เลขาฯศาล เผยศาลฎีกา พร้อมฟันองค์กรอิสระ หากละเมิดมาตรฐานจริยธรรม ตาม รธน.ใหม่ (คลิป)

เมื่อวันที่ 11กุมภาพันธ์ ที่หรรษา คาชัวรินา จังหวัดเพชรบุรี ในงานสัมนาสื่อมวลชนศาลยุติธรรม นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวบรรยายถึงเรื่องที่ ศาลรัฐธรรมนูญเเละองค์กรอิสระ, ผู้ว่าการตรวจเงินเเผ่นดินร่วมกันกำหนดมาตราฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเเละผู้ดำรงตำเเหน่งในองค์กรอิสระ รวมถึงผู้ว่าการตรวจเงินเเผ่นดินเเละหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญเเละองค์กรอิสระต้องยึดถือปฏิบัติ ว่า มาตราการดังกล่าวนั้นถูกบังคับไว้ในมาตรา219 ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องดำเนินการในการออกมาตราการนี้ภายใน 1 ปีตามรัฐธรรมนูญกำหนดมิ เช่นนั้นตุลาการเเละองค์กรอิสระที่อยู่ในบทบัญญัติจะต้องพ้นจากตำเเหน่ง ซึ่งทางศาลรัฐธรรมนูญได้ออกมาตราการดังกล่าวเเละประกาศราชกิจจานุเบกษา ในวันที่30มกราคม 2561 ซึ่งบุคคลที่จะอยู่ภายใต้มาตรฐานจริยธรรมดังกล่าว ประกอบด้วย ศาลรัฐธรรมนูญเเละองค์กรอิสระ คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), ผู้ตรวจการแผ่นดิน, กรรมการตรวจเงินแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งองค์การอิสระเหล่านี้ จะต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานจริยธรรมที่มีการกำหนดมาและนอกจากองค์กรอิสระเหล่านี้แล้ว คณะรัฐมนตรีซึ่งรวมถึง สส. สว. ก็จะตกอยู่ในมาตรฐานขอบเขตจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 219 วรรค 2 ซึ่งการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมนั้นบทลงโทษจะมีหมวดร้ายแรงและหมวดไม่ร้ายแรง ซึ่งในมาตรฐานจริยธรรมหมวด 1.ที่ว่าด้วยเรื่อง มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ ข้อ ในข้อ 7.ระบุถึงเรื่องต้องถือบทผลประโยชน์ของประเทศเหนือประโยชน์ส่วนตน ข้อ 8.ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตไม่แสวงหาผลประโยชน์มิชอบเพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือรู้เห็น ยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาผลประโยชน์มิชอบ หรือ ข้อ 9.ต้องไม่ขอเรียกร้บทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่และข้อ 10.เรื่องรับของขวัญ ของกำนัลเว้นแต่เป็นการให้โดยเสน่หา โดยธรรมจรรยาตามที่กฎหมายระเบียบบังคับที่ทำได้ ซึ่งในหมวดหมวด1 ที่ได้กล่าวมานั้นจะถือเป็นเรื่องผิดมาตราฐานจริยธรรมร้ายเเรง หากมีการละเมิด ส่วนหมวดที่ 2 และหมวดที่ 3 จะเป็นเรื่องค่านิยมหลักและจริยธรรมทั่วไป ก็จะต้องดูว่าพฤติกรรมของผู้ฝ่าฝืนเป็นอย่างไร มีเจตนาและความร้ายแรงอย่างไร ถ้าเป็นเสียหายร้ายแรงก็อาจจะเป็นเรื่องผิดจริยธรรมร้ายแรงได้

นายสราวุธกล่าวต่อว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 235 เรื่องฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอาจมีการร้องเรียนและ ป.ป.ช.จะเป็นผู้ไต่สวน ส่วนคนที่จะพิพากษาว่าใครฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง คือศาลฎีกา เเละเมื่อกฎหมายกำหนดให้ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณา ทางสำนักงานศาลยุติธรรมจึงได้เสนอร่างระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาพิพากษา คดีเกี่ยวกับกล่าวหาผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเเละผู้ดำรงตำเเหน่งในองค์กรอิสระฯ ฝ่าฝืนมาตราฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายเเรง ซึ่งในร่างระเบียบดังกล่าวมีหัวข้อที่สำคัญหลายเรื่อง เช่นเรื่อง การเสนอเรื่อง การพิจารณา และขั้นตอนในการออกคำสั่งต้องทำยังไงบ้าง ซึ่งหลายคนก็อาจสงสัยว่า หากศาลฎีกาไต่สวนแล้วผลจะเป็เช่นไร ซึ่งตรงนี้รัฐธรรมนูญมาตรา 202 (10) ว่าหากเป็นบุคคลที่มีการฝ่าฝืนมาตราฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงก็จะขาดคุณสมบัติและจะต้องพ้นจากตำแหน่ง

นายสราวุธกล่าวต่อว่า ในการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมบางครั้งอาจจะเข้าข่ายที่จะผิดตามกฎหมายอาญา ควบคู่ไปด้วยได้ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องว่าไปตามกฎหมายมีการดำเนินการเเยกกัน เช่น การปกปิดบัญชีทรัพย์สิน ร่ำรวยผิดปกติ ศาลยุติธรรมต้องขอชื่นชมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าสามารถออกมาตรฐานทางจริยธรรมภายในกรอบที่กำหนด ซึ่งต่อไปก็เป็นหน้าที่ของศาลฎีกาของสำนักงานศาลที่จะเสนอระเบียบต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ซึ่งเรามั่นใจว่าจะดำเนินการทัน โดยจะส่งเข้าที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาให้เร็วที่สุด

Advertisement

เมื่อถามว่าหากศาลฎีกาชี้ขาดเรื่องละเมิดมาตรฐานจริยธรรม จะอุทรณ์ได้หรือไม่ นายสราวุธกล่าวว่า ไม่สามารถอุทธรณ์ได้เนื่องจากมาตรา 235 กำหนดไว้ว่าให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณา ซึ่งการพิจารณาชี้ขาดก็คงต้องมีการตั้งองค์คณะขึ้นมา

เมื่อถามว่าหาก ป.ป.ช.เป็นผู้ฝ่าฝืนทางจริยธรรมใครจะเป็นผู้ไต่สวนคดีขึ้นสู่ศาลฎีกา นายสราวุธกล่าวว่า ก็ต้องมีการตั้งผู้ไต่สวนอิสระตามรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อไต่สวนเหมือนกรณีอดีต ป.ป.ช.เคยขึ้นเงินเดือนตัวเองก็มีคณะผู้ไต่สวนอิสระขึ้นมาดำเนินการเพื่อความเป็นธรรม

เมื่อถามต่ออีกว่า การตั้งผู้ไต่สวนอิสระนั้นจะต้องเริ่มเรื่องจากรัฐสภาก่อน ในความเป็นจริงจะทำให้การดำเนินการกับ ป.ป.ช.ที่กระทำผิดเป็นไปได้ยากกว่าองค์กรอื่นใช่หรือไม่ นายสราวุธกล่าวว่า สำหรับตนมองว่าไม่มีอะไรยาก เนื่องจากปัจจุบันสภาพสังคมมีระบบการตรวจสอบที่สูงมากในอดีตที่ผ่านมาก็พิสูจน์เเล้วว่าขึ้นเงินเดือนตัวเองก็ถูกเล่นงานได้

Advertisement

ถามต่อว่า ที่ผ่านมา ป.ป.ช.มีความเห็นทางคดีค้านสายตาประชาชน เราสามารถที่จะดำเนินการร้องเรียนเพื่อขอตั้งผู้ไต่สวนอิสระเกี่ยวกับความเห็นทางคดีของ ป.ป.ช.ได้หรือไม่ นายสราวุธ กล่าวว่า การร้องเรียนต้องมีหลักฐานปรากฎว่าสิ่งที่ ป.ป.ช.ดำเนินการนั้นฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่สุจริต จึงจะสามารถดำเนินการได้ เเต่การที่มีมาตราฐานจริยธรรมเราก็สามารถดูได้ว่ามีการฝ่าฝืนเงื่อนไขในข้อไหนก็อาจจะเข้าเงื่อนไขตรงนั้นได้ เเละรวดเร็วกว่าคดีอาญา ซึ่งหาก ป.ป.ช.ถูกดำเนินการเรื่องมาตรฐานจริยธรรมก็จะมีคณะผู้ไต่สวนอิสระซึ่งประธานศาลฎีกาเป็นผู้เเต่งตั้งทำหน้าที่ไต่สวนหาข้อเท็จจริงเเละทำความเห็นนำเรื่องขึ้นสู่ศาลฎีกา ซึ่งต่างจากในส่วนคดีอาญาที่จะต้องมีการเสนอผ่านรัฐสภาก่อน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image