ศาลไต่สวน’จำนำข้าว’ ครั้งที่ 5 เรียก 3 บก.สื่อเตือนเสนอข่าวระมัดระวัง ส.บริหารหนี้สาธารณะ ระบุยอดค้างกว่า 4 แสนล.

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนพร้อมองค์คณะรวม 9 คน ไต่สวนพยานโจทก์ครั้งที่ 5 คดีโครงการรับจำนำข้าว ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท ก่อนเริ่มไต่สวน องค์คณะได้ให้สำนักงานศาลยุติธรรม เรียกบรรณาธิการ นสพ.แนวหน้า ผู้จัดการออนไลน์ และสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ มาทำความเข้าใจกรอบการนำเสนอข่าวด้วยความระมัดระวัง

ต่อมาศาลได้ไต่สวนพยานของอัยการ ที่นำพยานเบิกความเพียง 1 ปาก คือ น.ส.ศิรสา กันต์พิทยา อดีตรอง ผอ.สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ระบุว่า พยานปฏิบัติหน้าที่เรื่องบริหารหนี้จนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557 แล้วจึงถูกย้ายไปเป็นเลขาฯ กรมดูแลเรื่องพิธีการสำนักงานซึ่งไม่เกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน สำหรับโครงการจำนำข้าวจนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีหนี้คงค้าง จำนวน 401,756 ล้านบาท โดยในปี 2554-2555 มีหนี้โครงการจำนำอยู่ที่ 409,152 ล้านบาท ซึ่งยอดหนี้ดังกล่าวไม่รวมกับยอดหนี้เงินกู้ของ ธ.ก.ส. 90,000 ล้านบาท สำหรับการชำระหนี้ ครม.มีมติให้นำเงินจากการระบายข้าวมาชำระ แต่พยานไม่ทราบว่ามีกฎหมายใดที่จะรองรับสถานะเงินจากการระบายข้าวว่าเป็นรายรับที่นำมาให้ใช้ได้หรือไม่ ในส่วนของกระทรวงการคลังเสนอว่าเมื่อได้เงินจากการระบายข้าวให้ส่ง ธ.ก.ส. เพื่อนำไปชำระเงินกู้ต่อไป เพราะหากไม่ชำระก็จะเป็นภาระเงินงบประมาณ ขณะที่การดำเนินตามแผนโครงการจำนำข้าว เป็นไปตามมติ ครม.และได้บรรจุในแผนก่อหนี้สาธารณะที่ไม่ได้ชัดเจนว่าเป็นการจำนำข้าว แต่ระบุในแผนว่าเป็นโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตร ส่วนการกู้หนี้สาธารณะจะเป็นไปกรอบกฎหมายและประกาศนโยบายว่าด้วยหนี้สาธารณะ ซึ่งจะมีอายุของการชำระหนี้อยู่ที่ 2-4 ปี โดยการกำหนดกรอบเพื่อให้มีเวลาชัดเจนและไม่ให้มีหนี้คงค้าง ส่วนที่กระทรวงการคลัง ทำหนังสือถึง 6 ครั้ง เรื่องข้อเสนอในการกู้และชำระหนี้ถึง ครม.นั้น ยอมรับว่ามีบางเรื่องที่ ครม.ดำเนินการตาม แต่อีกหลายเรื่อง เช่นหลักการชำระหนี้ ไม่ทราบว่าได้ปฏิบัติหรือไม่

ขณะที่ช่วงท้าย อัยการโจทก์ ได้ซักถามถึงกรณีที่พยาน ถูกย้ายเนื่องจากไม่กู้เงินเพิ่มในโครงการใช่หรือไม่ และการที่หนี้คงค้างในโครงการไม่ลดลงมากแสดงว่ารัฐบาลไม่สามารถชำระหนี้ตามกรอบอายุเงินกู้หรือไม่ น.ส.ศิรสา ระบุว่า เนื่องจากมีข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีการยุบสภาในปี 2556 ตามหลักกฎหมายแล้วรัฐบาลไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันรัฐบาลอื่นได้อีก ดังนั้นจึงไม่ได้กู้เพิ่ม ส่วนการชำระหนี้จะมีเงิน 2 ส่วนคือเงินงบประมาณ และเงินระบายที่มาจากการระบายข้าว การที่หนี้คงค้างไม่ลดลง เพราะรัฐบาลนำเงินระบายข้าวมาใช้ต่อ ในการจำนำข้าวปี 2555-2556 ซึ่งทางปฏิบัติก็เป็นไปได้ยากหากจะมีการปรับโครงสร้างกว่า 400,000 ล้านบาทภายในครั้งเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image