‘อ๋อย’เฮ ศาลปกครองสูงสุดสั่งเพิกถอน คำสั่งกงสุลยกเลิกพาสปอร์ต

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่สำนักงานศาลปกครอง ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ 57/2559 คดีหมายเลขแดงที่ 591/2560 ที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง ฟ้องกระทรวงการต่างประเทศ, กรมการกงสุล , รมว.ต่างประเทศ ,ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ อธิบดีกรมการกงสุล ,สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) รวม 7 ราย กรณีกรมการกงสุลมีคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางทั้ง 3 ฉบับของนายจาตุรนต์นั้น โดยก่อนหน้านี้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวของกรมการกงสุลเนื่องจากเห็นว่านายจาตุรนต์เคยได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. และศาลทหารกรุงเทพ ให้เดินทางออกนอกประเทศหลายครั้ง จึงไม่ใช่ผู้ที่ศาลหรือพนักงานฝ่ายปกครองเห็นว่าไม่ควรออกหนังสือเดินทางให้

โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มีหนังสือขอให้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศยกเลิกหนังสือเดินทางของผู้ฟ้องคดี โดยระบุว่าหนังสือเดินทางเป็นเอกสารสำคัญที่ผู้ต้องหาใช้ในการเดินทางไปประเทศต่างๆ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการสืบหา อันเป็นการอ้างว่าผู้ฟ้องคดีจะหลบหนีการดำเนินคดีอาญาไปต่างประเทศ แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีประกาศห้ามผู้ฟ้องคดีเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และผู้ฟ้องคดีถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กับมาตรา 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งศาลทหารกรุงเทพได้มีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีเงื่อนไขห้ามผู้ฟ้องคดีเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล ก็ไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีได้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและข้อห้ามของศาลแต่อย่างใด แต่ในทางตรงกันข้าม ผู้ฟ้องคดีได้รับอนุญาตและอนุมัติจากศาลทหารกรุงเทพและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรหลายครั้ง ซึ่งผู้ฟ้องคดีก็ได้เดินทางกลับมาทุกครั้ง กรณีจึงเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้มีพฤติการณ์จะหลบหนีไปต่างประเทศ นอกจากนี้ ผู้ฟ้องคดีถูกฟ้องคดีอาญาต่อศาลทหารกรุงเทพ ซึ่งศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ศาลจึงเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาว่าสมควรยกเลิกหนังสือเดินทางหรือไม่ แต่ศาลทหารกรุงเทพก็ไม่ได้มีคำสั่งใดๆ ในกรณีนี้แต่อย่างใด และการยกเลิกหนังสือเดินทางของผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการหลังจากผู้ฟ้องคดีได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ข้ออ้างที่ปรากฏในหนังสือที่ขอให้ยกเลิกหนังสือเดินทางของผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีเหตุผลสนับสนุนอย่างเพียงพอ คำสั่งของกรมการกงสุลโดยอธิบดีกรมการกงสุลที่ยกเลิกหนังสือเดินทางของผู้ฟ้องคดีตามเหตุผล ในหนังสือของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่เพิกถอนคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางของผู้ฟ้องคดี

โดยนายจาตุรนต์กล่าวภายหลังการอ่านคำพิพากษาว่า การพิจารณาคดีครั้งนี้น่าจะเป็นผลทำให้หน่วยงานของรัฐและฝ่ายรัฐบาลจะต้องให้ความสนใจกับการที่จะต้องไม่ใช้อำนาจโดยไม่ชอบ เพื่อประโยชน์ในทางที่จะปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่เห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาล เรื่องนี้ต้นเหตุสำคัญที่นำมายกเลิกหนังสือเดินทางจริงๆ ไม่ใช่เรื่องที่กลัวว่าตนจะหลบหนีไปต่างประเทศ แต่เท่าที่ดูถึงเอกสารที่ตนได้รับในช่วงที่มีการไต่สวนและชี้แจงกันไปมานั้นทำให้เห็นว่าต้นเหตุคือรัฐบาลไม่พอใจที่ตนวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญจึงได้มีการนำไปสู่การดำเนินการต่างๆ ซึ่งไม่ได้มีข้อเท็จจริงรองรับ เป็นการดำเนินการทุกอย่างจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนการอ้างถึงสถานการณ์พิเศษมันไม่ได้อยู่ในสารบบของกฎหมายว่าด้วยการออกหนังสือเดินทางและยกเลิกหนังสือเดินทาง การอ้างลักษณะนี้ที่ผ่านมาก็เป็นการอ้างโดย คสช. ซึ่งก็ไม่มีความชอบธรรม อย่างไรก็ตามตนดีใจที่จะได้หนังสือเดินทางคืน และจะได้ใช้หนังสือเดินทางที่ยังมีอายุการใช้งานอยู่ในการเดินทางต่อไปได้ แต่อดที่จะรู้สึกขมขื่นใจไม่ได้ที่ต้องไม่มีหนังสือเดินทางมานานเกือบ 3 ปีที่ไม่มีเหตุผลใดๆ เลย เป็นการถูกกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม ส่วนจะฟ้องกลับผู้ที่ยกเลิกหนังสือเดินทางหรือไม่นั้นตนขอเวลาในการที่จะไปพิจารณาก่อน คาดว่าจะพิจารณาอีกครั้งหลังพ้นการเลือกตั้งไปแล้ว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image