ป.ป.ท.ตรวจงบไร้ที่พึ่งนิคมฯอุดร พบพิรุธ 6 ประเด็นส่อโกง ยอดเบิกสูงผิดปกติ พันบิ๊กขรก.

ป.ป.ท.ตรวจงบคนไร้ที่พึ่งนิคมฯห้วยหลวง พบพิรุธส่อโกง 6 ประเด็น พร้อมตั้งข้อสังเกตจัดตั้งกลุ่มอาชีพให้ง่ายต่อการรวบรวมเอกสาร พ.ค.-มิ.ย. ยอดเบิกสูงปรี๊ด 1,521 ครั้ง วงเงินกว่า3 ล้าน เดือนถัดมายอดเบิกแค่ 2 ครั้ง ขณะที่เส้นทางการเงินส่อพันบิ๊กขรก.

ความคืบหน้า พ.ต.ท. วันนพ สมจินตนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ( ป.ป.ท. ) พร้อมด้วยคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปี พ.ศ. 2560 ประเภทเงินอุดหนุนเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (ชุดปฏิบัติการที่ 4) และกองกฎมาย สำนักงาน ป.ป.ท. ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงการใช้จ่ายงบประมาณอุดหนุนสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง ในส่วนของ นิคมสร้างตนเองเชียงพิณ จังหวัดอุดรธานีในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ซึ่งได้รับงบประมาณ 194 ล้านบาท โดยนิคมสร้างตนเองเชียงพิณ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่ประมาณ 105,000 ไร่ มีสมาชิกนิคม ประมาณ 41,000 คน ครอบคลุมพื้นที่ 50 หมู่บ้าน 7 ตำบล 3 อำเภอ 2 จังหวัด (จังหวัดอุดรธานีและจังหวัดหนองบัวลำภู) ได้รับเงินงบประมาณสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง จำนวน 7,030,000 บาท มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 12 ฎีกา นั้น

ต่อมาเวลา 14.00 น. พ.ต.ท.วันนพ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปี พ.ศ. 2560 ประเภทเงินอุดหนุนเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (ชุดปฏิบัติการที่ 4) สำนักงาน ป.ป.ท. โดยลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีทุจริตการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนสงเคราะห์ประเภทเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่งฯ ของนิคมสร้างตนเองห้วยหลวง จ.อุดรธานี

พ.ต.ท.วันนพ กล่าวว่า นิคมสร้างตนเองห้วยหลวง ได้เบิกจ่ายเงินอุดหนุนสงเคราะห์ ประจำปีงบประมาณ 60 เฉพาะประเภทเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้ยากไร้และผู้ไร้ที่พึ่ง เพียงประเภทเดียว เบิกจ่าย จำนวน 35 ฎีกา จ่ายจำนวน 2,514 ครั้ง เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 5,030,000 บาท ป.ป.ท.ได้สุ่มบันทึกถ้อยคำชาวบ้านในท้องที่ต.กุดจับ ต.ขอนยูง และตซปะโค ที่ปรากฏชื่อได้รับเงินอุดหนุนสงเคราะห์ฯ พบว่า มีพฤติการณ์ที่น่าเชื่อว่าเป็นรูปแบบวิธีการในการทุจริต รวม 6 ประเด็น ดังนี้ 1.ผู้ได้รับเงินสงเคราะห์ฯ ส่วนใหญ่แจ้งว่า มีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มอาชีพเพื่อรับเงินอุดหนุนจากนิคมฯ เมื่อนิคมฯ ได้พิจารณาอุดหนุนเงินสงเคราะห์แล้ว จะนำเงินส่งมอบให้ผู้รับเงิน จากนั้นผู้รับเงินจะนำเงินมารวมในกลุ่มอาชีพที่ตนเป็นสมาชิกเพื่อใช้เป็นเงินทุนภายในกลุ่ม โดยชาวบ้านบางรายไม่ได้รับเงินตามที่ปรากฏในใบสำคัญรับเงิน

Advertisement

2.กลุ่มอาชีพได้รับเงินไม่ครบตามจำนวนที่ปรากฏในใบสำคัญรับเงิน เช่น ตามฎีกาได้มีการอนุมัติเบิกจ่ายเป็นเงิน จำนวน 40,000 บาท แต่สมาชิกในกลุ่มอาชีพยืนยันว่าได้รับเงินจริงเพียง 20,000 บาท 3. ผู้รับเงินสงเคราะห์ฯ บางรายปรากฏชื่อตามใบสำคัญรับเงินมากกว่า 1 ครั้ง แต่ได้รับเงินจริงไม่ครบตามจำนวนที่ปรากฏในใบสำคัญรับเงิน 4. กรณีที่ผู้รับเงินสงเคราะห์ฯ บางรายได้รับเงินสงเคราะห์ฯ ไม่ตรงกับวันที่ตามใบสำคัญรับเงิน โดยมีเจ้าหน้าที่ของนิคมฯ นำเงินมาจ่ายให้กับผู้รับเงินสงเคราะห์ย้อนหลัง ภายหลังจากที่เป็นข่าวว่ามีการตรวจสอบโครงการดังกล่าว

5. ผู้รับเงินสงเคราะห์ฯ บางรายคุณสมบัติไม่ตรงตามนิยามของคำว่า “ครอบครัวที่ประสบความเดือดร้อน” หรือ “ผู้ไร้ที่พึ่ง” ตามระเบียบกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการว่าด้วยการสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง โดยข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบไม่สอดคล้องกับข้อมูลตามที่ปรากฏในแบบสำรวจข้อมูลผู้ประสบปัญหาทางสังคม และ 6.ผู้รับเงินสงเคราะห์ฯ บางรายไม่ได้รับเงินจริง ตามจำนวนที่ปรากฏในใบสำคัญรับเงิน

พ.ต.ท.วันนพ กล่าวด้วยว่า จากการตรวจสอบป.ป.ท.ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การพิจารณาการจ่ายเงินสงเคราะห์ฯ ส่วนมากจะเป็นการจ่ายให้กับกลุ่มอาชีพ ซึ่งได้มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ทำให้ง่ายต่อการรวบรวมเอกสารหลักฐานเพื่อใช้ประกอบการเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ฯ. และ ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2560 ซึ่งเป็นเวลาเพียง 2 เดือน มีการเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ฯ มากกว่าช่วงปกติ โดยคิดเป็นจำนวนครั้งที่จ่ายได้ 1,521 ครั้ง จากจำนวนทั้งหมด 2,514 ครั้ง รวมเป็นเงิน 3 ล้านบาทเศษ คิดเป็นประมาณ 60 % แต่ในเดือนกรกฎาคม 2560กลับมีการเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์เพียงแค่ 2 ครั้ง

แหล่งข่าวจากป.ป.ท.เปิดเผยว่า ภายหลังการกระจายกำลังตรวจสอบงบประมาณช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่งของศูนย์ช่วยเหลือ76 จังหวัดและนิคมสร้างตนเองบางแห่ง ป.ป.ท.ได้เร่งตรวจเส้นทางการเงินจากพฤติการณ์แห่งคดี โดยพบความเชื่อมโยงถึงข้าราชการประจำระดับบิ๊กในกระทรวงแห่งหนึ่ง.

Advertisement

สำหรับนิคมสร้างตนเองห้วยหลวง ได้จัดตั้งขึ้นตามโครงการพิเศษ เพื่ออพยพราษฎรเขตน้ำท่วมตามโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี จำนวน 612 ครอบครัว ตามมติคณะรัฐมนตรีได้มอบให้กรมประชาสงเคราะห์ เป็นผู้ดำเนินการเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2516 โดยกำหนดให้ใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติหมากหญ้าเป็นเขตดำเนินการจัดสรร และออกเป็นพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสร้างตนเองห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี เมื่อปี พ.ศ. 2518 วัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการจัดสรรที่ดินให้แก่ราษฎรที่ต้องอพยพออกจากเขตน้ำท่วมตามโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง และราษฎรที่ไม่มีที่ดินทำกินหรือมีแต่ไม่เพียงพอแก่การประกอบอาชีพให้เข้าไปตั้งถิ่นฐานประกอบอาชีพทางเกษตรกรรมและด้านอื่น ๆ ให้มีรายได้และความเป็นอยู่สูงขึ้น เป็นการป้องกันการบุกรุกทำลายป่าและการทำไร่เลื่อนลอย ครอบคลุมพื้นที่ท้องที่อซกุดจับ และพื้นที่บางส่วนของ อ.หนองวัวซอ อ.บ้านผือ เนื้อที่ประมาณ 192,142 ไร่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image