‘ตรีนุช’ ปัดตอบ กลุ่มน.ร.มอบพวงหรีดหลังทำงานครบ 1 ปี บอกเดี๋ยวสงกรานต์จะร้อนกว่านี้ ชี้ที่ผ่านมาพยายามทำงานเชื่อมโยง ตั้งทีม 12 ผู้ตรวจฯตามงาน 5 นโยบายเร่งด่วน
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวเปิดการประชุม ขับเคลื่อนและติดตามประเมินผลประเด็นนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตอนหนึ่งว่า ศธ.เป็นกระทรวงใหญ่มีภารกิจซึ่งเป็นที่คาดหวังของสังคม ในการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตามตลอด 1 ปี ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ. พยายามบูรณาการการทำงานให้เกิดความเชื่อมโยงโครงการต่างๆ ตามนโยบายเร่งด่วน 5 เรื่อง คือ 1.โครงการพาน้องกลับมาเรียน ค้นหา ติดตามเด็กตกหล่นและออกกลางคันกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา 2.โรงเรียนคุณภาพ 3.อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ 4.ความปลอดภัยในสถานศึกษา และ 5.หนี้สินครู เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาคุณภาพการศึกษา ภายใต้บริบทสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งการขับเคลื่อนทั้ง 5 เรื่องนี้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือช่วยกันดูแลผู้เรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาอย่างเต็มที่ จึงประสบผลสำเร็จ
“ใน 1 ปีที่ผ่านมา ดิฉันและผู้บริหาร ศธ. พยายามหาจุดเน้นว่าจะทำอย่างไรจึงจะสามารถขับเคลื่อนการทำงานได้รวดเร็วมากที่สุด จึงเกิดเป็นนโยบายเร่งด่วนทั้ง 5 เรื่อง ที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนในพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามประเมินผลประเด็นนโยบายเร่งด่วนตามนโยบายของ ศธ.ขึ้น ประกอบด้วย คณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามประเมินผลประเด็นนโยบายเร่งด่วน ระดับเขตตรวจราชการ และคณะกรรมการประสานงานและบริหารจัดการ” น.ส.ตรีนุชกล่าว
รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวต่อว่า สำหรับคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามประเมินผลประเด็นนโยบายเร่งด่วน ระดับเขตตรวจราชการ โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ทั้ง 12 คน เป็นประธานกรรมการ ซึ่งแบ่งตาม 18 เขตตรวจราชการที่แต่ละคนดูแลอยู่ มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการลงพื้นที่ติดตาม ประเมินผล และสื่อสารสร้างความเข้าใจใน 5 นโยบายเร่งด่วน เนื่องจาก ศธ.เป็นกระทรวงใหญ่ แต่ละพื้นที่มีบริบทที่แตกต่างหลากหลาย ดังนั้นจึงได้เน้นย้ำว่าการลงพื้นที่ต้องมีรูปแบบการติดตามที่หลากหลายที่เน้นสภาพจริง และไม่เป็นทางการ เพื่อไม่เป็นภาระกับหน่วยงานในพื้นที่ รวมถึงขอให้นำเสนอปัญหา อุปสรรคและแนวทางแก้ไข เพื่อที่ ศธ.จะได้นำไปวางแนวทางเชื่อมโยงกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) บูรณาการแก้ปัญหาร่วมกัน อาทิ ศธ.มีโรงเรียนในกำกับทั่วประเทศค่อนข้างมาก ภายใต้งบประมาณที่จำกัดจะทำอย่างไรให้การใช้ทรัพยากรมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยอาจไม่จำเป็นต้องใช้แนวทางควบรวมโรงเรียนเท่านั้น พื้นที่เองก็สามารถเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับบริบท สามารถจัดการสอนได้อย่างประสิทธิภาพ
น.ส.ตรีนุชกล่าวด้วยว่า ในระยะแรกตั้งแต่เดือนเมษายนนี้ คณะกรรมการจะลงพื้นที่ติดตามประเมินผล 5 ประเด็นนโยบายเร่งด่วน โดยมีการติดตามและรายงานผลการติดตามจำนวน 2 ครั้ง คือ หลังเทศกาลสงกรานต์ และก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 เพื่อได้ข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ในการดำเนินการโครงการให้มีประสิทธิภาพและทันเปิดเรียนในเดือนพฤษภาคมนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีกลุ่มเยาวชนปฏิวัติเดินทางมาแสดงความยินดีพร้อมวางพวงหรีดและแสดงสัญลักษณ์โดยนำเชือกมารัดคอตัวเองหลังรับตำแหน่งครบ 1 ปีนั้น น.ส.ตรีนุชยิ้ม แต่ไม่ตอบพร้อมกับบอกว่า “โอเค เดี๋ยวสงกรานต์จะร้อนกว่านี้”