ยธ.เยียวยาจิตใจ เหยื่อ “ชิต สายเบิร์น”ข่มขืน เช็คประวัติ ถ้าพบทำผิดซ้ำ ไม่ลดโทษ-ปรับเป็นนช.ชั้นเลว

กรมคุ้มครองสิทธิ เช็กประวัติ “ชิต สายเบิร์น” หากพบประวัติ ผิดซ้ำ ไม่ให้ลดโทษเสนอปรับเป็น นช.ชั้นเลว เร่งเยียวยาจิตใจนศ.ตกเป็นเหยื่อ

เมื่อวันที่ 10 มี.ค. น.ส.ปิติกาญจ์ สิทธิ์เดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยถึงการเยียวยาช่วยเหลือนักศึกษาสาวกาฬสินธุ์ และแฟนหนุ่ม ผู้เสียหายที่ถูกนายทิษณุ หรือชิต โถนารัตน์ หรือ ฉายา “ชิต สายเบิร์น” ทำร้ายร่างกายและฉุดไปข่มขืน ว่านายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้กำชับให้กรมคุ้มครองสิทธิฯ ให้ความช่วยเหลือตามหลักปฏิญญาว่าด้วยหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการอำนวยความยุติธรรมแก่ผู้ที่รับความเสียหายจากอาชญากรรม (Declaration of Basic Principles of Justice for Victims of Crime and Abuse of Power) และการใช้อำนาจโดยไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะนักศึกษาสาวที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม ซึ่งตามมาตรฐานสากลจะต้องได้รับความช่วยเหลือใน 4 ด้าน เพราะคดีที่เกิดขึ้นถือเป็นคดีอุฉกรรจ์และสะเทือนขวัญ โดย 1. สำหรับผู้ต้องหารายนี้จะต้องถูกดำเนินคดีให้ถึงที่สุด ซึ่งเบื้องต้นตนจะประสานกรมราชทัณฑ์และยุติธรรมจังหวัด เพื่อตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์การกระทำผิดย้อนหลังว่าเคยก่อคดี หรือกลับมากระทำความผิดซ้ำหรือไม่ เท่าที่ทราบผู้ต้องหามีประวัติเสพยาและค้ายาเสพติด ตามหลักของกฎหมายจะไม่ได้รับการลดโทษ ซึ่งกรมคุ้มครองสิทธิ์จะประสานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอไม่ให้ผู้ต้องหาได้รับการลดโทษ เมื่อถูกคุมขังที่เรือนจำก็จะถูกจัดเป็นนักโทษชั้นเลว 2. ผู้ต้องหาจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาให้กับเหยื่อ ตามาตรา 44/1 โดยอัยการจะทำหน้าที่เรียกค่าเสียหายละเมิดทางแพ่งในคดีอาญา เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้เหยื่อหรือผู้เสียหาย 3. การเยียวยาและการคุ้มครองความปลอดภัยโดยรัฐ เบื้องต้นกรมคุ้มครองสิทธิ์จะจัดให้มีเจ้าหน้าที่นิติกรเข้าไปร่วมฟังขั้นตอนการสอบปากคำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือการสืบพยานในชั้นศาล เนื่องจากผู้เสียหายที่ถูกข่มขืนจะมีสภาพจิตใจที่ไม่ปกติ จึงต้องได้รับการดูแลทางด้านจิตใจ 4. กรมคุ้มครองสิทธิ์ฯ จะประสานพม.และสธ. เพื่อแก้ไขฟื้นฟูให้เหยื่ออาชญากรรมกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ

อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในคดีข่มขืนไม่ได้รับการดูแลทางสภาพจิตใจ สำหรับนักศึกษารายดังกล่าว ขณะนี้มีการสื่อสารกับบุคคลใกล้ชิดหรือบุคคลทั่วไปน้อยมาก โดยสิ่งที่น่าวิตกคือช่วงหลังถูกข่มขืนจะต้องตรวจร่างกายว่าจะมีอาการติดเชื้อเอดส์ โรคติดเชื้ออื่นๆ หรือมีการตั้งครรภ์หรือไม่ ซึ่งต้องใช้เวลา 3 เดือน หากตรวจสอบพบจะแก้ไขอย่างไร โดยเหยื่อควรได้รับความช่วยเหลือควบวงจรตามมาตรฐานสากล จังหวัดกาฬสินธุ์อยู่ในโครงการกาฬสินธุ์แฮปปี้เนส ซึ่งเป็นโครงการนำร่องของรัฐบาล แต่ข้อเท็จจริงกลับมีคดีรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่บ่อยครั้ง หากจะทำให้ประชาชนมีความสุขจริงๆ ก็ต้องเปลี่ยนนโยบายการทำงาน ซึ่งจะเริ่มจากคดีนี้โดยทำให้เป็นกรณีตัวอย่างเพื่อนำไปใช้กับคดีอุฉกรรจ์และคดีความผิดทางเพศอื่นในประเทศต่อไป

“อย่างไรก็ตาม อยากเสนอให้รัฐเห็นความสำคัญกับความปลอดภัยของประชาชน กรณีที่ผู้ต้องหาได้รับการประกันตัวหรือพ้นโทษออกมา จำเป็นต้องมีการแจ้งเตือนผู้ตกเป็นเหยื่อให้รับทราบว่าบุคคลผู้นี้ได้ถูกปล่อยตัวออกมาแล้ว ถือเป็นการแจ้งเตือนประชาชน หรือมีมาตรการติดตามตัวผู้พ้นโทษ เพื่อไม่ให้กระทำผิดซ้ำหรือก่อความเดือดร้อนให้ผู้บริสุทธิ์” น.ส.ปิติกาญจ์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image