สอศ. กำชับสถานศึกษาอาชีวะ เข้มมาตรการปลอดภัย

สอศ. กำชับสถานศึกษาอาชีวะ เข้มมาตรการปลอดภัย

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ว่าที่ร้อยตรีธนุ  วงษ์จินดา  รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เน้นย้ำนโยบายสถานศึกษาปลอดภัย โดยมุ่งเน้นพัฒนาระบบและกลไกในการดูแลความปลอดภัยให้แก่ผู้เรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษาจากภัยคุกคามทุกรูปแบบ ด้วยการขับเคลื่อนตามหลัก 3 ป ได้แก่ ป้องกัน ปลูกฝัง และปราบปราม ให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด และไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก  ประกอบกับมีเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ อดีต ตร.ใช้อาวุธปืนและมีดทำร้ายนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษา ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู และเส้นทางที่คนร้ายผ่านทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อเป็นการดูแลความปลอดภัยในสถานศึกษาแบบรอบด้าน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จึงได้มีหนังสือ เรื่องมาตรการดูแลความปลอดภัยในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่ ศธ 0606/6532 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2565

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวต่อว่า  โดยขอให้สถานศึกษามีมาตรการและดูแลรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษา ดังนี้  1. กำหนดมาตรฐการป้องกันร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งกำหนดวิธีการที่ชัดเจน และนำสู่การปฏิบัติ 2. ให้สถานศึกษาจัดทำแผนเฝ้าระวังเหตุและปฏิทินการดำเนินงาน และวิธีการป้องกันการใช้ความรุนแรงของนักเรียน นักศึกษาให้ชัดเจน  3. ให้สถานศึกษาสำรวจ คัดกรอง เฝ้าระวัง และติดตาม ดูแลพฤติกรรมนักเรียน นักศึกษา ที่เสี่ยงต่อการกระทำผิดอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดกิจกรรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง 4. ให้สถานศึกษากวดขันนักเรียน นักศึกษา ให้อยู่ในระเบียบวินัยของสถานศึกษาอยู่เสมอ และปฏิบัติตนตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ให้มีการบังคับใช้กฎหมาย ประสานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด

“5. ให้สถานศึกษาจัดประชุมผู้ปกครองนักเรียน นักศึกษา เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงของนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา โดยถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และร่วมกันสอดส่องดูแลบุตรหลาน โดยเฉพาะเวลาเดินทางไป-กลับ เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ 6. ให้สถานศึกษาสอดส่งดูแลมิให้บุคคลแปลกหน้าเข้าไปในสถานศึกษาโดยเด็ดขาด และกวดขันให้กีการตรวจสอบผู้ผ่านเข้า-ออกสถานศึกษาอย่างเข้มงวด โดยห้ามมิให้บุคคลใดพกพาอาวุธทุกชนิดเข้ามาในสถานศึกษา ยกเว้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และ 7. เมื่อเกิดเหตุการณ์ก่อเหตุความไม่ปลอดภัยในสถานศึกษา ให้ผู้บริหารสถานศึกษาร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที  และรายงานให้ต้นสังกัดทราบโดยด่วน” ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าว

ด้านนายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา กล่าวว่า ตนกังวลว่าเหตุการณ์นี้ ที่กลายเป็นข่าวดัง มีคนสนใจจำนวนมาก จะหลายเป็นต้นแบบให้คนจดจำและจะมีพฤติกรรมเลียนแบบเกิดขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีอาการเครียดแล้วเกิดการคลุ้มคลั่ง ถ้าไม่สามารถจัดการอารมณ์ตนเองได้ อาจจะเลียบแบบเหตุการณ์นี้โดยมุ่งเป้าไปทำร้ายเด็กซึ่งเป็นเป้าหมายที่อ่อนแอ ตนมองว่าเราอย่าทำตัวเป็นกระต่ายตื่นตูม และพูดกันว่าจะถอดบทเรียน จะเร่งแก้ไข แต่เมื่อวานเวลาผ่านไป ก็ปล่อยผ่านไม่ทำการแก้ไขใดๆ

ADVERTISMENT

“ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ไม่เร่งแก้ปัญหายาเสพติด และแก้ปัญหาการครอบครองปืน ก็จะเกิดปัญหานี้ขึ้นอีก และสังคมเราจะเกิดเหตุการณ์สูญเสียครั้งแล้วครั้งเล่า ผมมองว่า ถ้ารัฐบาลสามารถจัดการได้ และทำสังคมภายนอกรั้วสถานศึกษาให้มีความปลอดภัย สถานศึกษาก็จะปลอดภัยมากขึ้น ทั้งนี้ สถานศึกษาจะต้องระมังระวัง วางมาตรการอย่างเข้มงวด อาจจะต้องทำการตรวจคัดกรองยาเสพติด และอาวุธปืนในกลุ่มเด็กที่สุ่มเสี่ยง ส่วนบุคคลภายนอกจะต้องมีการตรวจสอบ คัดกรอง การเข้า-ออกสถานศึกษา อย่างเข้มงวดด้วย พร้อมกับสอนหลักสูตรการหลบหนี และการป้องกันตัวให้นักเรียน เพื่อรับมือเวลามีเหตุร้ายเกิดขึ้น” นายสมพงษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image