โฆษกศาลเเจงข้อกฎหมาย ‘2อดีตว่าที่กกต.สายศาล’ ลงสมัครซ้ำ ตามพรป.กกต.

นายสุริยัณห์ หงษ์ วิไล โฆษกศาลยุติธรรม

เมื่อเวลา 14.30น.วันที่ 22มีนาคม นายสุริยัณห์ หงษ์ วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณี นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี  ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และนายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ที่ทางที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เคยลงมติคัดเลือกให้ไปเป็น กกต.มาแล้ว แต่ถูกสนช. ลงมติลับไม่เห็นชอบ จนขั้นตอนกลับไปเปิดรับผู้สมัคร กกต.สายศาลใหม่ ปรากฏว่าทั้งนายฉัตรไชยและนายปกรณ์ ได้กลับมาสมัครเป็นกกต.อีกรอบ ว่า ตาม พรป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 มาตรา 12วรรค8 บัญญัติว่า ในกรณีที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการสรรหาหรือคัดเลือกรายใด ให้ดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกบุคคลใหม่เเทนผู้นั้น เเล้วเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป โดยผู้ไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาในครั้งนี้จะเข้ารับการสรรหาครั้งใหม่นี้ไม่ได้ วิธีการดำเนินการเพื่อให้ได้มาเรื่องว่าที่ กกต.นั้นจะมีอยู่2ทางคือ การสรรหาเเละการคัดเลือก มาตรา12วรรค8ตรงนี้บัญญัติตรงบทห้ามไว้เเต่เพียงว่า ผู้ที่ได้รับการสรรหารายใดที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบตรงนี้กฎหมายเขียนห้ามไว้อย่างชัดเจนที่จะเข้ารับการสรรหาซ้ำไม่ได้ เเต่ในส่วนที่เป็นการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากฎหมายไม่ได้เขียนห้ามไว้ ผู้สมัครทั้ง2คนจึงสมัครเข้าคัดเลือกในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหากผ่านการคัดเลือกก็ต้องส่งให้วุฒิสภา ปัจจุบัน สนช. ทำหน้าที่นี้ เพื่อให้ความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง กกต. ประกอบด้วยกรรมการ 7 คน โดยจำนวน 5ใน 7 คน จะได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหา ประกอบด้วย 1.นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ ส่วนกรรมการจะประกอบด้วย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เเละผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการ ประธานศาลปกครองสูงสุด บุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มิใช่คณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด องค์กรละ 1 คน โดยให้เลขาธิการวุฒิสภาเป็นเลขานุการของคณะกรรมการสรรหา และให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหา โดยจะคัดเลือกผู้ได้รับการสรรหาจากบุคคลผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ในสาขาวิชาการต่างๆ ที่ยังประโยชน์แก่การบริหารและจัดการการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ส่วนอีก 2คนที่เหลือจะ คัดเลือก จากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านกฎหมาย และเคยตำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษาไม่ต่ำกว่า 5 ปี

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนนี้สาเหตุที่สนช.ลงมติไม่เห็นชอบรอบดังกล่าว เพราะสนช.เกรงว่าจะเกิดปัญหาในเรื่องข้อกฎหมาย เนื่องจากมีข้อทักท้วงว่า การลงมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาที่เลือกนายฉัตรไชยกับนายปกรณ์ ไม่ใช่การลงมติแบบเปิดเผย จึงอาจเกรงว่าจะเกิดปัญหา หากมีคนยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทำให้สนช.เทเสียง โหวตไม่เห็นชอบทั้ง2คน อย่างไรก็ตาม ในการคัดเลือกกกต.สายศาลรอบนี้ มีการออกระเบียบศาลฎีกาว่าด้วยการคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2561 เพิ่มเติมเป็นฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา

ระเบียบดังกล่าวเห็นสมควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมการลงมติคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็น กกต. จากระเบียบศาลฎีกาว่าด้วยการคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 เดิม ในข้อ 10 เป็นว่า“การลงมติเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็น กกต. ตามข้อ 11 ให้กระทำโดยเปิดเผย ด้วยการทำเครื่องหมายกากบาท (X) อย่างชัดเจน ลงหน้าชื่อตัว และชื่อสกุลผู้ซึ่งตนเลือก จำนวนไม่เกิน 2 คน หรือจำนวนเท่าที่ยังขาดอยู่ในบัตรเลือกที่จัดไว้ ซึ่งระบุชื่อตัวและชื่อสกุล ลำดับหมายเลขตามบัญชีอาวุโสในศาลฎีกา แล้วบัตรเลือกไปมอบให้คณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติและนับคะแนน เพื่อดำเนินการนับคะแนนต่อไป โดยระเบียบศาลฎีกาดังกล่าว ยังระบุว่า ให้เลขานุการศาลฎีกา เป็นผู้เก็บรักษาบัตรเลือกไว้ไม่น้อยกว่า 1 ปี และหากไม่มีการโต้แย้งการคัดเลือกเป็น กกต. ก็ให้ดำเนินการทำลายบัตรเลือกตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบัญ พ.ศ.2562 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2558

Advertisement

นอกจากนี้ นายชีพ ประธานศาลฎีกา ยังได้ลงนามในคำสั่งศาลฎีกาเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2561 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติและนับคะแนนรวม 5 คน เป็นระดับผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งหมด โดยมีนายธนิต รัตนะผล ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image