ที่มา | คอลัมน์ "มติชนมติครู" |
---|---|
ผู้เขียน | ดร.ดำรงค์ ชลสุข |
มติชนมติครู : พลิกโฉมศึกษานิเทศก์ (ไทย)
ผู้เขียนมีความเกี่ยวข้องกับศึกษานิเทศก์ มาตั้งแต่เป็นครูบรรจุใหม่ เมื่อ พ.ศ.2507 จังหวัดได้ส่งไปอบรมครูสอนภาษาอังกฤษ ที่เขตการศึกษา 6 จังหวัดลพบุรี หลักสูตรการอบรมเป็นแบบพักค้างคืน วิชาที่อบรม ได้แก่ หลักวิธีการสอนภาษาอังกฤษแนวใหม่ การออกแบบกิจกรรมประกอบ การเรียน-การสอน การฝึกปฏิบัติจัดทำอุปกรณ์และสื่อการสอนภาษาอังกฤษ และฝึกร้องเพลงประกอบการสอนภาษาอังกฤษ เป็นต้น
สิ่งที่ประทับใจในการอบรมดังกล่าว คือวิทยากรที่มาให้ความรู้ ล้วนแต่เป็นวิทยากรของเขตการศึกษา 6 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เอกวิชาการสอนภาษาอังกฤษ ที่สำคัญมีประสบการณ์การสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนมาแล้วประมาณ 3-5 ปี สำหรับประโยชน์ในการฝึกอบรมนั้น ผู้เขียนสามารถนำอุปกรณ์-สื่อการเรียน เช่น Slot Board, บัตรคำ, เกม และบทเพลงภาษาอังกฤษ ไปใช้สอนนักเรียนในโรงเรียนได้อย่างดี
อย่างไรก็ตาม ศึกษานิเทศก์ในยุคเกือบ 60 ปีที่ผ่านมา มีบทบาทเป็น Inspectors หรือผู้ตรวจการทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) วันใดที่ศึกษานิเทศก์ออกไปนิเทศการศึกษาตามโรงเรียน บรรดาครูต่างวิตกกังวล ต้องเตรียมการสอนวิชาที่สอนเป็นอย่างดี เพราะศึกษานิเทศก์จะดูการสอนของครูด้วย
ที่สำคัญ ศึกษานิเทศก์จะบันทึกความคิดเห็นเกี่ยวกับการสอนของครู ไว้ในสมุดบันทึกเยี่ยมโรงเรียน และข้อวิจารณ์ (Comments) ต่างๆ อาจมีผลต่อการเลื่อนขั้นเงินเดือนของครู
ศึกษานิเทศก์เป็นกลุ่มบุคลากรที่มีบทบาทที่สำคัญต่อวงการศึกษาของไทยมาแล้วกว่า 60 ปี ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นศึกษานิเทศก์ ต้องคัดเลือกมาจากครูที่มีประสบการณ์ เก่งในด้านการสอน เป็นที่ยอมรับ และศรัทธาเลื่อมใสของครู
พ.ศ.2491 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO เข้ามาช่วยพัฒนาการศึกษาของไทย และเสนอให้ไทยจัดตั้งที่ปรึกษา (Supervisor) ทำหน้าที่สนับสนุนงานด้านวิชาการของโรงเรียนต่างๆ ในประเทศ ใน พ.ศ.2495 กรมวิสามัญศึกษา (ในขณะนั้น) จึงได้จัดตั้งอบรมศึกษานิเทศก์ขึ้นเป็นครั้งแรก คำว่า “ศึกษานิเทศก์” จึงได้เกิดขึ้น
พ.ศ.2497 ศธ.โดยกรมสามัญศึกษา ได้ออกระเบียบจัดตั้งหน่วยศึกษานิเทศก์ขึ้น มีหน้าที่ปฏิบัติงาน ค้นคว้า อบรมครู แนะนำการจัดทำอุปกรณ์-สื่อการสอน สาธิตการสอน จัดทำคู่มือครู และศึกษานิเทศก์ยังให้ความช่วยเหลือพัฒนาครูในภูมิภาคอีกด้วย นอกจากนั้น ศธ.ยังได้แต่งตั้งศึกษานิเทศก์ประจำจังหวัด และประจำเขตการศึกษาต่างๆ ทั้ง 12 เขตการศึกษา (ก่อน พ.ศ.2509)
พ.ศ.2509 โอนโรงเรียนประถมศึกษาทั่วประเทศ (โรงเรียนประชาบาล) ไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด กระทรวงมหาดไทย แต่ศึกษานิเทศก์ไม่ได้โอนตามไป ดังนั้น พ.ศ.2514 ศธ.จึงรวมศึกษานิเทศก์ทั่วประเทศเป็นหน่วยศึกษานิเทศก์จังหวัด สังกัดกรมสามัญศึกษา โดยรับผิดชอบงานนิเทศการศึกษาของมัธยมศึกษา และประถมศึกษา
พ.ศ.2523 รัฐบาลตราพระราชบัญญัติการประถมศึกษาแห่งชาติ โอนโรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กระทรวงมหาดไทย มาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) และโอนศึกษานิเทศก์มาสังกัด สปช.โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ศึกษานิเทศก์ระดับกรม (สปช.), ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ ทั้งนี้ ได้กำหนดหน้าที่นิเทศการศึกษาของศึกษานิเทศก์ทั้ง 3 ระดับ ไว้อย่างชัดเจน
พ.ศ.2542 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มีผลให้ศึกษานิเทศก์ไปเป็นหน่วยงานของสำนักเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เป็นหน่วยงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ซึ่งทั้ง สพป.และ สพม.เป็นหน่วยงานสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
ปัจจุบันประเทศไทยมีศึกษานิเทศก์เป็นจำนวนนับพันคน และศึกษานิเทศก์เหล่านี้ กระจายไปสังกัดกระทรวงต่างๆ ดังนี้ สังกัด ศธ.กระจายไปที่ 1) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย 2) สพฐ. 3) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 4) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้แก่ ศึกษานิเทศก์ของเทศบาล, อบจ. และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5) กรุงเทพมหานคร ได้แก่ ศึกษานิเทศก์ของสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร (กทม.) และ 6) เมืองพัทยา เป็นต้น
โครงการพัฒนาศึกษานิเทศก์ ปี พ.ศ.2564 สพฐ.ได้จัดอบรมศึกษานิเทศก์ทั่วประเทศผ่านระบบออนไลน์ webinar เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสมรรถนะของศึกษานิเทศก์ในสังกัดต่างๆ มีศึกษานิเทศก์จากหน่วยงานต่างๆ เข้ารับการอบรมจำนวน 3,580 คน แยกเป็น 1.ศึกษานิเทศก์จาก สพฐ.จำนวน 2,723 คน 2.ศึกษานิเทศก์จากสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, อปท., สำนักการศึกษา กทม. และศึกษานิเทศก์เมืองพัทยาอีก 857 คน
ด้วยเหตุที่ศึกษานิเทศก์เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในระดับเขตพื้นที่การศึกษา ทั้งเขตมัธยมศึกษา และเขตประถมศึกษา รวมทั้งหมด 245 เขต (สพม. 62 เขต, สพป. 183 เขต) จึงจำเป็นต้องพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมขึ้น
หลักสูตรการฝึกอบรม ประกอบด้วย : ความรู้ด้านการสอนคู่กับการใช้เทคโนโลยี, การต่อยอดศาสตร์พัฒนาครู, การสร้างชุมชนการเรียนรู้ (PLC), การนิเทศการศึกษาแนวใหม่ (โดยใช้กระบวนการวิจัยที่เป็นการทำงานอย่างเป็นระบบ และใช้งานวิจัยเป็นพื้นฐานของการทำงาน) และการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งในระดับชั้นเรียนและระดับสถานศึกษา
รูปแบบการพัฒนา : พัฒนาต่อเนื่องเป็นระบบครบวงจร พัฒนาแบบผสมผสาน เช่น สัมมนา Online การเรียนรู้ด้วยตนเองและการลงมือปฏิบัติจริง สำหรับการพัฒนานั้นควรมี 3 ระยะ ได้แก่ ก) การสัมมนาออนไลน์ ด้วยการฟังบรรยายจากวิทยากร ข) การศึกษาด้วยตนเอง (Self-learning) หรือทำงานที่ได้รับมอบหมาย และ ค) ระยะ 3 เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ
รายละเอียดหลักสูตร : มีสาระสำคัญ 4 ข้อ คือ 1.สมรรถนะของศึกษานิเทศก์ มีดังนี้ ก) สมรรถนะหลัก ประกอบด้วย มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน การบริการที่ดี การพัฒนาตนเอง และการทำงานเป็นทีม ข) สมรรถนะประจำสายงาน แบ่งเป็น วิเคราะห์-สังเคราะห์ สื่อสารและจูงใจ พัฒนาบุคลากร และมีวิสัยทัศน์ ค) สมรรถนะในการส่งเสริมการเรียนรู้ แบ่งเป็น ผู้นำด้านต่าง ๆ เช่น การเรียนรู้ การคิด การเปลี่ยนแปลง และการอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ (Facilitative learning) และ ง) สมรรถนะที่จำเป็น แบ่งเป็น ส่งเสริมการปกครองแบบประชาธิปไตย มีคุณธรรม รักอาชีพตน และเป็นพลเมืองที่ดี (Good citizen)
2.ศาสตร์ในการพัฒนามนุษย์ หรือพัฒนาคน (Human resource development : HRD) คือแนวทางและกระบวนการพัฒนาและส่งเสริมให้คนในองค์กรมีความรู้ (Knowledge) มีความเข้าใจ (Understanding) มีความสามารถ (Ability) และมีทัศนคติที่ดี (Attitude) หรือเขียนอย่างย่อว่า “KUAS” การพัฒนาคนมีหลายวิธี เช่น การฝึกอบรมหรือสัมมนา การศึกษาดูงาน การมอบงานให้ทำ (Assigment) และการแลกเปลี่ยนความรู้-ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน
3.เทคโนโลยีในการพัฒนาครู เทคโนโลยีมีความสำคัญต่อการพัฒนาครู 3 ลักษณะ คือ 1) ครูต้องเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี (Learning about technology) ได้แก่ รู้ระบบของคอมพิวเตอร์ ใช้ e-mail และ Internet ได้และสื่อสารข้อมูลทางไกลผ่าน e-mail ได้ เป็นต้น 2) ครูต้องเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยี (Learning by technology) ได้แก่ หาความรู้ใหม่ ๆ ด้าน IT, ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAT), สอน On-line ได้ 3) ครูต้องนำ Technology มาใช้พัฒนาการเรียนการสอนได้ (Learning with technology)
4.ผลกระทบของเทคโนโลยีต่อการเรียนการสอน นวัตกรรมทาง Technology สามารถ ดึงดูดความสนใจของนักเรียน ให้เกิดการอยากรู้อยากเห็นศึกษานิเทศก์ผู้ใช้นวัตกรรมโดยตรงจึงต้องมี ความตื่นตัว ค้นคว้าสนใจในสื่อการสอนที่ทันสมัย มาใช้ให้สอดคล้องกับสภาพ และสอดคล้องกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ศึกษานิเทศก์ต้องติดตามวิทยาการความรู้ใหม่ๆ มาเผยแพร่ให้ครู ผู้บริหารการศึกษา และนักเรียนได้ปฏิบัติเป็นแนวทาง เช่น นำห้องเรียนเสมอจริงหรือห้องเรียนเสมือนจริงมาใช้
ห้องเรียนเสมือนจริง (Virtual classroom) หมายถึง การเรียนการสอนผ่านระบบเครือข่าย คอมพิวเตอร์ โดยใช้ช่องทางของระบบสื่อสาร และ Internet ผู้เรียนสามารถใช้คอมพิวเตอร์เชื่อมต่อกับระบบ Internet เข้าไปเรียนใน website ที่ออกแบบกระบวนการเรียนการสอน ให้มีสภาพแวดล้อมคล้ายกับ สภาพการณ์สอนจริง นับว่าการสอนแบบนี้นักเรียนสามารถเข้าถึงข้อมูล และเนื้อหาวิชาของบทเรียนโดยผ่าน Computer
5. PLC กับการเรียนรู้ของนักเรียน : PLC คือ Professional Learning Community หมายถึง การรวมตัว ร่วมใจ ร่วมทำ และร่วมเรียนรู้ร่วมกันของครู ผู้บริหาร และนักการศึกษา ตลอดจนศึกษานิเทศก์บนพื้นฐาน วัฒนธรรม ความสัมพันธ์แบบกัลยาณมิตร มีวิสัยทัศน์ มีคุณค่า มีเป้าหมาย มีภารกิจร่วมกัน ทำงานร่วมกันแบบทำงานเป็นทีม และเรียนรู้ร่วมกันโดยมีครูเป็นผู้ชี้แนะ ทั้งนี้ ผู้บริหารจะคอยดูแลสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง การเรียนรู้แบบ PLC จะพัฒนาวิชาชีพ เปลี่ยนแปลงคุณภาพตนเองสู่คุณภาพ การจัดการ การเรียนรู้ที่เน้นประสิทธิผลของผู้เรียนเป็นสำคัญ
จากที่กล่าวมาแล้วจะเห็นว่า ศึกษานิเทศก์เป็น Change Agent หรือตัวการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการจัดการการเรียนรู้ของนักเรียน เพราะศึกษานิเทศก์มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการจัดหา และพัฒนาอุปกรณ์สื่อการสอนทำงานใกล้ชิดกับครูในโรงเรียน มีหน้าที่ออกแบบ และสร้างหลักสูตรการเรียนการสอน นอกจากนั้น ศึกษานิเทศก์ยังมีหน้าที่ตรวจสอบวัสดุ-อุปกรณ์-สื่อการสอนที่จำเป็นในการประกอบการสอน บางครั้งจะต้องเข้าไปช่วยเหลือในการอบรมครู ตลอดจนเข้าไปมีส่วนร่วมในการสรรหาครูที่มีศักยภาพให้เข้ามาสอนในโรงเรียนอีกด้วย
ข้อเสนอแนะ 1.ให้หน่วยงานศึกษานิเทศก์ เป็นหน่วยงานอิสระ ไม่ขึ้นกับผู้อำนวยการ สพป.หรือ สพม.แต่ให้ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการ ศธ.
2.มีการพัฒนา ความรู้ ความสามารถ ทักษะ และทัศนคติของศึกษานิเทศก์ตั้งแต่เริ่มรับราชการ จนถึงพ้นจากตำแหน่ง อย่างเป็นระบบ ครบวงจร และต่อเนื่อง
3.มีการตรวจสอบการคงสภาพวิทยฐานะ : ของศึกษานิเทศก์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการด้อยสมรรถนะการทำงาน
4.ผู้บังคับบัญชา ควรมอบหมายงานที่เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบเฉพาะของศึกษานิเทศก์เท่านั้น ไม่ควรมอบงานอื่นๆ นอกเหนือหน้าที่มาให้ทำ
5.ให้ศึกษานิเทศก์ร่วมกันจัดทำจรรยาบรรณวิชาชีพ (Professional code) เพื่อผดุง และธำรง ไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์ศรีอาชีพของศึกษานิเทศก์ไทย