คณบดีท่องเที่ยวฯ มธบ.แนะวิธีฟื้นท่องเที่ยว-ขยายวีซ่า-ดึง น.ศ.ต่างชาติกลับไทย
มธบ.- ผศ.ดร.มณฑกานติ ชุบชูวงศ์ คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU เปิดเผยว่า กรณีผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ต่อการท่องเที่ยวไทย แม้รัฐบาลจะเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศบ้างแล้ว แต่ในปัจจุบัน และอนาคต ไทยควรหันมาพึ่งพาตลาดภายในประเทศมากขึ้น โดยรณรงค์ “การสร้างค่านิยมการท่องเที่ยวในประเทศ ใช้สินค้าไทย กินอาหารที่ผลิตในเมืองไทย” เพื่อให้เงินหมุนเวียนอยู่ภายในประเทศ เชื่อว่าประเทศอื่นๆ กำลังทำในลักษณะนี้เช่นกัน
“การท่องเที่ยวช่วงนี้ ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวได้ นอกจากจะรับเฉพาะบางกลุ่ม ซึ่งยังต้องมีการกักตัวใน State Quarantine หรือ Alternative State Quarantine (ASQ) เราจึงควรเน้นตลาดการท่องเที่ยวภายในประเทศ แหล่งท่องเที่ยวในประเทศ และในภูมิภาคจึงต้องมีความพร้อม ดังนั้น นอกจากเมืองท่องเที่ยวหลัก รัฐควรเร่งพัฒนาเมืองรอง โดยต้องมีแผนพัฒนาระดับจังหวัดอย่างชัดเจน ว่าจะพัฒนาในทิศทางใด การเข้าถึงสะดวกหรือไม่ เครือข่ายการเชื่อมโยงของการคมนาคมในท้องถิ่นมีปัญหาไหม โดยออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ทำป้ายบอกทางที่ชัดเจน เพิ่มกิจกรรมการท่องเที่ยว ณ แหล่งท่องเที่ยว พัฒนาอาหารท้องถิ่น และออกแบบแพ็คเกจของที่ระลึกที่ทันสมัย พร้อมกับประชาสัมพันธ์เทศกาล ประเพณีต่างๆ ให้เป็นที่รู้จักด้วย” ผศ.ดร.มณฑกานติ กล่าว
ผศ.ดร.มณฑกานติกล่าวอีกว่า ในอดีตโรงแรมที่มีตลาดต่างประเทศเป็นหลัก อาจไม่ได้ทำการตลาดในภูมิภาค และภายในจังหวัดมากนัก แต่ตอนนี้คงต้องหันมาให้ความสำคัญกับตลาดดังกล่าวมากขึ้น ตลาดในภูมิภาคเป็นฐานลูกค้าแหล่งที่สำคัญ เนื่องจากนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาเยือนได้โดยรถยนต์ ในระยะทางไม่ไกลมาก จะช่วยโรงแรมในด้านการขายห้องพัก การขายอาหาร การจัดประชุม จัด event ต่างๆ นอกจากนี้ โรงแรมต้องพึ่งพาตนเองมากขึ้น เพื่อลดรายจ่าย ลดต้นทุน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศ นอกเหนือจากตลาดนักท่องเที่ยวที่ใช้วีซ่า Long stay 1 ปี คาดว่าจากเดือนตุลาคมเป็นต้นไป จะมีนักท่องเที่ยวทั่วไปที่อยากจะหนีหนาวมาเที่ยวเมืองไทย และยอมกักตัว 14 วัน แต่ปัญหาคือจะรองรับได้หรือไม่ และมี ASQ เพียงพอในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ หรือไม่ และกลุ่มนี้ไม่ได้ใช้วีซ่าระยะยาว ดังนั้น ภาครัฐควรทบทวนระยะเวลาการออกวีซ่าของนักท่องเที่ยวทั่วไป เนื่องจากหากนักท่องเที่ยวต้องถูกกักตัว 14 วันเมื่อมาถึง การออกวีซ่าเพียง 3 เดือนแบบที่ทำอยู่เดิม อาจไม่น่าสนใจ ควรจะปรับเป็น 4-5 เดือน อย่างน้อยก็ภายในระยะ 1-2 ปีนี้
“ส่วนของตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวนไม่น้อยที่ต้องการมารักษาตัวในไทย นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้หลังจากการรักษาในโรงพยาบาล อาจต้องการอยู่เมืองไทยเพื่อพักฟื้นเป็นเวลานาน หรือเพื่อท่องเที่ยวต่อ ดังนั้น การเพิ่มระยะเวลาของวีซ่าดังกล่าว จะเป็นประโยชน์แก่กลุ่มนี้ด้วย และมีผลดีต่อธุรกิจโรงแรมที่จะรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้” ผศ.ดร.มณฑกานติ กล่าว
ผศ.ดร.มณฑกานติกล่าวว่า ขณะที่ตลาดด้านการศึกษานั้น ปัจจุบันมีนักศึกษาต่างชาติในระดับต่างๆ ที่ยังกลับมาเรียนต่อไม่ได้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการกักตัว ณ โรงแรมที่เป็น Alternative State Quarantine มีราคาสูง แต่หากมีโรงแรมระดับกลาง หรือล่าง เข้าร่วมเป็น ASQ อาจทำให้ตลาดนี้กลับมาได้เร็วขึ้น และกลุ่มนี้น่าสนใจ เนื่องจากจะอยู่ในไทยระยะยาว 1-4 ปี จะช่วยเศรษฐกิจในท้องถิ่นได้ดี และกลุ่มนี้ยังมีญาติ และเพื่อนมาเยี่ยม เป็นการเพิ่มรายได้การท่องเที่ยว