รายงานการศึกษา : เปิดเกณฑ์ใหม่ ก.ค.ศ.เฟ้น ‘ผอ.-รอง ผอ.สถานศึกษา’
จากกรณีที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่มี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบ ร่างหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยมอบหมายให้สำนักงาน ก.ค.ศ.ไปปรับแก้รายละเอียดก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้ประกาศหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าว มีข้อสรุปดังนี้
ให้ยกเลิกหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯ เดิม และให้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกใหม่ โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หลักเกณฑ์และวิธีการนี้ ใช้สำหรับการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) หรือสำนักงานการบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) โดยให้ สพฐ.รับผิดชอบจัดสรรงบประมาณเกี่ยวกับการดำเนินการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือก ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา ดังนี้ ปัจจุบันต้องเป็นครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด สพฐ.และต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งเดียวกันกับตำแหน่งที่สมัครเข้ารับการคัดเลือก มีคุณสมบัติทั่วไปตามาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา ตามมาตรฐานตำแหน่งที่ ก.ค.ศ.กำหนด
ให้ สพฐ.ดำเนินการเกี่ยวกับการคัดเลือกฯ แล้วแต่กรณี ดังนี้ 1.กำหนดวัน และเวลาในการดำเนินกาคัดเลือกทั้ง สพม., สพป.และ สศศ. 2.กำหนดรายละเอียด วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการคัดเลือกฯ แล้วแต่กรณี ดังนี้ องค์ประกอบในการคัดเลือกให้สอดคล้องกับลักษณะงานที่ปฏิบัติตามมาตรฐานตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา หรือผู้อำนวยการสถานศึกษา แล้วแต่กรณี รวมทั้ง ตัวชี้วัด และคะแนน วิธีการ และเงื่อนไขในการสมัครของผู้สมัคร วิธีการคัดเลือกตามความเหมาะสม เกณฑ์การตัดสิน
เงื่อนไขระยะเวลาการขึ้นบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือก วิธีการเรียกตัว และเงื่อนไขในการบรรจุและแต่งตั้ง และข้อตกลงในการปฏิบัติงานในหน้าที่ ให้เป็นไปตามลักษณะงานที่ปฏิบัติ องค์ประกอบการประเมินสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานในหน้าที่ตามข้อตกลง รวมทั้ง ตัวชี้วัด คะแนนการประเมิน เกณฑ์การตัดสิน กรรมการประเมิน และวิธีการประเมิน
ทั้งนี้ เมื่อ สพฐ.ดำเนินการเสร็จแล้ว ให้เสนอ ก.ค.ศ.พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนแจ้งคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) หรือคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ที่ ก.ค.ศ. ตั้งดำเนินการต่อไป
ให้ กศจ.หรือ อ.ก.ค.ศ., สศศ.แล้วแต่กรณี ดำเนินการเกี่ยวกับการคัดเลือกฯ แล้วแต่กรณี ดังนี้ กำหนดจำนวนตำแหน่งว่างที่จะใช้ในการบรรจุแต่งตั้ง แยกเป็น สพป., สพม.และ สศศ.แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ผู้สมัครจะสามารถสมัครสอบเข้ารับการคัดเลือกได้เพียงแห่งเดียว หากปรากฏว่าผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกสมัครเกินกว่าหนึ่งแห่ง จะตัดสิทธิการคัดเลือกทั้งหมด
การดำเนินกาคัดเลือกให้เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยยึดหลักคุณธรรม ความเสมอภาค ความโปร่งใส และตรวจสอบได้ หากปรากฎว่ามีการทุจริต หรือส่อไปในทางไม่สุจริต หรือดำเนินการผิดพลาด อันอาจทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม ให้ กศจ.หรือ อ.ก.ค.ศ., สศศ.แล้วแต่กรณี พิจารณาแก้ไข หรือยกเลิกการคัดเลือกในครั้งนี้ได้ และรายงานให้ส่วนราชการ และ ก.ค.ศ.รับทราบ
ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งผู้ได้รับการคัดเลือกที่มีคุณสมบัติครบถ้วน และรายงานให้ สพฐ., ก.ค.ศ.รับทราบภายใน 7 วัน นับแต่วันแต่งตั้ง ทั้งนี้ ผู้ได้รับการแต่งตั้ง ต้องได้รับการประเมินสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานในหน้าที่เพื่อพัฒนาการศึกษาเป็นระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง ตามองค์ประกอบ และตัวชี้วัดที่ สพฐ.กำหนด โดยให้ประเมิน 2 ครั้ง ทุก 6 เดือน หากผลประเมิน 6 เดือนแรกไม่ผ่านเกณฑ์ ให้ผู้ประเมินแจ้งผลการประเมินให้ผู้เข้ารับการประเมินรับทราบ เพื่อพัฒนาตนเอง และปรับปรุงการปฏิบัติงานในหน้าที่ และเมื่อครบ 6 เดือนหลัง ให้ประเมินในครั้งที่ 2 แล้วให้ผู้ประเมินสรุปผลการประเมิน
หากผลการประเมินรวมทั้ง 2 ครั้ง ผ่านเกณฑ์การประเมิน ให้ผู้เข้ารับการประเมินปฏิบัติงานในหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้งต่อไป แต่หากผลการประเมินรวมทั้ง 2 ครั้ง ไม่ผ่านการประเมิน ให้ดำเนินการตามมาตรา 71 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการครูและบุคาลกรทางการศึกษารับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน พ.ศ.2551 โดยดำเนินการสั่งย้าย หรือเกลี่ยอัตรากำลัง เพื่อแต่งตั้งผู้ที่มีผลการประเมินไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินรายนั้น ไปดำรงตำแหน่งเดิม หรือเทียบเท่า ซึ่งเป็นตำแหน่งก่อนเข้าสู่ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา หรือผู้อำนวยการสถานศึกษา แล้วแต่กรณีในหน่วยงานการศึกษาที่มีอัตรากำลังต่ำกว่าเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ.กำหนด
กรณีที่ผู้ได้รับแต่งตั้งออกจากราชการก่อนครบระยะเวลาการประเมินสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานในหน้าที่ครบ 1 ปี เช่น ลาออกจากราชการ หรือเกษียณอายุราชการ หรือเสียชีวิต เป็นต้น ให้ยุติการประเมิน ณ วันที่ออกจากราชการ โดยให้ถือว่าออกจากราชการตามตำแหน่งที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้ง
กรณีตรวจสอบภายหลังพบว่า รายใดเป็นผู้ขาดคุณสมบัติ ให้ถือว่าผู้นั้นขาดคุณสมบัติที่จะได้รับการบรรจุแต่งตั้ง
ทั้งนี้ หากผู้ใดได้รับการบรรจุและแต่งตั้งไปแล้ว ต้องถูกเพิกถอนการบรรจุและแต่งตั้ง จะเรียกร้องสิทธิใดๆ ไม่ได้