ตม.ชี้แจงครอบครัว ชาวซิมบาบเว ใช้ชีวิตในสนามบินสุวรรณภูมิ กำลังขอลี้ภัยรอผลUN

สืบเนื่องจากกรณีมีผู้ใช้เฟสบุค โพสรูปจนเกิดเป็นกระแสกรณีพบเด็กชาวซิมบาบเว ตกค้างอยู่ในสนามบินนานเกือบ 3 เดือน ดังที่เป็นข่าวทางสื่อต่างๆนั้น

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวได้สอบถามทาง พ.ต.อ.เชิงรณ ริมผดี รอง ผบก.ตม.2 ในฐานะรองโฆษก สตม.และโฆษก บก.ตม.2 แจ้งว่าได้ตรวจสอบเรื่องนี้แล้วพบว่า เป็นกรณีที่ นาย Muvadi Rodrick พร้อมครอบครัวชาวซิมบาบเว เป็นผู้ใหญ่ 4 คน (ชาย 2 หญิง 2) และเด็กจำนวน 4 คน (ชาย 3 หญิง 1 ) วัยตั้งแต่ 2 ,6,7 และ 11 ขวบ เป็นชาวต่างชาติที่อยู่ในการดูแลของสายการบิน ในเขตอาคารผู้โดยสาร ชั้นใน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

จากการตรวจสอบ ทราบว่า ชาวต่างชาติกลุ่มดังกล่าว เดินทางเข้าประเทศไทยช่วง เดือนพฤษภาคม 2560 ด้วยวีซ่านักท่องเที่ยว และต่อมาได้มาขอเดินทางออกที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อ วันที่ 23 ตุลาคม 2560 โดยสารการบินยูเครน เพื่อเดินทางไปเมืองบาเซโลนา ประเทศสเปน ซึ่งต้องแวะผ่านลำที่เมืองเคียฟ ประเทศยูเครน ซึ่งทางสายการบินพบว่า ผู้โดยสารกลุ่มดังกล่าวไม่มีวีซ่าเข้าประเทศสเปน จึงปฏิเสธการขึ้นเครื่อง และสายการบินได้พาคนต่างชาติกลุ่มนี้มาพบเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เพื่อยกเลิกการเดินทาง แต่พบว่าผู้โดยสารกลุ่มดังกล่าวมีสถานะอยู่เกินกำหนด over stay ในไทยถึง 5 เดือน โดยเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินคดีและเปรียบเทียบปรับแล้วไม่สามารถให้กลับเข้าประเทศได้ จึงได้ดำเนินการตามกฏหมายคนเข้าเมือง ให้สายการบินยูเครน รับตัวผู้โดยสารดังกล่าว กลับประเทศ ซิมบาบเว ซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดแต่ปรากฏว่า ทางผู้โดยสาร ไม่ยินยอมเดินทางกลับซิมบาบเว

เนื่องจากเกรงอันตรายจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศ ต่อมาในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 กลุ่มผู้โดยสารนี้ได้ซื้อตั๋วเดินทางไปยังประเทศมอลนิโทเรีย โดยผ่านประเทศยูเครน -สเปน-มอนนิโทเรีย เมื่อกลุ่มผู้โดยสารนี้ได้ขึ้นเครื่องจากสุวรรณภูมิ ไปถึงประเทศยูเครนแล้ว แต่ไม่สามารถเดินทางต่อจากประเทศยูเครนไปยังสเปนได้ ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560  ผู้โดยสารกลุ่มนี้จึงได้ถูกส่งตัวจากยูเครนกลับมายังสุวรรณภูมิโดยกลุ่มผู้โดยสารนี้ยังคงอยู่ในการดูแลของสายการบิน

Advertisement

จากนั้นทางผู้โดยสารได้ยื่นเรื่องขอลี้ภัยไปยัง UN และทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้รับสำเนาหนังสือของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่ง สหประชาชาติในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ถึง อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ มีใจความสำคัญสรุปว่า กลุ่มชาวต่างชาติดังกล่าว เป็นผู้ที่ได้รับการลงทะเบียนผู้แสวงหาที่ลี้ภัย และมีความเสี่ยงประสบภัยในประเทศมาตุภูมิ ซึ่งทาง UN กำลังดำเนินการในขั้นตอนผู้ลี้ภัยอยู่ โดยยังคงอยู่ในการดูแลของสายการบินเยี่ยงผู้โดยสารปกติ และไม่ได้ควบคุมในห้อง Detention room ของสายการบินเช่นเดียวกับชาวต่างชาติที่ถูกปฏิเสธผลักดันกลับประเทศแต่อย่างใด

จากการติดตามความคืบหน้า ทราบว่า ทาง UN ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแล สัมภาษณ์ เพื่อดำเนินการตามกระบวนการผู้ลี้ภัย โดยคงจะมีการหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปตามหลักมนุษยธรรมต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image