โฆษก ตร.ชี้ ม.44 ติดดาบ ทหารปราบมาเฟีย เสริมกำลังตำรวจ เพิ่มความรวดเร็ว

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. เปิดเผยกรณี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่ง ที่ 13/2559 เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการกระทําความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทําลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ให้ทหารเป็นเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม ลุยปราบมาเฟีย สามารถเข้าค้นบ้านได้โดยไม่มีหมาย รวมถึงการยึด อายัดทรัพย์สินได้ หรือเรียกตัวผู้ต้องสงสัยสอบพร้อมคุมตัวได้ 7 วัน ว่าหลักการทาง คสช. มองว่าคำสั่งดังกล่าวออกมาเพื่อเสริมการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากบริบทของบ้านเมืองในขณะนี้ อาจมีความจำเป็นที่จะต้องออกเป็นคำสั่ง คสช. เพื่อเสริมการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่างไรก็ตาม ตามที่กำหนดในราชกิจจานุเบกษา การดำเนินการของเจ้าพนักงานดังกล่าวจะต้องเป็นความผิดใน 27 ลักษณะ และต้องเข้าความผิด 3 เงื่อนไข ได้แก่

“1.ต้องกระทําความผิดโดยการข่มขืนใจให้กระทําการใด ไม่กระทําการใด หรือจํายอมต่อสิ่งใดโดยทําให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น 2.ต้องแสดงตนให้บุคคลอื่นเกรงกลัว ไม่กล้าขัดขืนหรือร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ดําเนินการเพราะเกรงภัยจะเกิดแก่ตน และ 3.ดํารงชีพด้วยการกระทําผิดกฎหมาย รวมถึงการใช้ จ้างวาน หรือสนับสนุนการกระทําใดๆ ที่เป็นการกระทําผิดกฎหมาย สรุปคือการเข้าข่ายความผิดคำสั่งดังกล่าว นอกจากจะเป็นความผิดใน 27 ลักษณะแล้ว จะต้องมีลักษณะที่ต้องบ่งชี้ถึงการเป็นผู้มีอิทธิพล มีการกระทำความผิดเป็นลักษณะองค์กร ปกติแล้วลักษณะความผิดจะไม่มีประชาชนคนธรรมดาทั่วไปทำ” รองโฆษก ตร.กล่าว

รองโฆษก ตร. กล่าวต่อว่า ลำพังกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ คงไม่สามารถดำเนินการได้ทั้งหมด จึงมีการแต่งตั้ง เจ้าพนักงานตามคำสั่งดังกล่าวขึ้น เพื่อให้การทำงานปราบปรามผู้มีอิทธิพลรวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยืนยันว่าไม่เป็นการให้อำนาจทหารมากเกินไป และหากย้อนกลับไปดูการพัฒนาของกฎหมายที่ผ่านมา มีการปรับปรุงและปฏิรูปอยู่เสมอให้เข้ากับสถานการณ์บ้านเมือง ส่วนตัวมองว่ากฎหมายที่ออกมาหลายฉบับนั้นเพื่อให้ทันกับบริบทของบ้านเมือง

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นเพราะการทำงานล่าช้าหรือเปล่าจึงต้องมีคำสั่งดังกล่าวขึ้น พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวว่า ไม่อยากให้มองเช่นนั้น เพราะหากเปรียบเทียบตัวเลขอัตราส่วนประชากรกับตำรวจแล้ว จะพบว่าอัตราส่วนของตำรวจค่อนข้างน้อยและไม่เพียงพอ รัฐบาลอาจมองเห็นจุดนี้จึงบัญญัติคำสั่งดังกล่าวขึ้นมาเพื่อเป็นตัวช่วยของเจ้าหน้าที่ตำรวจในยามจำเป็น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image