‘สีกากี’ยากจะลืม โครงการยักษ์ 396โรงพักทดแทน

สภ.ห้วยยางเป็น 1 ในโรงพักทดแทน 396 แห่งที่เปิดใช้งานแห่งแรกในประเทศเมื่อปี 2558

หากจัดอันดับโครงการก่อสร้างที่ใช้เงินภาษีของประชาชนมาปู้ยี่ปู้ยำจำกันแบบโลกไม่ลืม คงต้องส่ง

“โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) 396 แห่งทั่วประเทศ” วงเงิน 5,848 ล้านบาท เข้าประกวดด้วย โครงการมุ่งหวังให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหนีจากความแออัดในสถานที่ทำงาน การรองรับประชาชนที่ต้องเดินเข้าโรงพัก

กล่าวสำหรับจุดเริ่มต้นของโครงการ เริ่มจากมติ ครม.สมัยรัฐบาล สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2550 อนุมัติหลักการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติก่อสร้างโรงพักใหม่ทั่วประเทศ ได้บริษัทแห่งหนึ่งเข้าก่อสร้าง วงเงิน 17,679 ล้านบาท ก่อนที่มติ ครม.รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อนุมัติใหม่เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 ปรับโครงการด้วยการประมูลแบบรายภาครวม 12 สัญญา เพื่อความรวดเร็วในการก่อสร้าง และกระจายรายได้ให้ผู้รับเหมาท้องถิ่น ใช้งบผูกพัน 3 ปี วงเงิน 6,672 ล้านบาท ถูกกว่าเดิมอีก 1.1 หมื่นล้านบาท แต่ในรัฐบาลอภิสิทธิ์เช่นกัน สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติรวมเป็นสัญญาเดียว หวังประหยัดงบประมาณมากขึ้น เกิดการแข่งขันประมูลก่อสร้างอย่างเป็นธรรม มีบริษัทเอกชนเข้ามาประมูลในวงเงินต่ำกว่าใครที่ 5,848 ล้านบาท

ไม่นานการก่อสร้างเริ่มขึ้น คนงานไล่ทยอยตอกเสาเข็มไปแต่ละแห่งในเวลาใกล้กัน หลายโรงพักต้องถูกรื้อโรงพักเดิมทิ้งทันที แต่ต่อมาการก่อสร้างก็สะดุดลง มีการขอขยายเวลา ก่อนพบว่ามีโรงพักอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 280 หลัง และอีก 166 หลัง ยังไม่ดำเนินการ

Advertisement

เดิมกำหนดการก่อสร้างต้องเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2554 สิ้นสุดโครงการวันที่ 17 มิถุนายน 2555 กินเวลารวม 450 วัน ต่อมาบริษัทแจ้งขอขยายสัญญา 3 ครั้ง จาก 30 วัน ต่อด้วย 180 วัน และขยายอีก 60 วัน การก่อสร้างต้องแล้วเสร็จในวันที่ 14 มีนาคม 2556 สุดท้ายไปไม่รอด กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอเข้ามาดูแลในคดีนี้

โรงพักหลายแห่งยังสร้างไม่ถึงไหน ถูกวัชพืช หญ้ารก และเถาวัลย์ปกคลุม โรงพักต่างเผชิญชะตากรรมไปขอเช่าที่เอกชนบ้าง ศาลาการเปรียญวัดบ้าง ศาลเจ้าบ้าง กางเต็นท์บ้าง หรือเก้าอี้ทำงานแทบชนกันในห้องเดียว ห้องน้ำไม่ต้องพูดถึง ตามมีตามเกิด ส่วนผู้ต้องขังตามโรงพักก็ต้องใช้วิธีการไปฝากโรงพักใกล้เคียงแทน สำหรับพื้นที่ก่อสร้างที่รกร้างก็ถูกนำมาใช้เป็นบ่อเลี้ยงปลาน้ำจืด บางแห่งปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ไปเลย

“มติชน” ขออัพเดตและติดตามความคืบหน้าโรงพักทดแทนเหล่านี้ว่าในปัจจุบันเป็นอย่างไรกันบ้างแล้ว ตำรวจหลายนายยังจำมันได้ดีอยู่ เริ่มจากไปเยือนสถานีตำรวจภูธร (สภ.) ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ที่ผู้รับเหมาหยุดก่อสร้าง แต่วันนี้ทั้งหมดกลับมาอยู่รวมกันในอาคารของ สภ.ที่สร้างเสร็จสิ้นแล้ว จากที่ฝ่ายงานจราจร งานสืบสวนสอบสวน งานป้องกันและปราบปราม เป็นต้น ต้องกระจัดกระจายกันไป

Advertisement

พ.ต.อ.วิวัฒน์ อัศวะวิบูลย์ ผกก.สภ.ธัญบุรี เผยว่า เพิ่งย้ายเข้ามารับตำแหน่ง ผกก.สภ.ธัญบุรี เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา ทราบว่าก่อนหน้านี้ สภ.ธัญบุรี ก็เจอปัญหาสร้างไม่เสร็จ แต่หลังได้งบประมาณเข้ามาก่อสร้าง แล้วเสร็จเมื่อปี 2558 ทุกวันนี้จะมีเพียงสถานที่จอดรถอาจไม่เพียงพอ

ส่วน สภ.เมืองระยอง ที่ถูกรื้อไปและสร้างขึ้นใหม่ ก่อสร้างเสร็จพร้อมใช้งานเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา ขณะที่ สภ.หนองกรับ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง อาคารหลังเก่าผู้รับเหมาได้รื้อทิ้งปล่อยรกร้างมานาน ต้องไปขอใช้อาคารที่ประชุมหมู่บ้านปรับปรุงเป็นโรงพักชั่วคราว และเพิ่งก่อสร้าง เริ่มใช้งานเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559

 

โรงพักวังน้ำเย็น จ.สระแก้ว เดิมยังอยู่ในสภาพการก่อสร้างที่มีเพียงเสาเข็มเท่านั้น ปัจจุบันย้ายไปสร้างที่แห่งใหม่แล้ว

มาถึงโครงการโรงพักทดแทนที่บ้านหนองหมากฝ้าย อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว เวลาล่วงเลยมาร่วม 10 ปีแล้ว ยังมีสภาพเป็นเสาเหล็กตั้งโด่สนิมเขรอะอยู่กลางป่าหญ้ารกรุงรังใช้การอะไรไม่ได้

สภาพการก่อสร้างมีเพียงเทคานกับเสาเหล็กอยู่ในพงหญ้าขึ้นรกรุงรัง ไม่สามารถใช้การอะไรได้ จะถอนทิ้งจะรื้อทิ้งก็ไม่ได้เพราะเป็นสมบัติของทางราชการ ปัจจุบันโรงพักหนองหมากฝ้ายได้ย้ายไปก่อสร้างที่แห่งใหม่ติดถนนสายวัฒนานคร-แซร์ออ หน้าโรงเรียนซับนกแก้ววิทยา บ้านซับนกแก้ว ต.หนองน้ำใส อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ห่างจากโรงพักเดิมประมาณ 8 กิโลเมตร

สอบถามชาวบ้านหนองหมากฝ้ายบอกว่า “ที่เห็นเสาเหล็กตั้งอยู่กลางพงหญ้า ก็เห็นมานานแล้ว ไม่เห็นมีการก่อสร้างต่อ จนย้ายโรงพักไปที่อื่นแล้ว ยังเห็นเสาเหล็กอยู่เหมือนเดิม ไม่รู้เป็นเพราะอะไร ทำไมจึงไม่สร้างต่อก็ไม่รู้”

ที่ จ.เชียงใหม่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภ.เมืองเชียงใหม่ เคยถูกทุบอาคารส่วนหนึ่งแล้วสร้างใหม่ จากการสำรวจพบว่าโรงพักภูธรเมืองเชียงใหม่เป็นอาคาร 3 ชั้น รวมประมาณ 30 ห้อง ไม่มีลิฟต์ ทั้งหลังติดแอร์เย็นฉ่ำ ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี แล้วเสร็จประมาณเดือนสิงหาคม 2559 รองรับการทำงานได้อย่างดี

เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่มายาวนานเล่าว่า ขณะนั้นไม่ค่อยเดือดร้อน ส่วนที่ถูกทุบทิ้งจนเหลือแต่ตอเป็นห้องคุมขังผู้ต้องหา ทำให้ทุกคนที่อยู่ตัวอาคารหลังหน้ามีที่ทำงานอยู่

“เรายังโชคดีกว่า สภ.อื่นในจังหวัดต่างๆ ที่ต้องไปเช่าที่วัด บางทีก็เบื่อนักการเมืองนะ เข้ามากี่สมัยโกงกินกันหมด มีแต่คอร์รัปชั่น จะว่าไปตอนนั้น สภ.เมืองเชียงใหม่ ยังมีห้องทำงานมีอาคารอยู่ ตอนลงมือสร้างใหม่ก็รู้สึกดีใจ เฝ้ารอว่าหน้าตาจะเป็นอย่างไร พอสร้างเสร็จก็ไม่อยากย้ายนะ เพราะเข้าไปดูห้องมันเล็กๆ แคบๆ ห้องทำงานเก่าใหญ่กว่าเยอะ แต่พอย้ายมาอยู่จริงๆ ก็เริ่มชิน ได้เดินขึ้นลงตึกทุกวันเพราะไม่มีลิฟต์ ออกกำลังกายไปในตัว” นายตำรวจคนหนึ่งกล่าวไว้

โรงพักแบบ 2 ชั้นขนาดเล็กของ สภ.นาอิน จ.อุตรดิตถ์ ที่เจอผู้รับเหมาทิ้งงาน และได้สร้างขึ้นใหม่

ด้าน พ.ต.ท.จีระพงศ์ ชุมภูอินทร์ สารวัตรใหญ่ สภ.นาอิน อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า ปี 2558 มาเป็นสารวัตรใหญ่ สภ.นาอิน เจอการก่อสร้างโรงพักทดแทนของเดิม ตอนนั้นยังไม่มีการก่อสร้างตัวโรงพักเลย มีเพียงถมดินทิ้งไว้ เนื่องจากประสบปัญหาการมอบที่ดินให้กับผู้รับเหมา ทำให้การก่อสร้างโรงพัก สภ.นาอินก็ยังไม่เริ่มต้น แต่โรงพักเดิมที่เป็นอาคารไม้รื้อถอนออกหมดแล้ว เจ้าหน้าที่ต้องย้ายสัมภาระมาปฏิบัติหน้าที่ที่บ้านพักรอง สว.สภ.นาอินแทน เป็นบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ คับแคบ ระบบสาธารณูปโภคไม่พร้อม บริการประชาชนไม่สะดวกนัก ก่อนที่ต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ สภ.แต่ละแห่งจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างกันเอง ก่อสร้างจนแล้วเสร็จ เจ้าหน้าที่ตำรวจย้ายข้าวของเครื่องใช้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่โรงพักแห่งใหม่มาจนถึงปัจจุบัน เป็นโรงพักแบบ 2 ชั้นขนาดเล็ก ใช้ประโยชน์ทั้ง 2 ชั้น บริการประชาชนสะดวกสบายยิ่งขึ้น

ในส่วน จ.อุบลราชธานี ก่อสร้างโรงพักทดแทน 8 แห่ง คือ สภ.พิบูลมังสาหาร สภ.กุดข้าวปุ้น สภ.นาจะหลวย สภ.ห้วยข่า สภ.นาโพธิ์ สภ.โคกจาน สภ.เอือดใหญ่ และ สภ.หนามแท่ง ทั้ง 8 แห่งผู้รับเหมาเข้าไปก่อสร้างได้เพียงแค่ฐานราก และยังไม่ได้ทุบโรงพักเก่าทิ้ง ยังมีสถานที่ใช้ทำงานหมือนเดิม โดยปี 2556 ไอเดียเด็ดของ สภ.โคกจาน อ.ตระการพืชผล ที่แปลงวิกฤตเป็นโอกาส ดัดแปลงฐานรากตัวโรงพักที่จะสร้างมาทำเป็นบ่อเลี้ยงปลานิล ปลาดุก และปลาตะเพียน จนกลายเป็นจุดสนใจของชาวบ้านและนักท่องเที่ยวที่ผ่านไปมาจำนวนมาก

พ.ต.ท.อุบล โนนตูม สารวัตร หัวหน้าสถานีตำรวจโคกจานในขณะนั้น เล่าว่า ได้ไปขอพันธุ์ปลาจากประมงจังหวัดนำมาเลี้ยง เมื่อปลาโตขึ้นก็ได้แจกจ่ายให้กับครอบครัวตำรวจภายในโรงพักและประชาชนทั่วไปนำไปบริโภค เลี้ยงไปได้หลายรุ่น หลังจากนั้นผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินการก่อสร้างต่อจนแล้วเสร็จเมื่อปี 2558

ขณะที่ สภ.บึงแก อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร พ.ต.ต.พงษ์ศักดิ์ ทองอร่าม เป็นสารวัตร สภ.บึงแก เผยว่า การก่อสร้างโรงพักเริ่มตั้งแต่ปี 2552 ต่อมาโครงการก่อสร้างหยุดชะงักลงเหลือเพียงแค่เสาตั้งไว้ ประมาณในปี 2558 ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างใหม่ จำนวน 10 กว่าล้านบาท และก่อสร้างเสร็จปี 2559 จากสภาพงานที่ใช้มา 2 ปี ผนังอาคารแตกเป็นรอยร้าวหลายแห่ง บานพับหน้าต่างทำจากวัสดุที่ไม่ค่อยดีนัก ทำให้ชำรุดหลายแห่งจึงต้องปิดหน้าต่างไว้ และอีกอย่างคือชั้น 2 ด้านหลังจะมีพื้นที่เป็นลาน มีราวเหล็กกั้น เป็นพื้นที่ว่างเปล่าไม่มีหลังคา

พ.ต.อ.นพดล ธุวังควัฒน์ ผกก.สภ.ห้วยยาง อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เผยว่า สภ.ห้วยยาง ได้งบประมาณจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อปี 2553 ก่อสร้างอาคารเสร็จ หลังผู้รับเหมารายเดิมมีปัญหาทิ้งงาน จากนั้นผู้รับเหมารายใหม่ได้ส่งมอบงานเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2558 และเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2558

ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ปรับปรังภูมิทัศน์ให้มีความสวยงาม เป็น 1 ในโรงพักทดแทน 396 แห่งที่เปิดใช้งานแห่งแรกในประเทศเมื่อปี 2558

สภ.ห้วยยาง เป็นโรงพักขนาดเล็ก 2 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 685 ตารางเมตร มีการจัดทางลาดสำหรับผู้พิการ เดิมอาคาร สภ.ห้วยยาง มีการรื้อถอนอาคารเดิม และใช้บ้านพักเรือนแถวของข้าราชการตำรวจเป็นที่ทำการชั่วคราว ต่อมาเมื่อบอกเลิกสัญญากับบริษัทเดิม เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2555 จึงหยุดการก่อสร้างไว้ชั่วคราว กระทั่งวันที่ 26 กันยายน 2557 จึงเริ่มก่อสร้างใหม่โดย หจก.เกศศิลาคอนสตรัคชั่น ประมูลได้ในวงเงินงบประมาณ 4,335,000 บาท มีระยะเวลาดำเนินการ 150 วัน

ในส่วนของ จ.ระยอง ประกอบด้วย สภ.เมืองระยอง สภ.มาบตาพุด สภ.บ้านฉาง และ สภ.หนองกรับ รวม 4 แห่ง ที่บริษัทผู้รับเหมารื้อสถานีหลังเก่าแล้วปล่อยทิ้งร้าง ผู้สื่อข่าวเดินทางไปตรวจสอบ สภ.บ้านฉาง แม้จะก่อสร้างเสร็จและมีการส่งมอบงานเรียบร้อยแล้ว แต่ยังเปิดใช้งานไม่ได้ อยู่ระหว่างปรับปรุงอุปกรณ์ไฟฟ้าแลเครื่องใช้ในห้องทำงาน คาดว่าหลังเดือนเมษายนนี้จะเปิดบริการประชาชน

ผู้สื่อข่าวมีโอกาสพูดคุยกับ พ.ต.อ.ธงชัย นุ้ยเจริญ ผกก.สภ.เมืองชุมพร เพื่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สภ.เมืองชุมพร เปิดเผยว่า อาคารที่ทำการ สภ.เมืองชุมพร มีการส่งมอบกันช่วงที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2559 หลังจากส่งมอบแล้วยังมีปัญหาเกี่ยวกับอุปกรณ์บางชิ้นในห้องน้ำชายชั้น 2 จึงประสานผู้รับเหมาเพื่อให้มาซ่อมแซมถึง 3 ครั้ง เป็นเพราะฝุ่นละอองขณะก่อสร้างลงไปอุดตันท่อส่งน้ำในถังเก็บน้ำ

ขณะที่งานส่งกำลังบำรุง ภ.จว.ชุมพร ให้ข้อมูลว่าอาคารที่ทำการ สภ.เมืองชุมพร ตามสัญญาว่าจ้างครั้งหลังสุด เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 และสิ้นสุดสัญญาเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2559 เป็นการก่อสร้างในส่วนที่ยังไม่แล้วเสร็จ ส่วนงบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมดคือ 34.4 ล้านบาท เป็นอาคารขนาด 4 ชั้น มีการตรวจรับเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2559 พบส่วนที่บกพร่อง 2 จุดคือที่ฝ้าเพดานและห้องน้ำชายชั้น 2 ทางกรรมการตรวจรับจึงแจ้งให้ผู้รับเหมามาดำเนินการซ่อมแซม ขณะนี้เรียบร้อยแล้ว ตามสัญญาว่าจ้างจะมีการรับประกันเป็นเวลา 2 ปี หากในระหว่างรับประกันเกิดการชำรุดในส่วนใด ทางผู้รับจ้างจะต้องเข้ามาซ่อมแซมให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

นี่คือความทรงจำที่บอกแต่ต้นแล้วว่าเป็นการก่อสร้างโรงพักทดแทนที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ยากที่จะลืมได้ลงจริงๆ

 

โรงพักเมืองชุมพรทิ้งร้างเกือบ 3 ปีก่อนกลับมาสร้างใหม่จนเสร็จ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image