‘ปธ.ปฏิรูปยุติธรรม’หนุนอัยการร่วมตร.สอบคดีสำคัญ เผยปลัดยธ.รับลูกปฏิรูปดีเอสไอ

เมื่อเวลา 09.00น.วันที่ 23 พฤศจิกายน ที่อาคารธารทิพย์ ชั้น5 โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ถนนรัชดาภิเษก คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่อง เเผนปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพื่อความเป็นธรรมเเละเท่าเทียม โดยมีนายอัชพร จารุจินดา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม เเละคณะกรรมการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม อาทิ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน สมาชิกสปท. นายชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ ประธานศาลอุทธรณ์ แผนกคดีค้ามนุษย์ นายตระกูล วินิจนัยภาค อดีตอัยการสูงสุด แพทย์หญิง(คุณหญิง) พรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีตผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ นายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ทนายความ และว่าที่ รต.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความ

นายอัชพร กล่าวว่า หลังจากคณะกรรมการทำแผนปฎิรูปเบื้องต้นเสร็จแล้ว ได้เปิดรับฟังความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อให้รับฟังแผน หน่วยงานทุกแห่ง ทั้งศาล อัยการ หรือ ป.ป.ช.เห็นชอบกับแผนว่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้เกิดขึ้นได้ วันนี้จึงเป็นการมาเปิดรับฟังทั่วไป2วัน วันนี้เป็นวันแรกจะมีประเด็นที่ว่าจะทำให้คนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ง่าย ตั้งแต่การอำนายความสะดวกตั้งแต่แจ้งความ การติดตามผลคดี และความเท่าเทียมกันในการประกันตัว ครั้งต่อไปเราจะพูดถึงระบบนิติวิทยาศาสตร์มาช่วยงานสอบสวน และระบบโทษที่มีการนำเอาคนไปเข้าคุกจนล้นคุกไม่เกิดประโยชน์ จะมีวิธีการทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ ข้อเสนอทั้งหมดเราจะนำไปวิเคราะห์เพื่อจัดทำแผนครั้งสุดท้ายเพื่อเสนอกรรมการยุทธศาสตร์ภายในวันที่ 24 ธันวาคม

เมื่อถามถึงแนวคิดของคณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมมีแนวทางเห็นควรด้วยที่อัยการจะเข้ามาร่วมสอบในคดีสำคัญหรือมีอัตราโทษสูงหรือไม่ นายอัชพร กล่าวว่า ใช่ เราวางไว้อย่างนั้น เรามีแผนและกำหนดให้มีการดำเนินการแบบนี้แต่ข้อยุติอย่างไรนั้นต้องเป็นสิ่งที่เราทำงานกันหลังจากใช้บังคับ หน่วยงานงานที่เกี่ยวข้องกระทรวงยุติธรรม พวกนี้จะต้องเข้ามาคุยกันว่าระบบของงานสอบสวนที่ให้มีการร่วมกันหลายๆฝ่ายจะมีประเภทคดีอะไรบ้าง รายละเอียดที่ทำกันต่อไปหลังจากแผนใช้บังคับแล้ว

เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้ที่นายกรัฐมนตรีเคยพูดเรื่องการปฎิรูปกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เรื่องนี้จะสามารถปฎิรูปดีเอสไอไปในแนวทางใด นายอัชพร กล่าวว่า เมื่อ2วันที่แล้วได้เชิญกระทรวงยุติธรรมมา มีปลัดกระทรวงยุติธรรม มีผู้แทนดีเอสไอมา โดยกระทรวงยุติธรรมรับไปดูและคงมีการนำมาคุยกับคณะกรรมการต่อว่า ดีเอสไอจะทำยังไงที่จะไม่ให้งานซ้ำซ้อนกับตำรวจ คดีอาจจะต้องชัดเจนมากขึ้นการดำเนินงานอาจต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านแท้จริง อย่างที่เคยมีการให้ข่าวทางตำรวจว่าต่อไปจะต้องมีการใช้พนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ตำรวจจะทำหน้าที่ปราบปรามอาชญากรรมทั่วไป

Advertisement

ด้านพล.ต.ท.อำนวย กล่าวว่า การรัฐประหารครั้งที่แล้วๆมามีการมองว่าเป็นการทำรัฐประหารเสร็จแล้วก็ปล่อย ไม่ได้มีการแก้ปัญหาแบบแท้จริง ประชาธิปไตยเหมือนการขี่จักรยานที่ขี่ไม่แข็งก็ปล่อยให้ขี่ต่อไป แต่การทำรัฐประหารครั้งนี้เหมือนการยึดจักรยานมาไว้ให้ขี่แข็งก่อนแล้วค่อยปล่อยต่อไป เป็นการนำปัญหาที่มีมายาวนานมาเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ตนมีประสบการณ์ตรงในเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นม็อบเหลืองแดง หรือ กปปส. ที่ล้วนแต่เคยไปปิดล้อม บช.น. เพราะเขาเข้าใจว่ากระบวนการยุติธรรมต้นน้ำคือตำรวจมักจะเข้าข้างหรือปฏิบัติตามนโยบายของผู้มีอำนาจในแต่ละยุค ทางคณะกรรมการปฎิรูปจึงมีเป้าหมายที่ต้องทลายกำแพง เพราะในกระบวนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ที่เด่นชัดและมีคณะกรรมการปฎิรูปแยกออกไปคือ ตำรวจ เรียกได้ว่าหาก ปฎิรูปตำรวจได้ ถือว่าเสร็จสิ้นไปครึ่งหนึ่งของการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยเรามีการเปิดรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะเป็น ศาล ป.ป.ช. ปปง. และอีกไม่นานก็จะเปิดรับฟังตำรวจในช่วงสัปดาห์หน้า อย่างเมื่อเร็วๆนี้มีการมายื่น 3 หมื่นรายชื่อในเรื่องการปล่อยชั่วคราวโดยไม่ใช้หลักประกันที่สภา เราได้นำเรื่องนี้มาศึกษาและผ่านขั้นตอนลงในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอันเป็นส่วนหนึ่งในการปฎิรูปประเทศด้วย

พล.ต.ท.อำนวย กล่าวต่อว่า ที่หลายคนมองว่า การปฏิรูปการสอบสวน และการปฏิรูปตำรวจจะมาปฎิรูปซ้ำซ้อนกันอีกทำไม มองว่าในเรื่องนี้ ตำรวจ ดีเอสไอ ป.ป.ช. เป็นพนักงานสอบสวน ซึ่งก็ใช่เหมือนกันหมด ต่อไปตำรวจควรจะมีหน้าที่เฉพาะคือดูแลประชาชน และให้อัยการร่วมสอบสวนในคดีบางประเภท หน่วยงานไหนที่ไม่ใช่ภารกิจของตำรวจไม่ว่าจะเป็น จราจร ป่าไม้ จะกระจายไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปัญหาตำรวจไม่รับแจ้งความจะไม่มี ต่อไปต้องแจ้งความนอกท้องที่ได้ และทุกโรงพักจะมีทนายความไปประจำ และรายที่ไม่มีทุนทรัพย์จะได้มีทนายช่วยเหลือ

“ต่อไปคดีแบบครูจอมทรัพย์ หรือเรื่องที่อยู่ๆตับไต ไส้พุงหาย ที่มีการนำไปโดยไม่บอกเจ้าของจะทำได้หรือไม่ต่อไป”พล.ต.ท.อำนวยกล่าว

Advertisement

ส่วนรต.ถวัลย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราได้สรุปประเด็นเรื่องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เป็น 10 ข้อ 1.การกำหนดระยะการดำเนินงานกระบวนการยุติธรรมให้ชัดเจน 2.การสร้างกลไกให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม 3.สร้างกลไกเพื่อให้มีการบังคับใช้ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เช่น การปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในคดีอาญาโดยใช้ระบบประเมินความเสี่ยงและการใช้เครื่องมือควบคู่4.สร้างกลไกเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างเคร่งครัด และปลอดภัยในสังคม มีการกำหนดทางอาญาให้เหมาะสมกับมีการตั้งศาลพาณิชย์ ขึ้นอีกจากที่มีศาลแพ่ง 5.ปรับปรุงระบบการสอบสวน ให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับอัยการ

6.การปรับปรุงระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการสอบสวน เพื่อไม่ให้คดีขาดอายุความ 7.การสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและอัยการในการสอบสวนคดีอาญา 8.การปฏิรูประบบนิติวิทยาศาสตร์ 9.เสริมสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมให้อำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนอย่างสะดวกและรวดเร็ว และ 10. พัฒนาประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ ในส่วนที่อยากจะเสริมคือในส่วนของทนายความที่ตนมีหน้าที่อยู่จะมีการพัฒนาจัดปรับปรุงหลักสูตรทนายอาสาตามศาลที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลือประชาชน หรือทนายที่ว่าความเกี่ยวกับเด็กที่มีการอบรมไปแล้ว

ด้าน นายชาญณรงค์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราพูดเรื่องการปฎิรูปมาตลอด การปฏิรูปต้องมีการใช้ปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นงบประมาณหรือโอกาส แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดโอกาสให้เราได้ปฎิรูปได้โดยไม่มีข้อจำกัด เราจึงพยายามแตกกิจกรรมในการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมให้ได้มากที่สุด นับ100 กิจกรรม แต่แม้จะมีการเปิดกฎหมายช่องทางให้เราปฏิรูปได้อย่างเต็มที่และมีอำนาจ แต่เชื่อว่าเราจะปฏิรูปไม่ได้ ถ้าไม่ได้ความร่วมมือจากทุกฝ่าย อย่างเรื่องการแจ้งความร้องทุกข์ที่ผู้เสียหายไม่มีโอกาสได้รับรู้ทั้งที่บางทีอาจติดเรื่องเทคนิคตำรวจอาจตกเป็นจำเลยไป ต่อไปควรต้องมีกระบวนการที่สามารถตรวจสอบ หรือต่อไปอาจมีระบบรายงานความคืบหน้าทางคดีได้ หรือการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของพยานที่ไม่ได้มีส่วนเสียในคดี แต่ถูกปฏิบัติเหมือนเป็นวัตถุชิ้นหนึ่งออกหมายเรียกก็ต้องมา ไม่มาก็ออกหมายจับให้มา ตรงนี้ต้องให้ความเคารพในศักด์ศรีของพยาน หรือข้อพิพาททางแพ่ง จริงๆแล้วอาจมีการรับภาระหนักกว่าอาญาเพราะไม่มีตำรวจ อัยการ หรือศาล คดีแพ่งนี้จำเป็นต้องพึ่งทนาย เราจะนำเรื่องไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องเข้ามาให้ความสำคัญขึ้น ส่วนเรื่องหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวที่เราใช้กันมานานแล้วตรงนี้เป็นช่องว่าง แต่เราต้องใช้ แต่ตอนนี้เราได้มีการนำระบบประเมินความเสี่ยงเข้ามาช่วยซึ่งต้องใช้งบประมาณ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับวันนี้คณะกรรมการปฎิรูปมีการเปิดกลุ่มย่อยรับฟังความคิดเห็น ใน 3 ประเด็น คือ 1.การกำหนดระยะการดำเนินงานกระบวนการยุติธรรมให้ชัดเจน 2.การสร้างกลไกให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และ3.สร้างกลไกเพื่อให้มีการบังคับใช้ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เช่น การปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในคดีอาญาโดยใช้ระบบประเมินความเสี่ยงและการใช้เครื่องมือควบคู่ ส่วนประเด็นอื่นจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นในครั้งต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image