ศาลแพ่งยกคดี’ปชต.ใหม่’ฟ้อง’ตร.-ทบ.-สำนักนายกฯ’เรียก 16 ล้าน ชี้ จนท.คุมตัวตามคำสั่ง คสช.

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 30 ตุลาคม ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีที่กลุ่มนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) และนักศึกษารวม 13 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เป็นจำเลยที่ 1 กองบัญชาการกองทัพบก เป็นจำเลยที่ 2 และสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 3 เรื่องละเมิด ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เรียกค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทน 16,468,583 บาท จากกรณีได้รับความเสียหายขณะถูกควบคุมตัวบริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในการทำกิจกรรมรำลึกครบรอบ 1 ปีการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558

คำฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 22-23 พฤษภาคม 2558 ต่อเนื่องกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบ สังกัดอยู่ในหน่วยงานของจำเลยทั้งสาม ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1-13 โดยเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 เวลา 18.00 น. ขณะโจทก์ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ศุกร์ 22 เรามาฉลองกันมะ?” ที่บริเวณลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้ร่วมกันสั่งการและควบคุมกำลังเข้ามาห้ามไม่ให้โจทก์ใช้เสรีภาพในการชุมนุมจัดกิจกรรม เอารั้วเหล็กสีเหลืองมาปิดกั้นบริเวณลานหน้าหอศิลปฯไว้โดยรอบ ทำให้โจทก์ไม่สามารถจัดกิจกรรมในบริเวณดังกล่าวได้ จึงต้องทำกิจกรรมบริเวณด้านนอกรั้วที่ถูกกั้นไว้ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ใช้กำลังประทุษร้ายต่อร่างกายและจิตใจ และควบคุมตัวโจทก์ อันถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย จากนั้นควบคุมตัวโจทก์ไว้ที่ สน.ปทุมวัน โดยไม่มีอำนาจควบคุมตามกฎหมาย และไม่ใช่การควบคุมตัวไว้เพื่อสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือสอบสวนโจทก์แต่อย่างใด ควบคุมตัว กักขัง หน่วงเหนี่ยวโจทก์เป็นเวลาต่อเนื่องกันนานถึง 10 ชั่วโมง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เสรีภาพในการเดินทาง ไม่สามารถเดินทางไปไหนตามที่ใจปรารถนาได้ อีกทั้งยังทำให้ได้รับผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรง และทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ที่ 1 ที่ 5 และที่ 13 เสียหาย ถือเป็นการร่วมกันกระทำโดยจงใจ กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1-13 ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ทำให้โจทก์ที่ 1-13 ได้รับความเสียหายแก่ร่างกาย จิตใจ เสรีภาพ และทรัพย์สิน

โดยมีรายงานข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่าวันนี้ศาลได้ยกฟ้องโจทก์ เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่ากิจกรรมที่กลุ่มโจทก์จัดขึ้นถือเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 4 และพันธกรณีระหว่างประเทศ แต่รัฐธรรมนูญมีมาตรา 44 ซึ่งหัวหน้า คสช.ได้ออกคำสั่งที่ 3/2558 จำกัดเสรีภาพการชุมนุมไว้ จึงไม่สามารถใช้เสรีภาพการชุมนุมได้ การที่โจทก์ไปร่วมชุมนุมทางการเมืองนั้น เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าควบคุมจึงชอบด้วยตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ส่วนการควบคุมตัวโจทก์ไว้ที่ สน.ปทุมวันนั้น ไม่ได้มีการยึดอุปกรณ์สื่อสาร อาจารย์ของกลุ่มโจทก์สามารถเข้าพบได้ ดังนั้นการควบคุมตัวจึงชอบแล้ว สำหรับความเสียหายที่โจทก์ได้รับเกิดขึ้นจากการขัดขืนของโจทก์เอง พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ทั้ง 13 คน

ด้านนายรังสิมันต์ โรม สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย อดีตโฆษกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ หนึ่งในโจทก์ เปิดเผยว่า ศาลให้เหตุผลว่าการชุมนุมเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่เมื่อมีมาตรา 44 การชุมนุมต้องได้รับอนุญาตตามคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ซึ่งพอไม่ได้รับอนุญาตก็ถือว่าผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมเราได้ และการที่เราขัดขืนเจ้าหน้าที่ก็ไม่ผิด ส่วนการจับกุมไปที่สถานีตำรวจเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องไม่ได้เป็นการกักขังหน่วงเหนี่ยว ศาลจึงยกฟ้อง เราจะยื่นอุทธรณ์ต่อไป เช่นกรณีเจ้าหน้าที่พาตัวไปยังสถานีตำรวจ คำสั่ง คสช.ก็ไม่ได้ระบุไว้ และกรณีมีการทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ไม่ใช่การจับกุมธรรมดา ถ้าเราปล่อยให้คดีจบแบบนี้ จะมีเจ้าหน้าที่จำนวนมากที่จะทำอะไรโดยไม่ต้องรับผิดชอบก็ได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image