สารพัด ‘กลลวง’ แก๊งคอลเซ็นเตอร์

ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ออกอาละวาดหลอกลวงประชาชนด้วยวิธีการโทรศัพท์เข้าไปยังมือถือของประชาชนนั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ด้วยสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้กลุ่มแก๊งได้พัฒนาวิธีการใหม่ ในการหลอกลวง เช่น การแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ ปปง.หลอกลวงผู้เสียหายว่าถูกอายัดบัญชีเพราะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดยาเสพติด หรือเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินแล้วหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงิน จนตกเป็นเหยื่อมาแล้วหลายราย บางคนสูญเงินหลายสิบล้านบาท

ปัจจุบันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ก่อเหตุไปทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะที่ จ.ลำปาง เป็นเป้าหมายพิเศษที่มักจะมีข่าวเกิดขึ้นประจำ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

เริ่มแรกจากเกษตรกร อ.ห้างฉัตร จ.ลำปางได้รับสายโทรศัพท์แปลกๆ สายหนึ่ง เป็นหมายเลขนำหน้า 0-2xxx-xxxx และบอกว่า โทรมาจากกองบังคับการปราบปราม กรุงเทพมหานคร ระบุว่า “คุณมีบัญชีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทางเราได้ตรวจสอบพบ จะมีการอายัดเงินในบัญชีทั้งหมดของคุณไว้ หากต้องการแสดงความบริสุทธิ์ใจ ให้รีบไปยังตู้เอทีเอ็มแล้วโอนเงินทั้งหมดในบัญชีนั้นกลับมาหาเรา เพื่อทำการตรวจสอบŽ”

เกษตรกรที่รับสายดังกล่าวไม่รอช้า รีบไปยังตู้เอทีเอ็มของธนาคารแห่งหนึ่งในตัว อ.ห้างฉัตร เร่งรีบทำรายการหน้าตู้ท่ามกลางการเร่งรัดของต้นสายที่โทรสอบถามตลอดเวลา ด้วยความที่ไม่รู้ ความกลัวอย่างมาก จึงรีบกดรหัส และโอนเงินกลับไปทันที ทำให้สูญเงินไปกว่า 200,000 บาท มารู้ตัวอีกทีก็สายเกินไปเสียแล้ว เมื่อหมายเลขที่โทรเข้ามานั้นกลับโทรติดต่อไม่ได้อีกเลย

Advertisement

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเริ่มเป็นข่าวใน จ.ลำปาง แต่ไม่โด่งดังมากพอที่จะทำให้คนทั้งจังหวัดรับรู้ถึงพฤติกรรมที่ยังเกิดขึ้นรายต่อมา คนในพื้นที่ จ.ลำปาง เสียรู้อีกราย เป็นหญิงสูงวัยชาว อ.เมือง จ.ลำปาง อดีตข้าราชการเจอในทำนองเดียว รับสายโทรศัพท์ บังเอิญยืนใช้บริการอยู่หน้าตู้เอทีเอ็ม หญิงสูงวัยรายนี้ทำตามคำสั่งรีบกดเงินโอนเงินเกือบ 100,000 บาทอย่างง่ายดาย จากนั้นมาก็ปรากฏว่าข่าวชาวลำปางถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรศัพท์เข้ามาหลอกอีกจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งใน จ.ลำปาง เมื่อหลายปีก่อนเคยได้รับโทรศัพท์ เป็นหมายเลข 0-2xxx-xxxx จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ปลายสายที่โทรมาเป็นผู้หญิงบอกว่า ตัวนักข่าวเป็นหนี้บัตรเครดิตธนาคารแห่งหนึ่ง วงเงิน 60,000 บาท หลังไปรูดซื้อของที่ห้างดังย่านบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ผู้สื่อข่าวได้ปฏิเสธไป แต่ผู้หญิงคนที่โทรมาก็วางหูไป สักพักก็มีผู้ชายอ้างตัวเป็นตำรวจยศ ร.ต.อ. จากกองบังคับการปราบปราม โทรมาอีกรอบบอกว่า เงินบัญชีกำลังจะถูกอายัด ต้องไปทำรายการที่ตู้เอทีเอ็มโดยด่วน แต่ทว่าผู้สื่อข่าวรู้ทันจึงต้องการจะทดสอบไปยังตู้เอทีเอ็ม ก่อนที่ชายคนดังกล่าวจะบอกให้ทำรายการเป็นเมนูภาษาอังกฤษ แล้วกดรหัส แจ้งว่าเป็นรหัสลับ เพื่อปลดล็อกการอายัดบัญชี

“จากนั้นพยายามหลอกให้โอนเงินเกือบ 50,000 บาท แต่ผู้สื่อข่าวรู้ทันจึงโอนไป 10 บาท ก่อนที่ชายคนดังกล่าวจะเช็กบัญชีทันทีว่ามีเงินโอนเข้า 10 บาท เท่านั้นได้รีบวางสายไปเพราะรู้ว่ากำลังถูกหลอกถามข้อมูลกลับ เมื่อตรวจสอบบัญชีที่โอนเงินเป็นบัญชีธนาคารกรุงเทพ สาขาเหม่งจ๋าย ชื่อบัญชีเป็นคนไทย เมื่อตรวจสอบทำให้ทราบว่า เป็นบัญชีที่ถูกนำไปใช้หลอกลวง ในแต่ละวันจะมีคนถูกหลอก โอนเงินเข้าบัญชีวันละมากกว่า 30,000-60,000 บาทŽ”

Advertisement

ที่ผ่านมาจะมีผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อ แต่ไม่สามารถติดตามจับกุมตัวหรือตามเงินที่ประชาชนต้องเสียรู้กลับคืนมาได้ การตามหาแหล่งต้นตอของที่มาปลายสายกระทำได้ยาก ทำแก๊งคอลเซ็นเตอร์ย่ามใจก่อเหตุเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงนี้จะดูเหมือนว่า จ.ลำปาง เป็นเป้าหมายที่สำคัญหวังเอาเงิน

ล่าสุด หญิงสาวชาว อ.เมืองลำปาง อายุ 28 ปี มีเงินอยู่ในบัญชีธนาคารกว่า 100,000 บาท เกือบสูญเงินออมก้อนดังกล่าวไป โชคดีขณะกำลังทำรายการหน้าตู้เอทีเอ็ม โอนเงินทั้งหมดไปให้กลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ มีตำรวจ สภ.เมืองลำปาง เดินเข้ามาหน้าตู้พอดี ทำให้หญิงสาวรายนี้สอบถามจนรู้ว่าตัวเองกำลังถูกหลอก แต่พยายามกดปุ่มหน้าตู้จึงเผลอโอนกลับไปให้กลุ่มแก๊งเพียง 1.11 บาทเท่านั้น

ถือว่าเป็นผู้โชคดี 1 ใน 100 คน หรือจะ 1 ในแสน ที่รอดมาได้

พ.ต.อ.กฤษดา พันธ์เกษม ผู้กำกับการ สภ.เมืองลำปาง ฝากเตือนประชาชนว่า ที่ผ่านมามักจะมีคดีประชาชนถูกหลอก เพื่อหวังเอาทรัพย์สิน โดยเฉพาะเงินมาหลายราย ทั้งการแฮกเฟซบุ๊กแล้วปลอมตัวเป็นผู้ใช้ แล้วส่งข้อความในอินบ็อกซ์ เพื่อขอให้เพื่อนใน
เฟซบุ๊กโอนเงินเข้ามา ลักษณะการพูดจาขอให้ช่วยเหลือ เมื่อประชาชนไม่รู้ถึงเล่ห์เหลี่ยมก็จะตกเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว คดีแบบนี้ในช่วงแรกนั้น มีผู้เสียหายทั้งผู้ที่ถูกแฮกและปลอมเฟซบุ๊ก รวมถึงผู้ที่โอนเงินให้กลุ่มมิจฉาชีพต่างเข้ามาแจ้งความร้องทุกข์กันหลายราย เมื่อมีข่าวการแจ้งเตือนออกไป ประชาชนก็รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมดังกล่าว

“รวมถึงการโทรศัพท์เข้ามือถือ เพื่อหลอกประชาชนของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ขณะนี้ถือว่าเป็นภัยสังคมที่เข้าไปก่อเหตุถึงตัวประชาชนอย่างมาก การโทรเข้าไปหลอกนั้นจะเป็นลักษณะการโทรแบบสุ่มไปทั่ว เมื่อคนที่ไม่รู้ว่าขณะนี้กำลังมีภัยดังกล่าวเกิดขึ้นก็จะต้องตกเป็นเหยื่อดังกล่าว จึงขอให้ประชาชนช่วยเตือนกันให้ทุกคนระวัง จะได้ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อภัยดังกล่าว ส่วนกรณีพบรายชื่อเจ้าของบัญชีธนาคารเป็นชายชาว อ.เมือง จ.ลำปาง พัวพันแก๊งคอลเซ็นเตอร์นั้น และมีการนำตัวมาสอบสวน พบว่าถูกจ้างด้วยเงิน 1,000 บาทเพื่อเปิดบัญชี ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จะมีการสืบสวนเพื่อติดตามกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มาว่าจ้างให้คนเปิดบัญชีธนาคาร เชื่อว่าเป็นขบวนการใหญ่ ที่แฝงตัวอยู่ในพื้นที่ จ.ลำปางŽ” ผกก.สภ.เมืองลำปางกล่าว

เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งกลวิธีของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ประชาชนต้องรู้เท่าทัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image