ที่มา | คอลัมน์ "มติชนมติครู" |
---|---|
ผู้เขียน | ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ ภาควิชาการปกครองคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ |
มติชนมติครู : ข้อเสนอ (ร่าง) แผนนโยบายการอุดมศึกษา เฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐ แก่พรรคการเมือง: มุมมองจากสังคมศาสตร์
1. สถานการณ์แวดล้อม
การศึกษาไทยโดยภาพรวม ตั้งแต่ก่อนปฐมวัย ชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา อุดมศึกษา จนถึงการศึกษานอกระบบเพื่อเพิ่มทักษะและความรู้ ถูกจัดให้อยู่ในสภาวะวิกฤตมาโดยตลอด เช่น วิกฤตการศึกษาไทย วิกฤตการจัดการความรู้ ฯลฯ กล่าวได้ว่าการศึกษาไทย ในภาพรวมไม่เคยอยู่ในสภาวะ ปกติเลย
แต่ก็มีความคาดหวังจากผู้กำหนดนโยบายเสมอว่าผู้ที่อยู่ในภาคการอุดมศึกษาไทยจะสามารถเป็น ปัญญาของชาติ แก้ไขได้อย่างเป็นระบบทั้งๆ ที่ระบบการศึกษาไทยไม่เคยเชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบเลย แม้การรับนักเรียนเข้าสู่การอุดมศึกษายังใช้ระบบที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ซึ่งไม่มีความเกี่ยวโยง กับคณาจารย์ส่วนใหญ่และหลากหลายสาขา แต่กลับมีบทบาทอย่างสำคัญ เหนือกว่ากระทรวงศึกษาธิการ ในการจัดระบบ วิธีการคัดนักศึกษา จัดทำข้อสอบวัดระดับ ทำให้นักเรียนและผู้ปกครองต้องมีภาระ ในการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การรับเข้าและการทดสอบ ขาดการมีส่วนร่วมจากบุคลากรในมหาวิทยาลัย เท่ากับว่าระบบการคัดคนเข้าผู้โยงผ่านการกำหนดจากเส้นด้ายเส้นเดียวคือที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย
และเมื่อผลผลิตจากโรงเรียนภายใต้กำกับของกระทรวงศึกษาธิการเข้ามาสู่การอุดมศึกษาไทย มหาวิทยาลัยก็มักจะถูกคาดหวังว่าการจัดการศึกษาในระบบอุดมศึกษาจะสามารถแก้ปัญหาที่ผิดพลาด บกพร่อง มีช่องโหว่ได้ราวปาฏิหาริย์ ทั้งที่การอุดมศึกษาไทยก็มีปัญหาในตัวเองที่สั่งสมมาหลายปี ซ้ำร้าย วิกฤตการณ์ทางการเมืองไทยในรอบสองทศวรรษยังส่งผลสะเทือนต่อมหาวิทยาลัยและบุคลากรในสถานศึกษาอย่างมหาศาลในรอบหลายปี ดังจะชี้ให้เห็นใน 10 ประเด็นดังต่อไปนี้
1) วิกฤตด้านการบริหารงาน มหาวิทยาลัยหลายแห่งไร้ธรรมาภิบาลในการบริหาร ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก รอยต่อระหว่างระบบราชการกับการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ ทำให้ผู้บริหารจำนวนมากมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ และการไร้วิสัยทัศน์ในการบริหาร เนื่องจากเป็นฝ่ายรับนโยบายมากกว่าจะริเริ่มวิสัยทัศน์เชื่อมโลก เชื่อมท้องถิ่นได้ อีกทั้งหลายสถาบันไม่สามารถมีอธิการบดีได้อันเนื่องมาจากการต่อสู้ แย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ระหว่างบุคลากรภายในกับโครงสร้างอำนาจภายในที่เป็นปัญหา (ทั้งตัวสภามหาวิทยาลัย ที่มีสัดส่วนของกรรมการ ที่มาและภูมิหลัง ที่น่าวิเคราะห์ในรายละเอียดมาก) และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม (อว.)
2) วิกฤตด้านบุคลากร บุคลากรในมหาวิทยาลัยทั้งหมดจำนวน 236,524 คน มีทั้งคนที่ยังเป็น ข้าราชการและระบบพนักงาน พนักงานอัตราจ้าง (พนักงานชั่วคราว) ทั้งงบคลัง และงบรายได้ และพนักงานตามสัญญา ทั้งๆ ที่มีภารกิจมากมาย แต่ค่าตอบแทนต่ำ มหาวิทยาลัยขาดบุคลากรที่มีคุณวุฒิ และองค์ความรู้ใหม่ๆ ทั้งยังมีปัญหาบุคลากรที่รับทุนรัฐบาลต้องการย้ายสถานที่ทำงาน เนื่องจากสภาพ แวดล้อมไม่เหมาะสมหรือเอื้ออำนวยกับการทำงานวิชาการสำหรับบุคลากรที่มีสมรรถนะสูง และส่งผลต่อความต้องการเข้าสู่งานในมหาวิทยาลัยของผู้ที่มีสมรรถนะสูงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวอย่างย่อคือปัญหาทรัพยากรมนุษย์เป็นปัญหาใหญ่มากๆ ของการอุดมศึกษาไทยในเวลานี้
อีกส่วนหนึ่งก็คือสถานภาพของมหาวิทยาลัยไทยมีบุคลากรที่จบต่างประเทศในสัดส่วนที่น้อยกว่าจบการศึกษาในประเทศทำให้การวางแนวนโยบายไปสู่สากลของสถานอุดมศึกษาไทยเผชิญกับความท้าทายภายในก็คือบุคลากรที่มีคุณวุฒิปริญญาเอกกว่าครึ่งมีแนวโน้มว่าไม่สามารถเข้าถึงเครือข่ายวิชาการนานาชาติตั้งแต่แรก
ที่มา: ทำเนียบผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เข้าถึงจาก http://202.44.139.160/FacultyRecord/Report/UniversityType/RankOfAcademic1.aspx (ข้อมูล ณ วันที่ 09/01/2566 13:02:08)
ถึงแม้ว่าบุคลากรในภาพรวมจะจบการศึกษาในะดับปริญญาเอกรวมกันมากกว่าร้อยละ 33.5 แต่เมื่อพบว่าสัดส่วนของบุคลากรที่จบภายในประเทศมีในสัดส่วนเท่าๆ กัน แต่มีบุคลากรที่จบการศึกษา ระดับปริญญาโทจากสถานศึกษาในประเทศในปริมาณมากที่สุด ซึ่งในแง่นี้ การลงทุนในมนุษย์ เพื่อพัฒนา บุคลากรที่ผ่านการศึกษาจากต่างประเทศจึงมีนัยสำคัญต่อการอุดมศึกษาไทยอย่างมากในการยกระดับการอุดมศึกษาไทยสู่สากล
ที่มา: ทำเนียบผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เข้าถึงจาก http://202.44.139.160/FacultyRecord/Report/UniversityType/RankOfAcademic1.aspx (ข้อมูล ณ วันที่ 09/01/2566 13:02:08)
3) วิกฤตด้านตำแหน่งทางวิชาการ ปัจจุบันสัดส่วนของบุคลากรที่มีตำแหน่งทางวิชาการของประเทศไทย พบความเหลื่อมล้ำในตัวเอง ส่วนหนึ่งเนื่องจากระบบการขอตำแหน่งทางวิชาการมีปัญหาต่อเนื่องมาโดยตลอด ผู้กำหนดนโยบายและเงื่อนไขการขอตำแหน่งทางวิชาการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ผ่านการขอตำแหน่งทางวิชาการในเกณฑ์ที่ไม่ได้สัดส่วนกับเงื่อนไขในปัจจุบัน ทำให้ระบบและเกณฑ์การขอตำแหน่งทางวิชาการไม่ได้สัดส่วนกับ ภาระงานและความท้าทายใหม่
อีกทั้ง บุคลากรยังต้องเผชิญกับมาตรฐานที่ลักลั่นในการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ ทั้งภายในและภายนอกสถาบัน ขณะที่เกณฑ์ที่สำนักการการอุดมศึกษาประกาศออกมาทำให้สถานศึกษา ต้องออกประกาศของตัวเองให้สอดรับ ส่งผลให้เกิดปัญหาการตีความผลงานทางวิชาการแต่ละประเภท ทำให้การพิจารณายืดยาวออกไปโดยไม่จำเป็น และการเล่นพรรคเล่นพวกในวงวิชาการทำให้การเข้าสู่ตำแหน่ง ทางวิชาการในระดับศาสตราจารย์ช้าอย่างไม่มีทางตรวจสอบได้ แม้เมื่อผ่านขั้นตอนการประเมินแล้ว ยังต้องรอกระบวนการสุดท้ายอย่างไร้ชะตากรรมอีกด้วย (เพื่ออความเป็นธรรม ทาง อว. สามารถสำรวจระยะเวลาในการขอตำแหน่งทางวิชาการในระดับศาสตราจารย์ตั้งแต่เริ่มกระบวนการจนสิ้นกระบวนการได้จากทุกมหาวิทยาลัย) ซ้ำร้าย มีบุคลากรได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์หลังเกษียณอายุราชการ เท่ากับว่ามหาวิทยาลัยของรัฐ “ผลิต” ผู้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ไปให้มหาวิทยาลัยเอกชนได้ใช้ฟรีๆ
สถาบันอุดมศึกษาของรัฐลงทุนและจัดพื้นที่เพื่อสร้างศาสตราจารย์ให้สถานบันเอกชนใช้โดยแทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ขณะที่แรงกดดันในการสร้างบุคคลากรในตำแหน่งทางวิชาการในระดับศาสตราจารย์นั้นยังจำเป็นอยู่ไม่น้อย ในการธำรงงานบริหารอื่นๆ เช่น การเป็นบุคลากรอาวุโสที่เป็นผู้ควบคุมวิทยานิพนธ์ การเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยขนาดใหญ่ การสอนในวิชาชั้นสูง หรือวิชาพื้นฐานที่เป็นรากฐานในสาขาวิชาต่างๆ กระทั่งการเป็นกรรมการรับบุคลากรสายวิชาการ เป็นต้น
ที่มา: ทำเนียบผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เข้าถึงจาก http://202.44.139.160/FacultyRecord/Report/UniversityType/RankOfAcademic1.aspx (ข้อมูล ณ วันที่ 09/01/2566 13:02:08)
4) วิกฤตด้านจำนวนและคุณภาพของนิสิต ทุกสถาบันเผชิญปัญหาจำนวนนิสิตลดลงอย่างต่อเนื่อง หลักสูตรต้องปิดตัวลง มีการควบรวมบุคลากรทางการศึกษาที่อาจจะไม่สอดคล้องกับความรู้และความชำนาญ อีกทอดหนึ่ง
5) ความไม่มั่นคงในอาชีพบุคลากรในสถานอุดมศึกษา เป็นที่รู้กันดีว่าบุคลากรในสังกัดกระทรวง อุดมศึกษา (อว.) ได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่าบุคลากรในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งๆ ที่คุณวุฒิสูงกว่า และในหลายๆ กรณี มีภารกิจมากกว่า ตั้งแต่ประการแรก ปัญหาเรื่องสวัสดิการ ซึ่งบางสถาบันใช้วิธีซื้อ ประกันสุขภาพให้ แต่ก็ขึ้นกับการต่อรองและเป็นไปตามยถากรรมตามแต่สถานศึกษา สวัสดิการที่พนักงาน มหาวิทยาลัยได้ ต่ำกว่าบุคลากรที่เป็นข้าราชการในทุกกรณี
ประการที่สอง สัญญาจ้างและระบบการตรวจสอบการบริหารบุคคลและทวนสอบธรรมาภิบาล การบริหารบุคคลที่อาจถูกเลิกสัญญาได้ด้วยปริมาณภาระงานใหม่ๆ นอกสัญญาจ้างฉบับแรกที่เป็นไปตามเกณฑ์การประเมินใหม่ๆ
ปัจจุบันอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยต่ำชั้นกว่าครูทั้งในแง่สวัสดิการและรายได้โดยเปรียบเทียบ แถมยังไม่มีความมั่นคงหลงเหลืออยู่เลย มีเพียงรายได้ 1.7 เท่า เท่านั้นที่พอจะประเมินว่าจะสามารถใช้ชีวิตพอเพียงหลังเกษียณอายุที่ 60 ได้ และมีเพียงการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการในชั้นศาสตราจารย์ (บางแห่งต้องเป็น ดร. ด้วย) ถึงจะสามารถต่อสัญญา ถึง 65 ปี ได้
6) ปัญหาความทะเยอทะยานในการเข้าร่วมการจัดอันดับสถานศึกษาโลก ผู้นำของสถาบันบางแห่งหมกมุ่นกับการจัดอันดับสถานศึกษา (ranking) ในบางสถานศึกษาถึงกับนำเอาเกณฑ์การตีพิมพ์มาเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาขึ้นเงินเดือนและต่อสัญญา ซึ่งเป็นการสร้างภาระงานเพิ่มโดยผิดไปจากสัญญาเมื่อแรกเข้า สร้างแรงกดดันให้อาจารย์และ บุคลากรด้านวิชาการ ส่งผลต่อการล้มละลายทางศีลธรรม (moral hazard) เมื่อมีขบวนการขายโอกาส และพื้นที่การตีพิมพ์ในวารสารฐาน Scopus และมีการตีพิมพ์ในสาขาที่ตัวเองไม่ชำนาญการเพื่อเอาตัวรอด จากเกณฑ์การตีพิมพ์ที่บ้าคลั่งของผู้บริหาร ปัจจุบันเราเริ่มเห็นการ “ถูกถอดถอนบทความจากการตีพิมพ์”(retracted) ยิ่งจะซ้ำเติมความน่าเชื่อถือของบุคลากรและสถาบันอุดมศึกษาไทยในภาพรวม
7) ความหมกมุ่นในการเข้าร่วมจัดอันดับที่เน้นการตีพิมพ์ ทำให้มหาวิทยาลัยขาดวิสัยทัศน์และ ทิศทางการพัฒนาที่แท้จริง เพราะมหาวิทยาลัยควรมีภารกิจแตกต่างกันไปตามสถานะแรกของตัวเอง หรือสถานะปัจจุบัน เช่น มหาวิทยาลัยเปิด มหาวิทยาลัยที่เน้นทักษะวิชาชีพ มหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัยและ ความก้าวหน้าทางวิชาการ มหาวิทยาลัยที่มีรากฐานแตกต่างกันย่อมมีวิสัยทัศน์ ทิศทางและภารกิจที่แตกต่างกัน ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้เกณฑ์กำกับและเป้าหมายเดียวกัน
8) ความไม่ลื่นไหลไร้รอยต่อของการขอย้ายสถานทำงานหรือหน่วยสังกัด ในการย้ายสถาบันการศึกษา แม้ว่าจะมีการยอมรับให้สามารถ “โอน” ตำแหน่งทางวิชาการได้ แต่กลับใช้เวลา และมีขั้นเงินเดือนที่แตกต่างกัน ไม่ได้ ไร้รอยต่ออย่างแท้จริง พนักงานมหาวิทยาลัยแทบจะไม่สามารถต่อรองขั้นเงินเดือนได้เลย ขณะที่ตำแหน่งทางวิชาการข้ามมหาวิทยาลัยกลับต้องอาศัยกระบวนการเอกสาร ทั้งๆ ที่ได้ผ่านการประเมินและรับรองตำแหน่งทางวิชาการมาแล้ว เพิ่มภาระงานโดยไม่จำเป็น
ขณะที่ปมใหญ่ที่สุดก็คือ ข้อกำหนดและเกณฑ์ขอตำแหน่งทางวิชาการไม่นิ่งพอที่จะสามารถสร้าง ระบบนิเวศน์ที่สร้างสรรค์ได้ แม้กระทั่งการจัดเงินอุดหนุนการวิจัยก็จำกัดจำเขี่ยแต่หวังผลระดับโลก ทั้งความทะยานอยากเข้าสู่ World class University ทั้งๆที่ปัจจัยสำคัญไม่ใช่ชื่อหรือตึกอาคาร แต่อยู่ที่การลงทุนใน “คน” หรือทรัพยากรมนุษย์มากกว่า แต่มหาวิทยาลัยกลับลงทุนในคนน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับสัดส่วนการลุงทุนด้านอื่นๆ
9) การลงทุนในมนุษย์ ปัจจัยสำคัญเพื่อนำมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นสากลไม่ใช่ตึกอาคาร หรือยุทธศาสตร์ชาติ แต่อยู่ที่ “คน” มากกว่า แต่มหาวิทยาลัยกับลงทุนในคนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เช่น การให้ทุนการศึกษาเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในการสร้างนักวิจัยนักวิชาการเทียบเท่าสถาบันชั้นสูง และต้องยอมรับความจริงว่าความเหลื่อมล้ำในแง่คุณภาพของบัณฑิตที่จบจากสถานศึกษาต่งประเทศกับในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
10) เสรีภาพทางวิชาการ ภายหลังการปฏิรูปการเมืองไทยและการศึกษาในทศวรรษ 2540 เราเชื่อว่าการอุดมศึกษาควรจะเป็นอิสระ แต่เราจะพบว่าผลของความเสื่อมทรามทางการเมืองในรอบ สองทศวรรษส่งผลอย่างมีนัยสำคัญในด้านการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาประเด็นความขัดแย้งทางสังคม และการใช้ความเห็นทางการเมืองมากำกับความรู้ นอกจากนี้ยังรวมถึงความคลั่งศีลธรรมในรูปแบบจริยธรรม การวิจัย ส่งผลต่อภาระงานที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่จำเป็นในหลายกรณี และประกาศจริยธรรม (ฉบับล่าสุดของกระทรวง อว.) ยิ่งสะท้อนความหวาดระแวงและต้องการเข้ามากำกับควบคุมเสรีภาพ ทางวิชาการ
ในมหาวิทยาลัยบางแห่ง อาจารย์ที่ปรึกษาถูกฟ้องโดยไม่มีความช่วยเหลือกระทั่งความเห็นใจ จากสถาบันต้นสังกัด ซ้ำร้ายจุดยืนการเมืองที่ผลักขั้วสุดโต่งเข้ามากำกับความรู้จนทำให้เกิดการละเมิด ปทัสถานในวงวิชาการมากขึ้น
ในข้อนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามหาวิทยาลัยไทยถูกจับตาและจัดกลุ่มอยู่ในสถานบันที่มีนักวิชาการ ในความเสี่ยงต่อการถูกรังแกจากนักวิชาการที่มีจุดยืนทางการเมืองตรงข้ามกับตัวเอง ส่งผลให้วงวิชาการนานาชาติเลี่ยงที่จะพูดหรือเขียนถึงวงวิชาการสังคมศาสตร์ไทยในประเด็นละเอียดอ่อนทางวัฒนธรรม และส่งผลต่อท่าทีการจัดอันดับสถานศึกษานานาชาติอย่างช่วยไม่ได้
2. ความท้าทายของการอุดมศึกษาไทย วิสัยทัศน์และภารกิจมหาวิทยาลัยในโลกร่วมสมัย
การจัดกลุ่มมหาวิทยาลัยตามภารกิจยังเป็นสิ่งที่ควรทำอันดับแรกเพื่อกำหนดภารกิจและเป้าหมายเสียใหม่ ประเทศไทยจัดเป็นประเทศที่อยู่อันดับต้นๆ ของกลุ่มสังคมผู้สูงอายุ จากรายงานของ OECD ชี้ให้เห็นว่าเราจะต้องปรับตลาดแรงงานรองรับการเปลี่ยนแปลงนี้ อัตราการส่งออกสินค้าของไทยเพิ่มสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการเพิ่มทักษะอื่นเพื่อเพิ่มห่วงโซ่มูลค่าการผลิตนี้ให้ต่อเนื่อง (OECD 2021) การสร้างแรงงานทักษะสูงไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่ในมหาวิทยาลัย แต่อาจจะเป็นสถาบันที่มีความพร้อมใน การพัฒนาทักษะใหม่ๆ เพื่อสนองตอบต่อความต้องการเหล่านี้ หรืออาจจะอยู่ในรูปของการสร้าง หน่วยงานร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อม มากกว่าการสร้างหน่วยงานให้ซ้อนทับโครงสร้างเดิม
OECD ชี้ต่อไปว่า คุณภาพของนักเรียนไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อยู่ในระดับต่ำและ มีความไม่สมดุลในแต่ละภูมิภาค ในการวัดระดับ PISA หรือ Programme for International Student Assessment ในด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์และการคำนวณ ( reading, science and mathematics) พบว่าทักษะด้านการอ่านของนักเรียนไทยมีค่าต่ำมากที่สุด ซึ่งหมายความว่า ในด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ซึ่งเป็นฐานการเรียนรู้สิ่งอื่นๆ มีความอ่อนด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
ช่องว่างในด้านทักษะการอ่านตามรายงานของ OECD ชวนให้คิดว่าปัญหาความไม่สมดุล ด้านการศึกษาเผยให้เห็นปัญหาพื้นฐานหนึ่งที่สำคัญมากในการเรียนชั้นสูงคือการอ่าน (OECD 2021) ในรายงานฉบับเดียวกันยังระบุว่า แม้ในสภาวะโควิด -19 การเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของไทยยังสูงขึ้นเรื่อยๆ
ในสภาวะที่มหาวิทยาลัยบางแห่งมีผู้เรียนน้อยลง บางหลักสูตรปิดตัวลง จึงควรพิจารณา ควบรวมและจัดภารกิจใหม่ ดังเช่นในเกาหลีใต้ใช้วิธีการสร้างวิทยาเขตร่วมและเปิดให้นักศึกษาที่อยู่ใต้ข้อตกลง สามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันได้ และสามารถลงทะเบียนเรียนข้ามสถาบัน โอนหน่อยกิตได้ลื่นไหล ไร้รอยต่อ เป็นต้น
ตารางแสดงการเพิ่มจำนวนของแรงงานทักษะสูงในสาย STEM
ที่มา: OECD 2021 อ้างจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระหว่างปี 2011-2018
ขณะที่ทางรัฐบาลพยายามบอกว่าบุคลากรด้านเทคโนโลยีมีน้อย แต่จากข้อมูลของ OECD บุคลากรในกลุ่มสายวิทยาศาสตร์และ STEM กลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นกลุ่มที่อยู่ในวัยแรงงาน
ตารางแสดงการจำนวนของแรงงานหนุ่มสาวไทยที่ชี้ให้เห็นยว่ามีคุณวุฒิด้านบริหารธุรกิจและการจัดการในจำนวนที่สูง
ที่มา: OECD 2021 อ้างจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระหว่างปี 2011-2018
OECD ยังอ้างสำนักงานสถิติแห่งชาติเพื่อชี้ให้เห็นว่า บัณฑิตไทยยังอยู่ในกลุ่มที่จบด้านบริหารธุรกิจ มากที่สุด ขณะที่บุคลากรสายวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม อยู่ในสัดส่วนที่ต่ำกว่ามาก ซึ่งทำให้ต้องทบทวนนโยบาย การผลิตบัณฑิตและการจัดวิชาพื้นฐานเพื่อรองรับระบบคิด การตัดสินใจ การทำความเข้าใจโลกที่กำลังผันผวนนี้
แต่การพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะขาดสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ไม่ได้
เช่นเดียวกับประเด็นเรื่องการจบสาขาความรู้แล้วไม่สามารถได้งานที่ตรงสาขาเป็นเรื่องที่พึงพิจารณาไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานต่ำกว่าคุณวุฒิของตัวเอง
ตารางแสดงการเพิ่มจำนวนของแรงงานทักษะสูงในสาย STEM
ที่มา: OECD Skills for Jobs Database อ้างจากรายงาน OECD (2021)
OECD เสนอให้จัดการศึกษาผู้ใหญ่ ซึ่งในแง่นี้ไม่ควรกำหนดคุณวุฒิเป็นปริญญาบัตร แต่ควรพิจารณาทักษะที่สำคัญและเป็นไปได้ในแต่ละช่วงอายุ โดยการสนับสนุนของรัฐบาลอย่างเต็มที่ แต่ปัญหาที่ซ่อนอยู่ก็คือจากการสำรวจพบว่ากลุ่มแรงงานร้อยละ 44 ไม่สามารถเข้าร่วมการพัฒนาทักษา เพราะไม่มีเวลาว่างพอ ประเด็นนี้จึงไม่ได้อยู่ที่สถาบันอุดมศึกษา แต่เป็นปัญหาอื่น เช่น การจราจร ภาระวงานของบุคลากรในระดับต่างๆ สถานที่ตั้งและระบบการจัดการของต้นสังกัด เป็นต้น
3. แผนปฏิบัติการที่ควรมีสำหรับมหาวิทยาลัย
1) การคืนอาจารย์ให้งานวิชาการและสร้างสรรค์ มากกว่ากิจกรรมไร้สาระที่ลดทอนพลังงานในการ ปฏิบัติตามภารกิจหลัก อันได้แก่ วิจัย สอนและบริการวิชาการ
2) การจัดระบบการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการที่ถูกต้องตามหลักสากลและเป็นธรรม เรื่องนี้ต้องเป็นวาระเร่งด่วนและกระทำโดยการมีส่วนร่วมจากคณาจารย์ที่ยังทำหน้าที่สอนนและวิจัย ไม่ใช่บุคลากรที่เกษียณอายุและไม่เคยใช้วิธีการเข้าสู่ตำแหน่งตำแหน่งที่กำลังเป็นอยู่ขณะนี้
3) การวางระบบแผนการวิจัยต้องมีส่วนที่เป็นอิสระจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีระบบราชการแบบ digital and seamless และ paperless รวมไปถึงระบบงบประมาณการวิจัยแบบยืดหยุ่น
กล่าวคือ ระบบราชการแบบ digital คือการยอมรับเอกสารในรูปอิเล็คทรอนิคส์เต็มรูปแบบ ไม่ใช่ขอให้ส่งทั้งไฟล์เอกสารและต้นฉบับเอกสาร (ยกเว้นกรณีที่จำเป็นจริง) ที่เหลือควรให้เก็บไว้อ้างอิงและตรวจสอบก่อนทำลาย
การวางแผนงานวิจัยแบบ block grant และ micro fund ซึ่งในกรณีนี้หมายถึงการวางระบบการใช้งบประมาณยืดหยุ่นและเป็นอิสระมากกว่าการใช้ระบบงานคลังบัญชีแบบระบบราชการ ควรกำหนดวิธีใช้เงินที่เหมาะสม เช่น สามารถใช้บัตรเครดิตในบางธุรกรรมได้ และในกรณี Microfund ไม่ควรต้องใช้ใบเสร็จใดๆ แต่ไปมุ่งเป้าหมายคือการตีพิมพ์ผลงานวิจัยแทน
4) การจัดการบริหารพนักงานมหาวิทยาลัย: สหภาพแรงงาน หรือ สมาคมพนักงานราชการ เพื่อเป็นหลักประกันสวัสดิภาพและเสรีภาพทางวิชาการ ควรจขัดให้มีสมาคมพนักงานเพื่อสามารถยื่นเรื่องต่อรองเงินเดือน ค่าตอบแทน สวัสดิการและคุ้มครองพนักงานมหาวิทยาลัยที่ถูกฝ่ายบริหารกลั่นแกล้งหรือปฏิบัติต่ออย่างไม่เป็นธรรม
5) หลักสูตรการศึกษาแบบยืดหยุ่น ปรับตัวเร็ว เรื่องนี้มีประเด็นพิจารณาสองส่วน ส่วนแรกได้แก่ หลักสูตรปัจจุบัน การประเมิน ปรับปรุงและปิดหลักสูตร ซึ่งในแง่นี้ต้องลดทอนหลักสูตรที่จัดตั้งขึ้นเป็นภารกิจเฉพาะเป็นพิเศษ หากไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ก็ควรปิด ขณะเดียวกันสาขาความรู้ที่เป็นสาขาดั้งเดิมจะต้องธำรงเอาไว้ตามหลักสากล
ส่วนที่สองได้แก่การจัดหลักสูตรใหม่สำหรับการศึกษาตลอดชีวิต จะต้องจัดตามภารกิจของ กลุ่มมหาวิทยาลัย ไม่ใช่เกณฑ์เดียวเหมาโหล ในกรณีนี้อาจจะมอบภารกิจให้บางมหาวิทยาลัยที่สามารถทำหน้าที่ในการเสริมสร้างทักษะหลังปริญญา มากกว่าจะจัดสร้างระบบใหม่ แต่ควรมีความยืดหยุ่นและเป็นไปตามความยินยอมของบุคลากรด้วย
6) วารสารและการตีพิมพ์ การจัดอันดับวารสารควรจะเป็นไปร่วมกันในวงวิชาการ อย่างน้อยจะต้องจัดให้มีสมาคมวิชาการในสาขาต่างๆ ที่สามารถจัดวางมาตรฐานของตนเองได้ ควรจะวางมาตรการป้องกันการจัดพิมพ์กับวารสาร predatory ไว้อย่างเป็นระบบ และวางมาตรการป้องกันความล้มละลายทางศีลธรรม กรณีซื้อขายการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ
7) ระบบการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ และมีส่วนร่วมจากวงวิชาการ
8) การวางระบบสวัสดิการครอบคลุมทั้งระหว่างสัญญาจ้างและหลังเกษียณอายุ
9) การแก้ปัญหาเรื่องแรงกดดันในการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในฐานข้อมูลนานาชาติที่ก่อให้เกิดความล้มละลายทางศีลธรรม แต่หันมาสร้างระบบจูงใจหรือเงื่อนไขที่เป็นธรรมและตรงตามวัตถุประสงค์ของการเผยแพร่งานวิชาการ
4. ความท้าทายของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาต่ออนาคตวงการศึกษาไทย
ผลของความขัดแย้งทางการเมืองในรอบสองทศวรรษส่งผลต่อขวัญและกำลังใจของบุคลากรไม่มากก็น้อย ความล้มเหลวในการปฏิรูปการอุดมศึกษาสามารถบ่งชี้จากความขัดแย้งในสังคมไทยที่ยังมองข้ามความเชี่ยวชาญเฉพาะในวิชาชีพ โดยเฉพาะความขัดแย้งที่ถูกจัดการโดยผู้รู้นอกสาขามากกว่าจะถามผู้เชี่ยวชาญในสาขา
การวางแผนการอุดมศึกษาในช่วงระยะเวลาที่ประเทศเพื่อนบ้านกำลังก้าวข้ามไปสู่สังคมอุตสาหกรรม ขณะที่ประเทศไทยติดกับดักทั้งการเมืองและกับดักรายได้ปานกลางทำให้เรากำลังสูญเสียโอกาสที่จะเรียกคืนความหวังในอนาคตของเรา
ผู้เขียนนำเสนอจากมุมมอง และประสบการณ์ของตัวเองที่ผ่านการเป็นผู้บริหารในระดับล่างของมหาวิทยาลัยและแลกเปลี่ยนรับฟังจากเพื่อนร่วมวิชาชีพในหลายโอกาส หลายวาระ และด้วยความรู้ที่จำกัด จึงไม่อาจก้าวล่วงไปยังสาขาวิชาอื่น แต่หวังว่าข้อเสนอนี้ จะได้รับการพิจารณาจากพรรคการเมือง ที่กำลังวางแผนการอุดมศึกษาที่ถูกมองข้ามมา ตลอดหวังว่าข้อเสนอชุดนี้ จะได้รับฟังการแลกเปลี่ยนจากเพื่อนร่วมวิชาชีพที่กำลังแสวงหาโอกาสเปลี่ยนแปลง และจากสาธารณชนในวงกว้าง เพื่อจะได้ช่วยกันมองในภาพรวมของการอุดมศึกษาไทยต่อไป
หมายเหตุ: รายงานของ OECD อ้างอิงจาก OECD. 2021. Thailand’s Educational System and Skills Imbalances: Assessment and Policy Recommendations. https://www.oecd.org/officialdocuments/publicdisplaydocumentpdf/?cote=ECO/WKP(2020)49&docLanguage=En