ไต่สวนเอไอเอส ขอคุ้มครองขยายเวลาคลื่นความถี่ 900เมกกะเฮิร์ตซ์ ศาลนัดกสทช.11เม.ย.

เมื่อเวลา 13.30น. วันที่ 8 เมษายน ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ ตุลาการศาลปกครองกลางออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนครั้งที่ 2 เพื่อพิจารณาคำขอของ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส (เอไอเอส) ที่ขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขยายระยะเวลาการหยุดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่คลื่นความถี่ 900เมกะเฮิร์ตซ์ ออกไปอีก หลังจากเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ในการไต่สวนครั้งแรก ศาลปครองมีคำสั่งคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ในคราวประชุม นัดพิเศษ ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม โดยให้ระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ความถี่ 900เมกะเฮิรตซ์ เป็นการชั่วคราวสิ้นสุดลงในวันที่ 14 เมษายน 2559 เวลา 24.00น.

โดยคดีนี้ เอไอเอส ยื่นฟ้องกสทช. กับ กทค. มี บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ผู้ร้องสอด ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่14 มีนาคม ที่ผ่านมา ว่า ผู้ถูกฟ้องทั้ง2ร่วมกันออกคำสั่งให้เอไอเอสยุติการให้บริการคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตซ์ ในวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา ตามมติ กสทช. เมื่อวันที่ 21ธันวาคม 2558 และเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นผลให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 900 เมกะเฮิร์ตซ์ กับเอไอเอส จำนวน 8 ล้านเลขหมาย จะไม่สามารถใช้เลขหมายเดิมได้

วันนี้มีเพียง นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส และฝ่ายกฎหมาย , ทีมกฎหมายบริษัททรูมูฟ ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชั่น จำกัด ผู้รับใบอนุญาตใช้คลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์รายใหม่ (ผู้ร้องสอด) เข้าให้การต่อศาล ขณะที่ฝ่าย กสทช. ขอเลื่อนการเข้าให้การไต่สวน

ภายหลังการไต่สวนนานถึง 2 ชั่งโมง นายสมชัยกล่าวว่า วันนี้เอไอเอสมายื่นขอความเมตตาจากศาลปกครองเพื่อขยายการเยียวยาจากลูกค้าขอเอไอเอส ที่จะสิ้นสุดการเยียวยาในวันที่ 14 เมษายนนี้ โดยทางเอไอเอสมีข้อเสนอไปใหม่ให้กับทางรัฐบาล คือ การนำคลื่นที่ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด ในเครือบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ประมูลไปนั้น ในราคา 75,564 ล้านบาท ตรงนี้ทำให้เอไอเอสคิดว่าอยากดูแลลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับบริษัทแจส ฯ ไม่ได้มาชำระค่าคลื่นความถี่ทำให้คลื่นความถี่นี้ว่างลง ทางเอไอเอสจึงมาร้องศาลเพื่อขยายการเยียวยาต่อศาลปกครองขอให้ไต่สวน แต่เนื่องจากวันนี้ กสทช.ไม่ได้มาร่วมเนื่องจากติดประชุมด่วนกับรองนายกรัฐมนตรี ศาลได้นัดทางฝั่งกสทช.มาไต่สวนอีกครั้งในวันที่ 11 เมษายนนี้ อย่างไรก็ตามวันนี้ศาลปกครองยังไม่มีคำสั่งใดๆออกมา

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่าในกรณีที่เอไอเอสยื่นขอขยายเวลาคุ้มครอง เงื่อนไขที่ได้ชี้แจงต่อศาลมีอะไรบ้าง นายสมชัย กล่าวว่า ขณะนี้ระบบเน็ตเวิร์คของเอไอเอสครอบคุมทั่วประเทศมากที่สุด หากซิมการ์ดของเอไอเอสในคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ ดับลง จะไม่มีเน็ตเวิร์ดใดรองรับผู้ใช้บริการกลุ่มนี้ได้ เอไอเอสเองมีมาตรการอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ3จี หรือ4จี ไปเปลี่ยนให้ผู้ใช้บริการ รวมถึงการขยายโครงข่ายเพิ่มเติม เหตุผลตรงนี้เอไอเอสจึงคิดว่าน่าจะขยายเวลาเยียวยาต่อออกไปได้ เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการ ซึ่งการขอในครั้งนี้ไม่ได้กำหนดวันแต่อย่างใด เพราะทาง กสทช.มีกฎกติกาอยู่แล้ว โดยทางเอไอเอสมีสิทธิ์ขอขยายเวลาหลังสัญญาสัมปทานหมดลง สามารถขยายเวลาได้ถึง 1 ปี(วันที่ 30 กันยายน 2559) โดยเป็นไปตามประกาศของกสทช.เรื่องการเยียวยาอยู่แล้ว

เมื่อถามว่าจะมีการจัดประมูลเร็วขึ้นเป็นวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ ทางเอไอเอสจะเข้าร่วมหรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า ทางเอไอเอสต้องกลับไปดูเงื่อนไขในรายละเอียดให้ครบถ้วนว่ามีเงื่อนไขอย่างไร เช่น การวางแบงค์การันตี การชำระเงิน และราคาตั้งต้นในการประมูลเป็นอย่างไร

เมื่อถามว่า กรณีที่ กสทช.จะจัดประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตซ์ เฉพาะส่วนของบริษัทแจสฯใหม่นั้นและให้สิทธิบริษัททรู ฯ เข้ามาประมูลด้วยมองอย่างไรบ้าง นายสมชัย กล่าวว่า ต้องดูประกาศของกสทช.ครั้งที่แล้วว่าการประมูลผู้ประมูลรายเก่าควรสามารถประมูลได้เพียงครั้งเดียว เพื่อป้องกันการผูกขาด ต้องขอดูเงื่อนไขการประมูลครั้งใหม่ของ กสทช.ก่อนว่ามีกติกาอย่างไร และจะอนุญาตให้ทางกลุ่มทรูซึ่งประมูลได้คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตซ์ไปจะเข้าร่วมประมูลอีกหรือไม่

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image