พลิก กฎหมาย จราจร เมาไม่เป่าž รอดยาก

ขณะที่การดำเนินคดี ผู้ขับขี่มักหาข้ออ้างหลีกเลี่ยงการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ หรือไม่ยอมเป่าเครื่องตรวจวัดเเอลกอฮอล์ ด้วยเหตุผลทำให้รูปคดีดูเบาขึ้น

ล่าสุด คดีสะเทือนสังคม คลิปวิดีโอยืนยันชัดเจน กรณี นพ.ยอร์น จิระนคร สาธารณสุขนิเทศก์ เขต 12 ขับรถชนนายสมชาย ยามดี หรือนัท รปภ.กระทรวงสาธารณสุข จนล้มลง และค่อยๆ ขับรถทับและลากร่างจนหมดสติ ได้รับบาดเจ็บสาหัส

นพ.ยอร์นเป็นอีกรายที่ปฏิเสธการตรวจวัดระดับเเอลกอฮอล์ ซึ่งจะว่ากันไปแล้วก็ถือเป็นสิทธิที่จะปฏิเสธ แม้จะโดนข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงานแต่ถือว่าเบากว่าเมาแล้วขับ

พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2557 มีการเเก้ไขใหม่สาระสำคัญให้อำนาจเจ้าพนักงานจราจร สามารถสั่งให้ผู้ขับขี่ขับรถเข้าช่องทางที่มีกรวยวางตั้งไว้ ให้เปิดกระจกเพื่อให้เจ้าหน้าที่ยื่นอุปกรณ์เข้าไปตรวจวัดแอลกอฮอล์เข้าไปในรถได้ รวมทั้งสั่งให้ลงจากรถเพื่อดูว่าร่างกายสามารถรักษาสมดุลของการเดินได้หรือไม่

Advertisement

หากผู้ขับขี่ไม่ยอมให้ทดสอบ ให้เจ้าหน้าที่สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเมาสุรา เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีฐานขับรถขณะเมาสุราได้

ข้อกฎหมายนี้จะศักดิ์สิทธิ์เพียงใด ไม่เป่าถือว่าเมาเลยหรือไม่ และทิศทางการดำเนินคดีเป็นอย่างไร?!!

ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด อธิบายว่า พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.จราจร ทางบก (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2557 โดยการเพิ่มความในมาตรา 142 วรรคสี่ กำหนดข้อสันนิษฐานไว้ว่า ในกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น หากผู้ขับขี่ไม่ยอมให้ทดสอบว่าเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นหรือไม่ โดยไม่มีเหตุอันควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น เป็นมาตรการในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากผู้ขับขี่รถขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น โดยการทดสอบเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 16 (พ.ศ.2537) และกฎกระทรวง ฉบับที่ 21 (พ.ศ.2560) ออกตามความใน พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522

ดังนั้น หากผู้ขับขี่รถคนใดปฏิเสธที่จะให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ว่าเมาสุราหรือไม่ โดยการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ ด้วยวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงดังกล่าว ได้แก่ วิธีการตรวจวัดลมหายใจ โดยวิธีเป่าลมหายใจ และอ่านค่าของแอลกอฮอล์ในเลือดเป็นมิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือวิธีการตรวจวัดจากปัสสาวะ หรือจากเลือด ในกรณีที่ไม่สามารถทดสอบโดยวิธีเป่าลมหายใจได้ ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 142 วรรคสี่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ขับขี่ผู้นั้นขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น

เมื่อกฎหมายได้กำหนดข้อสันนิษฐานความผิดไว้เช่นนี้ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ขับขี่จะต้องนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่ได้ขับขี่รถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น หากพิสูจน์ไม่ได้ก็ถือว่ากระทำความผิดฐานขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2) ระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 160 ตรี

หากเป็นกรณีที่เกิดขึ้นก่อนแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 142 ดร.ธนกฤตบอกว่า เรื่องการพิสูจน์ข้อสันนิษฐานความผิดก่อนปี 2557 หากผู้ขับขี่ปฏิเสธไม่ยอมให้ทดสอบว่าเมาสุราในขณะขับรถหรือไม่ จะตกเป็นหน้าที่ของอัยการโจทก์ที่จะต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบพิสูจน์ในชั้นศาลให้มีน้ำหนักฟังได้ว่า จำเลยขับขี่รถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น

หากพยานหลักฐานของอัยการโจทก์มีน้ำหนักน้อย ไม่พอฟังได้ว่าจำเลยมีอาการเมาสุราในขณะขับรถ จะถือว่าพยานหลักฐานของอัยการโจทก์ยังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยขับรถในขณะเมาสุราหรือไม่ ศาลจะยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 พิพากษายกฟ้องโจทก์

ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8809/2549

แต่ปัจจุบันหากผู้ขับขี่ปฏิเสธไม่ยอมให้ทดสอบว่าเมาสุราในขณะขับรถหรือไม่ จะเข้าข้อสันนิษฐานว่า ผู้ขับขี่ผู้นั้นขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น ตามมาตรา 142 วรรคสี่ กำหนดไว้ แล้วหากมีการดำเนินคดีในชั้นศาลก็เป็นหน้าที่ของจำเลย ผู้ขับขี่ จะต้องนำพยานมาพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานความผิดตามกฎหมาย

หากพิสูจน์ไม่ได้ก็ต้องถือว่าจำเลยกระทำความผิดฐานขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น

ขณะที่โฆษกศาลยุติธรรม สุริยัณห์ หงษ์วิไล กล่าวเสริมถึงข้อกฎหมายว่า พ.ร.บ.จราจรทางบก มีไว้เพื่อคุ้มครองสังคม แม้ผู้ขับขี่ฝ่าฝืนมาตรา 43 (2) กล่าวคือขับรถในขณะเมาสุราหรือเมาของอย่างอื่น แต่ยังมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่คนอื่น กฎหมายก็ประสงค์ที่จะลงโทษเพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้ขับขี่เองหรือแก่ ผู้อื่น อันจะทำให้สังคมได้รับความเดือดร้อน

กรณีนี้มาตรา 160 ตรี วรรคหนึ่ง ระวางโทษจำคุกไว้ไม่เกิน 1 ปีหรือปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลพักใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ เป็นกรณีที่กฎหมายที่มีโทษทางอาญากำหนดอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไว้ไม่เกิน 3 ปี หรือโทษปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งไม่เกินอัตราดังกล่าว ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมกำหนดให้ศาลแขวงเป็นศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาคดี

แต่หากฝ่าฝืนมาตรา 43 (2) แล้วเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ กฎหมายกำหนดอัตราโทษที่สูงขึ้นมาตรา 160 ตรี วรรคสอง กำหนดระวางโทษจำคุกไว้ตั้งแต่ 1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท และให้ศาลพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

หากเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสต้องระวังโทษหนักขึ้นตามมาตรา 160 ตรี วรรคสาม โดยระวางโทษไว้จำคุกตั้งแต่ 2-6 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000-120,000 บาท และให้ศาลพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ เเต่หากการกระทำความผิดเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มาตรา 160 ตรี วรรคสี่ กำหนดให้ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

จะเห็นได้ว่าหากพนักงานอัยการฟ้องศาลขอให้ลงโทษตามมาตรา 160 ตรี วรรคสอง หรือวรรคสาม หรือวรรคสี่ จะเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่าสามปีและโทษปรับอย่างสูงเกินกว่า 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โทษที่กำหนดเกินจากนี้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมกำหนดให้ศาลระดับศาลจังหวัดเป็นศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image