ที่มา | คอลัมน์ "รายงาน" |
---|
รายงานการศึกษา : เรียนรู้นอกห้อง..ที่ ‘บ้านถ้ำเสือ’ สัมผัสวิถีท่องเที่ยวแบบ ‘รักษ์โลก’
จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เป็นที่แน่ชัดว่าโรคโควิด-19 เป็นปัญหาใหญ่ต่อระบบกลไกการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น และการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว ของนักท่องเที่ยวให้ลดน้อยลง
แต่หากมองในมุมของสิ่งแวดล้อมแล้ว ถือเป็นช่วงเวลาที่ดี ที่ธรรมชาติได้กอบโกยความสุข และได้ฟื้นตัวเองอีกครั้ง หลังถูกการท่องเที่ยวรบกวนมาเป็นระยะเวลายาวนาน แต่กระนั้นการท่องเที่ยวก็ยังเดินหน้าต่อไปอย่างเป็นพลวัต ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถหยุดนิ่งอยู่แต่ในบ้านได้เป็นเวลานานๆ ความถวิลหาการเดินทางจึงก่อตัวขึ้นอีกครั้งภายใต้ปัจจัยต่างๆ มากมาย
ส่งผลให้พฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มมองหาสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ห่างไกลผู้คน แต่อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ สถานที่ที่ได้รับความสนุกสนานกับกิจกรรมการท่องเที่ยว แต่สัมผัสได้ถึงความปลอดภัย หรือสถานที่ที่ได้ดื่มด่ำกับธรรมชาติ ละเมียดละไมกับวิถีชีวิต และวัฒนธรรม แต่มีโอกาสทำประโยชน์กลับคืนสู่สิ่งแวดล้อม และสังคม
Low Carbon Tourism หรือ การท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการท่องเที่ยวที่ผสมผสานแนวคิดของการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และการท่องเที่ยวแบบมีความรับผิดชอบเข้าไว้ด้วยกัน โดยมีใจความสำคัญที่ว่า “เที่ยวอย่างไรจึงจะปล่อยก๊าซคาร์บอนให้น้อยที่สุด” หากพิจารณาแล้ว จะพบว่าทุกย่างก้าวของการออกเดินทางท่องเที่ยว ล้วนก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ เสมือนว่ากิจกรรมการท่องเที่ยว ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เร่งให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม และโลกใบนี้
ดังนั้น จุดเริ่มต้นของการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ จึงเกิดขึ้นเมื่อนักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการการท่องเที่ยว เริ่มให้ความสำคัญกับการจัดการการท่องเที่ยวที่ช่วยลดปัญหาการเกิดภาวะโลกร้อน โดยพยายามออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ที่แปลกใหม่ เกิดความตระหนักรู้ และใส่ใจในสิ่งแวดล้อมได้ไปพร้อมๆ กัน
น.ส.พรทิพย์ บุญเที่ยงธรรม อาจารย์ประจำสาขาการท่องเที่ยวและธุรกิจอีเวนต์ คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เล่าว่า จากเทรนด์การท่องเที่ยวกลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ จึงได้หยิบยกชุมชนท่องเที่ยวบ้านถ้ำเสือ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ให้เป็นจุดหมายปลายทางในการศึกษานอกสถานที่สำหรับนักศึกษาในภาคเรียนนี้ โดยมีโจทย์สำคัญคือ “ทำอย่างไรที่จะทำให้นักศึกษา ได้รับประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบรักษ์โลกอย่างแท้จริง และปลอดภัยจากโควิด”
“ดังนั้น การท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำของชุมชนบ้านถ้ำเสือ จึงเป็นสถานที่ที่ถูกเลือก เพราะมีความน่าสนใจทั้งในด้านแนวคิดของการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และในมุมของการบริหารจัดการตัวเองภายใต้สถานการณ์โควิด-19 โดยชุมชนปรับตัวเองเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวแบบเป็นกลุ่ม หรือเป็นหมู่คณะ ได้อย่างปลอดภัย และมีมาตรฐาน” อาจารย์พรทิพย์ กล่าว
ปัจจุบัน บ้านถ้ำเสือเป็นชุมชนที่ได้รับการยกระดับ และเพิ่มมูลค่า ให้เป็นชุมชนต้นแบบวัฒนธรรมการท่องเที่ยวแห่งแรกของไทย ซึ่งมีรูปแบบการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติพร้อมๆ กับการพัฒนาตนเองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่มุ่งเน้นให้คนในชุมชนได้มีโอกาสกำหนดทิศทางการพัฒนาชุมชนตามสภาพปัญหาของพื้นที่ และความต้องการของชุมชนโดยแท้จริง
นอกจากนี้ คนในชุมชนยังร่วมกันกำหนดแนวคิดของการพัฒนา และการอนุรักษ์พื้นที่ป่า สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมชุมชน และพยายามขับเคลื่อนตนเองสู่การเป็นสังคมปลอดคาร์บอน (Zero Carbon) ผ่านกระบวนการออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ต้อง “ใช้สมองคิด ใจดู และสองมือทำ” พร้อมที่จะเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างมั่นใจ
โดยเริ่มต้นด้วยการดับเครื่องยนต์ แล้วเดินเท้าเข้าสู่บ้านถ้ำเสือ พร้อมเปิดประสาทการมองเห็นธรรมชาติที่โอบล้อมด้วยแมกไม้ สัมผัสอากาศที่เย็นสบาย และรับฟังเสียงจักจั่นที่ดังซึงแซ่ตลอดเส้นทาง ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดทางธรรมชาติ ที่แสดงให้เห็นว่าเรากำลังเข้าใกล้แหล่งธรรมชาติอย่างแท้จริง
สิ่งแรกที่นักท่องเที่ยวจะได้ลิ้มลองคือ น้ำดอกอัญชันมะนาว ที่เสิร์ฟมาในแก้วน้ำที่มีเอกลักษณ์ เพราะถูกตกแต่งโดยวัสดุที่หาได้จากท้องถิ่น ที่สำคัญคือมั่นใจได้ 100% ว่าปลอดสารพิษ เพราะชาวบ้านปลูกกันเองแบบอินทรีย์ ดังนั้น นักท่องเที่ยวที่ได้มาจะได้สัมผัส และดื่มด่ำความสดชื่นท่ามกลางวิวพาโนรามาของแม่น้ำเพชรบุรีที่ใสสะอาดแบบไม่น่าเชื่อ ก่อนที่ประธานธนาคารต้นไม้ จะมาบรรยายให้ความรู้ถึงที่มาที่ไปของบ้านถ้ำเสือ และนำเข้าสู่กิจกรรมสร้างสรรค์แบบคาร์บอนต่ำ ที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วม อาทิ การปั้นลูกกระสุนเมล็ดพันธุ์, การทำไข่เค็มสมุนไพรใบเตย และทองม้วนน้ำตาลโตนด
การทำอาหารท้องถิ่นที่มีชื่อเก๋ไก๋ว่า “ยำถ้ำเสือ” หรือ ยำผักกูด ผักท้องถิ่นขึ้นชื่อที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อีกทั้ง ยังให้นักท่องเที่ยวได้ลองลงมือทำยำผักกูดด้วยตัวเอง โดยใช้ถ่านไม้ปลอดสารพิษเป็นเชื้อเพลิง
ปิดท้ายด้วยชุดอาหารแบบปิ่นโต ที่ชุมชนจัดแยกมาเป็นชุดๆ แบบของใครของมัน ซึ่งไม่ใช่แค่แนวคิดของการออกแบบให้มีอัตลักษณ์เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการแทรกความรู้เรื่องการควบคุมปริมาณอาหารให้พอดีกับคนทาน และการจัดการอาหารไม่ให้เหลือทิ้งเป็นของเสีย
เห็นได้ชัดว่านี่คือการแก้โจทย์ที่ผ่านกระบวนการคิดอย่างมีชั้นเชิงโดยคนในชุมชน ในฐานะผู้ประกอบการการท่องเที่ยวที่มีวิถีรักษ์โลก ที่ทำให้สิ่งที่จับต้องได้ยาก กลายมาเป็นสิ่งที่จับต้องได้ง่าย โดยการออกแบบชุดการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
อาจารย์พรทิพย์ กล่าวอีกว่า เช่นเดียวกับการออกแบบการเรียนการสอน ที่ผู้สอนต้องมีบทบาทสำคัญในการสะท้อนภาพที่ชัดเจน เรื่องการท่องเที่ยวแบบรักษ์โลกให้แก่นักศึกษา ผู้ซึ่งจะเป็นนักท่องเที่ยว และหรือผู้ประกอบการการท่องเที่ยวที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมได้ในอนาคต ผู้สอนต้องมีการบริหารจัดการการเรียนรู้อย่างใส่ใจตั้งแต่จุดเริ่มต้น ซึ่งมิใช่เพียงการเชื่อมโยงเนื้อหาให้สอดคล้องตามหลักสูตรเท่านั้น แต่จะต้องเป็นผู้วางแผนการเดินทาง คัดเลือกสถานที่เพื่อการศึกษาเรียนรู้ เลือกที่จะสนับสนุนที่พักแรม ร้านอาหาร หรือธุรกิจการท่องเที่ยวที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง เลือกทำกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ให้แทรกซึมเข้ามาอยู่ในกระบวนการศึกษา และเรียนรู้
เพราะนี่คือ “วิถีการท่องเที่ยวแบบรักษ์โลก เทรนด์การท่องเที่ยวใหม่ที่ต้องออกแบบ และออกมาเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วยตนเอง”