้นตอนอ่านคำตัดสิน’จำนำข้าว’27ก.ย. หากอัยการมาศาลฝ่ายเดียว อ่านลับหลัง’ยิ่งลักษณ์’

เมื่อวันที่ 26 กันยายน นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน คณะทำงานคดีโครงการรับจำนำข้าว กล่าวถึงการเดินทางไปฟังคำพิพากษาในวันที่27กันยายน ว่า ในฐานะอัยการโจทก์คณะทำงานอัยการในคดีนี้จะเดินทางไปฟังคำพิพากษาเเน่นอน โดยศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมืองนัดฟังคำพิพากษาเวลา 09.00น. คาดว่าองค์คณะจะทำคำวินิจฉัยกลางไว้ช่วงเช้าเเล้ว พอถึงเวลานัดก็สามารถออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาได้เลย คาดว่าคงไม่เกินเวลา09.30น.

นายสุรศักดิ์กล่าวต่อว่า ในครั้งนี้ศาลจะไม่ต้องรอตัวจำเลยว่าจะมาหรือไม่ เพราะเคยออกหมายจับปรับนายประกันไปก่อนหน้านี้ไปเเล้ว ถือว่าหลบหนีประกันในชั้นศาล พอถึงเวลาก็อ่านลับหลังได้เลย ตรงนี้เป็นข้อกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากศาลยกฟ้องเตรียมเรื่องการยื่นอุทธรณ์หรือไม่ นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า เราต้องดูว่าศาลมีคำพิพากษาอย่างไร หากศาลยกฟ้องให้เหตุผลว่าอย่างไร ศาลลงโทษอย่างไร เหตุผลอย่างไร เเต่ทีมอัยการมีความพร้อมอยู่ ส่วนเรื่องมั่นใจลงโทษจำเลยได้หรือไม่อยู่ที่ศาล ส่วนทางอัยการที่ยื่นฟ้องไปเเสดงว่าเรามีหลักฐานพอจึงฟ้องไป ที่เหลือเป็นดุลพินิจของศาล

“นัดเเรกไม่มาเลื่อนไป30วัน ออกหมายจับปรับนายประกัน ต้องรอ30วันถึงอ่านได้ ศาลถึงนัดวันที่27กันยายน พอถึงเวลาก็อ่านได้เลยไม่ต้องรอตัว”นายสุรศักดิ์กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงขั้นตอนทางกฎหมายเกี่ยวกับการอ่านคำพิพากษาในคดีโครงการรับจำนำข้าวและโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ที่จะมีการอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยในวันที่ 27กันยายนมีข้อความระบุว่า ในวันดังกล่าวเป็นการนัดอ่านคำพิพากษาลับหลัง หลังจากที่จำเลยไม่เดินทางมาในวันที่25สิงหาคม เมื่อถึงเวลานัดหากจำเลยเดินทางมา ศาลจะเริ่มประชุมทำคำพิพากษาเพื่ออ่านให้จำเลยฟังต่อหน้า ส่วนกรณีที่จำเลยยังไม่เดินทางมาตามเวลานัด จะมีการรายงานเป็นลายลักษณ์อักษร ว่าได้รอจำเลยจนถึงเวลาเท่าใด เเต่จำเลยยังไม่มาศาล หลังจากนั้นองค์คณะจะมีการอ่านคำพิพากษากลางที่ได้ทำไว้ในช่วงเช้าวันดังกล่าวก่อนขึ้นบัลลังก์

ซึ่งตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 20 บัญญัติให้การทำคำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดหรือการพิพากษาคดี ให้ผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาทุกคนทำความเห็นส่วนตนในการวินิจฉัยคดีเป็นหนังสือ พร้อมทั้งต้องแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนการลงมติ และให้ถือมติตามเสียงข้างมาก โดยองค์คณะผู้พิพากษาอาจมอบหมายให้ผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษาเป็นผู้จัดทำคำสั่งหรือคำพิพากษาตามมตินั้นก็ได้ และคำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือคำพิพากษาของศาล ให้เปิดเผยโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนความเห็นในการวินิจฉัยคดีของผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาทุกคนให้เปิดเผยตามวิธีการที่ประธานศาลฎีกากำหนด

และตามมาตรา 20 บัญญัติให้ความเห็นในการวินิจฉัยคดีอย่างน้อยต้องประกอบด้วย ชื่อคู่ความทุกฝ่าย เรื่องที่ถูกกล่าวหา ข้อกล่าวหาและคำให้การ ข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณา เหตุผลในการวินิจฉัยทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย บทบัญญัติของกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง คำวินิจฉัยคดี รวมทั้งการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขั้นตอนในวันดังกล่าวเเปลว่าหากคู่ความไม่มีใครเดินทางมาศาลก็จะออกนั่งพิจารณาเเละสั่งงดอ่านคำพิพากษาเพราะถือว่าจำเลยทราบคำพิพากษาโดยชอบเเล้ว เเต่ในกรณีที่ในวันดังกล่าวหากอัยการโจทก์เดินทางมาในวันดังกล่าว ศาลจะอ่านคำพิพากษากลางที่ทำไว้ในวันนั้นให้โจทก์ฟังเเละถือว่าเป็นการอ่านโดยชอบด้วยกฎหมาย เเละถ้าวันดังกล่าวศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเเต่จำเลยไม่มาศาล ศาลจะให้ออกหมายจับจำเลยมาเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล เเต่หากมีการยกฟ้อง หากศาลไม่ได้สั่งขังจำเลยระหว่างอุทธรณ์ตัวจำเลยจะถือเป็นอิสระ

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หลังจากมีการอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ คู่ความทั้งสองยังมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 195 วรรค 4 บัญญัติให้สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา และตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 195 วรรค 7 บัญญัติให้หลักเกณฑ์และวิธีการอุทธรณ์ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขณะนี้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวยังไม่ได้ประกาศใช้

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ในวันที่26กันยายน ในเรื่องระเบียบการเข้าฟังในห้องพิจารณาคดี ทางศาลจะยังคงเข้มงวดเหมือนเมื่อวันที่ 25สิงหาคมที่ผ่านมา โดยภายในห้องพิจารณาจะจัดพื้นที่สำหรับคู่ความอัยการโจทก์ จำเลย ทนายความผู้ติดตาม เครือญาติ รวมทั้งสื่อมวลชนซึ่งในส่วนของสื่อมวลชนให้ลงรายชื่อโดยอนุญาตให้เข้าฟังห้องพิจารณาสำนักข่าวละ 1 คน จากที่เคยมีการส่งรายชื่อลงทะเบียนไปก่อนหน้านี้เนื่องจากพื้นที่ห้องพิจารณาค่อนข้างจำกัด สามารถรองรับบุคคลได้กว่า 100 คน เเละห้ามนำอุปกรณ์สื่อสารทุกชนิดเข้าห้องพิจารณาโดยจะไม่มีการถ่ายทอดสัญญาณเสียงขณะอ่านคำตัดสิน ออกมานอกห้องพิจารณาแต่อย่างใด ส่วนบริเวณด้านหน้าศาลฎีกาฯจะมีการกำหนดจุดตั้งเเผงเหล็กกั้นเเต่ในครั้งนี้จะไม่มีกันปิดกันพื้นที่มากเหมือนวันที่25สิงหาคม เนื่องจากมีการประเมินกันว่าจะมีมวลชนเดินทางมาจำนวนไม่มากเพราะเชื่อว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะไม่เดินทางมาในวันดังกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image