รายงาน : เปิดแผนปฏิรูป “ยุติธรรม”ถ่วงดุล “พนง.สส.-อัยการ”

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ที่มี นายอัชพร จารุจินดา เป็นประธาน ได้จัดทำแผนการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (พ.ศ.2561-2564) บนพื้นฐานของยุทธศาสตร์ชาติ

โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมในทุกขั้นตอนของการทำแผนอย่างกว้างขวาง เพื่อร่วมกันกำหนดประเด็นการปฏิรูปและทิศทางการพัฒนากระบวนการยุติธรรมโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

โดยประเด็นที่น่าสนใจและถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงก่อนหน้านี้ อาทิ การปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญา เพื่อให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม

สร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการนั้น พบว่าแผนการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการ ยุติธรรมได้วางเป้าหมาย คือ

Advertisement

1.การสอบสวนคดีอาญามีความสมบูรณ์ ถูกต้อง โปร่งใส

2.ผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีได้รับความยุติธรรมและหลักประกันการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพอย่างแท้จริง

กำหนดกรอบระยะเวลาในการดำเนินการ พ.ศ.2561-2564 โดยมี ตัวชี้วัด

Advertisement

1) ร้อยละของคดีที่พนักงานอัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหาและศาลมีคำพิพากษาลงโทษ ในคดีที่มีการสอบสวนร่วมกัน

2) จำนวนของคดีที่ถูกรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ในคดีที่มีการสอบสวนร่วมกัน

3) ร้อยละของคดีที่ศาลสั่งยกฟ้องโดยมีความเห็นว่าผู้ต้องหาไม่มีความผิด ในคดีที่มีการสอบสวนร่วมกัน

4) ร้อยละของคดีที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษ ในคดีที่มีการกันผู้ร่วมกระทำผิด เป็นพยาน

5) ระดับความพึงพอใจของผู้เสียหาย ผู้ต้องหา และผู้เกี่ยวข้องในคดีต่อประสิทธิภาพการสอบสวนของพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวน ในคดีที่มีการสอบสวนร่วมกัน

6) จำนวนข้อร้องเรียนของผู้เสียหาย ผู้ต้องหา และผู้เกี่ยวข้องในคดีต่อการสอบสวนที่ไม่เป็นธรรม ไม่ถูกต้อง และล่าช้า ในคดีที่มีการสอบสวนร่วมกัน

ทั้งนี้ มีข้อเสนอแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อรองรับการดำเนินการ

1.พัฒนาและแก้ไขกฎหมาย กฎ และระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดประเภทหรือลักษณะคดีที่จะมีการสอบสวนร่วมกันระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการ และเพื่อกำหนดวิธีการทำงานร่วมกัน รวมทั้งเงื่อนไขขั้นตอนและการปฏิบัติระหว่างพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าว

1.1 แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ลักษณะ 2 การสอบสวนหมวด 1 การสอบสวนสามัญ ในประเด็นดังนี้

1.1.1. กำหนดประเภทหรือลักษณะคดีที่ให้พนักงานอัยการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวน กำหนดวิธีการทำงานร่วมกัน รวมทั้ง เงื่อนไข ขั้นตอน และการปฏิบัติระหว่างพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าว

1.1.2 กำหนดให้มีพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในสำนวนการสอบสวนดังกล่าว

1.1.3 กำหนดให้มีวิธีการทำงานร่วมกัน และการบูรณาการในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการร่วมสอบสวนคดีอาญาของพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวน โดยให้เป็นไปตามกฎ หรือระเบียบ ในการสอบสวนร่วมของพนักงานอัยการกับพนักงานสอบสวน

1.2 สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนคดีอาญา แก้ไขปรับปรุง กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง

1.3 พัฒนาการบูรณาการร่วมสอบสวนอาญาของพนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน และพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานสอบสวนของหน่วยงานอื่นเกี่ยวข้อง ดังนี้

1.3.1 จัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนด วิธีการและแนวทางการปฏิบัติงานการสอบสวนร่วมกัน

2.บัญญัติให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการกันผู้ร่วมกระทำความผิดเป็นพยาน และให้เป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวน ทั้งให้ครอบคลุมการปฏิบัติต่อพยานตั้งแต่ต้นจนจบคดี โดยมีเนื้อหากำหนด หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการในการกันผู้ร่วมกระทำความผิดเป็นพยาน

2.1 แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ลักษณะ 2 การสอบสวนหมวด 1 การสอบสวนสามัญ ในประเด็นดังนี้

2.1.1 กำหนดหลักการให้มีการกันผู้ร่วมกระทำความผิดเป็นพยานในคดีอาญา โดยให้เป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวน

2.1.2 กำหนดให้การปฏิบัติต่อพยานตั้งแต่ต้นถึงคดีเสร็จการพิจารณาเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการตาม กฎ หรือระเบียบ ซึ่งออกตามความในกฎหมายดังกล่าว

2.1.3 กำหนดให้การกันผู้ร่วมกระทำความผิดเป็นพยานในคดีอาญา เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการตาม กฎ หรือระเบียบ ซึ่งออกตามความในกฎหมายดังกล่าว

3.ปรับปรุงให้มีระบบหรือกลไกในการเร่งรัดติดตามการส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติม และอำนาจของพนักงานอัยการในการสอบสวนเพิ่มเติม โดยให้สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันสร้างกลไกหรือกระบวนการดังกล่าว

3.1 ให้มีระบบหรือกลไกในการเร่งรัดติดตามการส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติม โดยให้สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันสร้างกลไกหรือกระบวนการดังกล่าว

3.2 แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อให้มีพนักงานอัยการมีอำนาจในการดำเนินการสอบ สวนเพิ่มเติมในกรณีพนักงานสอบสวนไม่สามารถส่งสำนวนการสอบสวนได้ภายในกำหนดระยะเวลาฟ้องคดี  เพื่อเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหา ในกรณีพนักงานสอบสวนไม่สามารถส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติมได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือในกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วน เช่น คดีจะขาดอายุความ หรืออาจเกิดความเสียหายต่อการดำเนินคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image