‘อัยการ’ชี้ข้อกฎหมายรุกป่า เริ่มนับอายุความหลังถอนครอบครอง อายุความ15ปี

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะอาจารย์ผู้บรรยายกฎหมายในมหาวิทยาลัยของรัฐเเละเอกชน โพสต์เฟซบุ๊กความเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับข้อกฎหมายเรื่องอายุความฐานบุกรุกพื้นที่ป่า มีข้อความว่า “ข้อสังเกตเรื่องความแตกต่างของการนับอายุความการกระทำความผิดฐานบุกรุกพื้นที่ป่าและความผิดฐานบุกรุกที่ดินตามประมวลกฎหมายอาญา ผมขอให้ความเห็นส่วนตัวทางวิชาการเป็นข้อสังเกตเรื่องความแตกต่างของการนับอายุความ การกระทำความผิดฐานบุกรุกพื้นที่ป่าและความผิดฐานบุกรุกที่ดินตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนี้

“การเข้าไปบุกรุกปลูกสร้างที่พักอาศัยและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆในพื้นที่ป่า อันเป็นการยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1)ถ้าได้บุกรุกพื้นที่ป่ามีเนื้อที่เกินกว่า50ไร่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน5ปี หรือปรับไม่เกิน2หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา108 ทวิ และเป็นการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา54 หากพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกมีเนื้อที่เกิน25ไร่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่2-15ปี และปรับตั้งแต่1หมื่นบาทถึง1แสนบาทตามมาตรา72ตรี

“ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า การเข้าไปยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าซึ่งเป็นที่ดินของรัฐเป็นความผิดในทันทีที่เข้าไปยึดถือครอบครองโดยความผิดเกิดขึ้นตั้งแต่ขณะผู้บุกรุกเข้าไปปลูกบ้านพักอาศัย และสิ่งปลูกสร้างต่างๆและยึดถือครอบครองเอาพื้นที่ป่าซึ่งเป็นที่ดินของรัฐและจะยังคงเป็นความผิดเช่นนั้นตลอดไปจนกว่าผู้บุกรุกจะออกไปจากพื้นที่ป่า การที่ผู้บุกรุกยังคงยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าตลอดมาจึงเป็นความผิดต่อเนื่องอยู่ทุกขณะ จนกว่าผู้บุกรุกจะยุติการยึดถือครอบครองพื้นที่ป่า อายุความในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 จึงยังไม่เริ่มนับ แต่จะเริ่มนับอายุความตั้งแต่ที่ผู้บุกรุกยุติการยึดถือครองครองพื้นที่ป่าเป็นต้นไป เช่น นาย ก. เข้าไปบุกรุกปลูกสร้างบ้านพักอาศัยและสิ่งปลูกสร้างต่างๆในพื้นที่ป่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 โดยมีเนื้อที่ป่าที่ถูกบุกรุกจำนวน100ไร่ และนาย ก. ยังคงยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน มีอัตราโทษจำคุกสูงสุด15ปีและมีอายุความในการฟ้องร้องผู้กระทำความผิด15ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95

“นาย ก. จะอ้างว่าเมื่อนับเวลาที่ตนบุกรุกเข้ายึดถือครอบครองพื้นที่ป่าครั้งแรกในปี พ.ศ. 2531 จนถึงปัจจุบันในปี พ.ศ.2561 เวลาได้ล่วงผ่านมาแล้วร่วม30ปี คดีจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา95 แล้วไม่ได้ เนื่องจากการบุกรุกด้วยการเข้าไปยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าซึ่งเป็นที่ดินของรัฐเป็นความผิดต่อเนื่องคือ มีความผิดเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาที่ยังคงบุกรุกยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าอยู่ จนกว่าจะออกไปจากพื้นที่ป่าที่บุกรุก เมื่อนาย ก. ยังคงยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าตลอดมา จึงเป็นความผิดต่อเนื่องอยู่ทุกขณะ ตราบเท่าที่ นาย ก. ยังคงยึดถือครอบครองที่พิพาทอยู่ คดีจึงไม่ขาดอายุความ ซึ่งศาลฎีกาเคยวินิจฉัยกรณีลักษณะนี้ไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2565/2543

Advertisement

“สำหรับที่ดินที่เป็นพื้นที่ป่านั้นเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันตามมาตรา1304 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การครอบครองพื้นที่ป่าอยู่นานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ เนื่องจากมาตรา 1306 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

“แตกต่างจากการก่อสร้างบ้านพักอาศัยและสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ในที่ดินของผู้อื่นซึ่งเป็นที่ดินของเอกชนที่เป็นการกระทำความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา ที่ศาลฎีกาวางแนวการวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2253/2531ว่า

“ความผิดฐานบุกรุกที่ดินตามประมวลกฎหมายอาญาไม่ใช่ความผิดต่อเนื่อง แต่เป็นความผิดที่เกิดขึ้นและสิ้นสุดลงทันทีที่จำเลยผู้บุกรุก เข้าไปกระทำการบุกรุก ส่วนการครอบครองที่ดินต่อมาเป็นเพียงผลของการบุกรุกเท่านั้น ไม่เป็นการกระทำความผิดฐานบุกรุกซ้ำอีก การกระทำของจำเลยที่ยังคงครอบครองและไม่ยอมออกไปจากที่ดินของโจทก์จึงไม่เป็นความผิดต่อเนื่อง ทำให้การนับอายุความการกระทำความผิดอาญาต้องเริ่มนับทันทีตั้งแต่ที่ได้มีการกระทำความผิดฐานบุกรุกในครั้งแรก และการจะฟ้องร้องดำเนินคดีกับจำเลยต้องฟ้องภายในอายุความตามที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา95 กำหนดไว้ มิฉะนั้นจะทำให้คดีขาดอายุความ เช่น ความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 และมาตรา 365 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากโจทก์จะฟ้องจำเลยที่ก่อสร้างบ้านพักอาศัยและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ บุกรุกที่ดินของโจทก์และจำเลยยังคงครอบครองที่ดินของโจทก์อยู่ โจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายในอายุความ10ปี นับแต่วันที่จำเลยบุกรุกที่ดินของโจทก์ในครั้งแรก เพราะการครอบครองที่ดินต่อมาของจำเลยเป็นเพียงผลของการบุกรุก การบุกรุกที่ดินโจทก์ของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดต่อเนื่องโดยความผิดฐานบุกรุกที่ดินของโจทก์ได้เกิดขึ้นและสิ้นสุดสำเร็จลงแล้วตั้งแต่ครั้งแรกที่จำเลยได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์”

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากมีการจับกุมนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อป เมนต์ เเละพรรคพวก พร้อมซากสัตว์ป่าที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเเล้ว ยังพบว่ารีสอร์ตของบริษัทที่นายเปรมชัยเป็นกรรมการบริษัท มีการบุกรุกพื้นที่ป่า อ.ภูเรือ และ อ.ด่านซ้าย จ.เลย ล่าสุดนายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผอ.สำนักป้องกันรักษาป่า พร้อมเจ้าหน้าที่ชุดพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ และเจ้าหน้าที่กรมที่ดินได้แจ้งความดำเนินคดีกับกรรมการบริหารบริษัท ซี พี เค อินเตอร์เนชั่นแนล ประกอบด้วย มี น.ส.พิไลจิตร เริงพิทยา นางนิจพร จรณะจิตต์ และนางเอมอร เทิดประวัติ ทั้งหมดเป็นพี่สาวนายเปรมชัย ฐานบุกรุกพื้นที่ป่าในท้องที่ อ.ภูเรือ กว่า 6,000 ไร่ เนื่องจากพบว่ามีนำที่ดินที่ถูกเพิกถอนมาทำหนังสือรับรองการทำประโยชน์บางส่วนมายื่นออกโฉนดที่ดิน ถือว่าเจตนาครอบครองที่ดินโดยมิชอบ รวมพื้นที่6,215ไร่ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ กฎหมายที่ดิน และ พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image