4 ปี คดี ‘บิลลี่’ ไม่คืบ ICJ จี้ DSI รับเป็นคดีพิเศษ ชี้เสี่ยงถูกมองมีส่วนในวัฒนธรรมลอยนวลคนผิด

เมื่อวันที่ 16 เมษายน คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ไอซีเจ) ออกแถลงการณ์ “ประเทศไทย: ยังคงไม่มีความคืบหน้าใดๆในวันครบรอบ 4 ปี ที่ “บิลลี่” ถูกบังคับให้สูญหาย” เรียกร้องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษสืบสวนคดีการหายตัวไปของนายพอละจี รักจงเจริญ นักกิจกรรมชาวกะเหรี่ยง อย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากที่ปฏิเสธไม่รับเป็นคดีพิเศษ

ระบุว่า ในวันครบรอบ 4 ปีที่นักกิจกรรมชาวกะเหรี่ยง “บิลลี่” ถูกกระทำการที่มีลักษณะเป็นการบังคับให้สูญหายไป คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ไอซีเจ) ขอเรียกร้องอีกครั้งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินการตามหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนเรื่องดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ในปัจจุบันนั้นยังไม่มีความคืบหน้าใดๆในการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ทราบถึงชะตากรรมของบิลลี่และดีเอสไอก็ปฏิเสธไม่รับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ

นายพอละจี “บิลลี่” รักจงเจริญ นั้นได้มีผู้พบเห็นเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2557 ในขณะที่อยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลาที่บิลลี่ได้ถูกกระทำการในลักษณะการบังคับให้สูญหายไปนั้น บิลลี่ได้ทำงานกับชาวบ้านชนเผ่ากะเหรี่ยงและนักกิจกรรมในการดำเนินการทางกฎหมายเพื่อยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจากกรณีเหตุการณ์เผาบ้านและทรัพย์สินชาวบ้านในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเมื่อปี พ.ศ. 2553 และ 2554

“เหตุที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ถูกจัดตั้งขึ้นมานั้นก็เพื่อที่จะทำการสอบสวนคดีที่มีความซับซ้อนเฉกเช่นคดีในลักษณะนี้ที่ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอาจมีความเกี่ยวโยงกับการกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่อาจเรียกได้ว่าเป็นอาชญากรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ” นายคิงสลี่ย์ แอ๊บบอต ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศอาวุโส ไอซีเจ กล่าว

Advertisement

“ถ้าดีเอสไอยังคง ‘ปฏิเสธ’ ที่จะรับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษหลังจากที่การสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 4 ปีไม่ปรากฏให้เห็นว่ามีความก้าวหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญ ดีเอสไออาจจะเสี่ยงต่อการถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการละเว้นการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษในประเทศไทย”

ในสัปดาห์นี้ ภรรยาของบิลลี่ พิณนภา พฤกษาพรรณ ได้กล่าวกับไอซีเจว่า ครั้งสุดท้ายที่เจ้าหน้าที่ได้ติดต่อมาเพื่อพูดคุยถึงเรื่องการสอบสวนคดีของบิลลี่กับเธอและครอบครัวนั้นได้ผ่านมาล่วงปีแล้ว

“ประเทศไทยมีหน้าที่อย่างชัดเจนที่จะต้องดำเนินการสอบสวนคดีของบิลลี่จนกว่าจะทราบถึงชะตากรรมและสถานที่อยู่ของบิลลี่ และยังต้องทำให้เกิดความมั่นใจว่ากระบวนการสอบสวนและผลลัพธ์ที่ได้นั้นจะเป็นไปโดยโปร่งใส ซึ่งความโปร่งใสนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อครอบครัวของผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการสอบสวน” นายแอ๊บบอตกล่าว

Advertisement

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 ประเทศไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบไปด้วยกรรมการ 18 คน รวมดีเอสไอ เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายในการป้องกันการกระทำการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย และเพื่อที่จะสอบสวนรวมถึงเยียวยาชดเชยให้แก่ผู้เสียหายตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and Other, Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment – CAT) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance – ICPPED) ซึ่งประเทศไทยได้ทำการลงนามไว้ หากแต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2560 คณะกรรมการได้กล่าวไว้ว่าจะดำเนินการพิจารณาคดีการบังคับบุคคลให้สูญหายไม่ว่าจะเป็นคดีที่เกิดขึ้นในอดีต ปัจจุบัน หรือคดีที่เกิดขึ้นใหม่ก็ตาม ทั้งนี้รวมไปถึงคดีของบิลลี่ด้วย

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการยังต้องแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของตนในการปฏิบัติตามพันธกรณีตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของประเทศไทย

“แม้ว่าการที่ประเทศไทยได้พยายามที่จะดำเนินคดีกับกรณีที่มีการกล่าวหาว่ามีการทรมาน การปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย และการบังคับบุคคลให้สูญหาย จะเป็นเรื่องน่ายินดี แต่คณะกรรมการดังกล่าวก็ไม่ควรที่จะถูกมองว่าจะมาแทนที่การกำหนดให้การกระทำดังกล่าวเป็นอาชญากรรมในกฎหมายภายในประเทศของไทย” นายแอ๊บบอตกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image