‘รองโฆษกอัยการ’ แจงข้อกฎหมาย อัยการภูเก็ตสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทำร้าย ‘รปภ.สวนงูภูเก็ต’

นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง

จากกรณีนางยุพิน ไชยทองงาม มารดาของนายอนุชิต ไชยทองงาม อายุ 29 ปี รปภ.บริษัท ภูเก็ตเฮลตี้นูทรีเมนต์ จำกัด ถูกทำร้ายจนพิการ จากเหตุการณ์คนร้ายลอบวางเพลิง บริษัทภูเก็ตเฮลตี้ นูทรีเมนต์ จำกัด หรือ “สวนงูภูเก็ต” เมื่อเดือนเมษายน 2555 ในท้องที่ สภ.ฉลอง จ.ภูเก็ต จะร้องขอความเป็นธรรมกับนายกรัฐมนตรี เพื่อทวงถามความยุติธรรม ที่พนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ต มีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวชี้แจงว่า การทำงานของอัยการ เป็นไปตามหลักที่บัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กรณีความผิดเกิดขึ้นในราชอาณาจักรนั้นตามหลักพนักงานอัยการไม่มีอำนาจสอบสวนคดีอาญาได้เอง อัยการมีอำนาจหน้าที่พิจารณาสำนวนการสอบสวน ที่พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนแล้วส่งสำนวนมาให้พนักงานอัยการ ตามป.วิ.อาญา มาตรา 141 หรือมาตรา 142 เท่านั้น หากพนักงานอัยการ เห็นว่าสำนวนการสอบสวนยังขาดตกบกพร่องในเรื่องใดๆ ก็มีอำนาจสั่ง ให้พนักงานสอบสวน ทำการสอบสวนเพิ่มเติม หรือสั่งให้ส่งพยานคนใดมาให้ซักถามเพื่อใช้ในการสั่งคดีต่อไปเท่านั้น ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 143 วรรคสอง (ก)

นายโกศลวัฒน์ กล่าวต่อว่า การที่พนักงานอัยการไม่ได้ทราบข้อเท็จจริงตั้งแต่ต้นขณะเกิดเหตุ เป็นปัญหาอุปสรรคหนึ่งในการอำนวยความยุติธรรม เนื่องจากบางกรณีอาจหลงลืม หรือไม่รอบคอบในการรวบรวมพยานหลักฐานทำให้พยานหลักฐานที่สำคัญในการพิสูจน์ความผิด หรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาหรือจำเลยสูญหายไป เช่น กรณีคนร้ายลักทรัพย์แต่กลับไม่มีการตรวจสอบหรือขอภาพเคลื่อนไหวจากล้องวงจรปิด เมื่อส่งสำนวนมาพนักงานอัยการจะสั่งให้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดบริเวณที่เกิดเหตุ จะได้รับผลการสอบสวนเพิ่มเติมจากพนักงานสอบสวนว่าไม่สามารถนำภาพกล้องวงจรปิดมาส่งให้ได้เนื่องจากระบบกล้องมีการบันทึกภาพทับไป หรือระยะเวลาจัดเก็บมีเพียงกำหนด2เดือนนับแต่วันที่มีการบันทึก เป็นต้น

นายโกศลวัฒน์ กล่าวอีกว่า เนื่องจากระบบวิธีพิจารณาความอาญาในประเทศไทยใช้ระบบกล่าวหา จําเลยจะได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าโจทก์จะสามารถแสดงพยานหลักฐานพิสูจน์ต่อศาลได้ว่าจําเลยเป็นผู้กระทําความผิดจริงตามข้อกล่าวหา โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ ซึ่งโจทก์มีหน้าที่นำสืบให้เห็นโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด หากยังมีข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดจริงหรือไม่ ป.วิ.อาญา มาตรา 227 วรรคสองระบุว่า เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย โดยสำนวนที่พนักงานสอบสวนส่งมาให้พนักงานอัยการพิจารณานั้น อาจมีทั้งสำนวนที่เห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาและสำนวนที่เห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา แต่ในการพิจารณาคดีชั้นพนักงานอัยการนั้น พนักงานอัยการจะไม่ใช้หลักยกประโยชน์แห่งความสงสัย เนื่องจากว่าหากพนักงานอัยการเห็นว่าพยานหลักฐานยังไม่ครบ หรือไม่เพียงพอ จะต้องสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมตามประเด็นที่พนักงานอัยการเห็นว่ายังขาดอยู่

Advertisement

“หากพยานหลักฐานที่จะสนับสนุนให้เห็นว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำความผิดนั้นไม่มีอยู่เลยในสำนวนการสอบสวนและไม่อาจที่จะขวนขวายหามาได้ ย่อมที่จะไม่มีพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหา เช่นนี้พนักงานอัยการ ก็ย่อมที่จะมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหารายดังกล่าวตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 143 และเมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาแล้ว กระบวนการที่จะดำเนินการต่อสำนวนดังกล่าวจะเป็นไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 145 หรือมาตรา 145/1 ที่ว่า หากคำสั่งไม่ฟ้องนั้นไม่ใช่คำสั่งของอัยการสูงสุด ถ้าในกรุงเทพฯ ให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งเสนอ ผบ.ตร. รอง ผบ.ตร.หรือผู้ช่วยผบ.ตร. ถ้าในจังหวัดอื่นให้รีบเสนอผู้บัญชาการ(ผบช.ปหรือรองผู้บัญชาการ(รองผบช.)เป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ หากพนักงานสอบสวนเป็นพนักงานฝ่ายปกครองในต่างจังหวัดต้องส่งสำนวนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ในกรณีที่เห็นแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ ให้ส่งสำนวนพร้อมกับความเห็นแย้งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาด โดยการตรวจสอบตามมาตรา 145 หรือมาตรา 145/1นี้ จะใช้ในกรณีที่พนักงานอัยการจะไม่อุทธรณ์ ฎีกา หรือถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์และถอนฎีกา” นายโกศลวัฒน์กล่าว

นายโกศลวัฒน์ กล่าวด้วยว่า แม้พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องแต่คดีจะยังไม่สิ้นสุด กฎหมายให้ตรวจสอบคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการดังกล่าว โดยเจ้าพนักงานตำรวจหรือฝ่ายปกครอง ซึ่งคดีที่อัยการจังหวัดภูเก็ต มีคำสั่งไม่ฟ้องกรณีตามข่าวนั้นเนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ โดยขณะนี้ยังไม่สามารถระบุรายละเอียดได้เพราะกระบวนการยังไม่สิ้นสุด เนื่องจากยังต้องส่งสำนวนไปยังผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 (ผบช.ภ.? เพื่อพิจารณาว่าจะเห็นด้วยกับคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการหรือไม่ หากไม่เห็นด้วยกับคำสั่งไม่ฟ้อง ผบช.ภ.8 ก็สามารถมีความเห็นแย้ง กระบวนการจะดำเนินการไปสู่อัยการสูงสุดชี้ขาดว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้องต่อไป อย่างไรก็ตามการที่อัยการจังหวัดภูเก็ต มีคำสั่งไม่ฟ้องนั้น ก็ไม่ตัดสิทธิฝ่ายผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีเองได้ ตามป.วิ.อาญา มาตรา 34

“ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่า คุณแม่ของ รปภ. ซึ่งถูกทำร้าย ต้องการที่จะร้องขอความเป็นธรรม สำนักงานอัยการสูงสุดยินดีที่จะรับเรื่องร้องเรียน และพิจารณาให้โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ จะเป็นการเปลืองค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยขอให้ส่งไปรษณีย์มาได้ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ งานโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดยินดีติดตามเรื่องให้” นายโกศลวัฒน์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image