คณบดีการบินเร่งปั๊ม น.ศ.ป้อนตลาด หลังอุตสาหกรรมการบินฟื้นตัว

คณบดีการบินเร่งปั๊ม น.ศ.ป้อนตลาด หลังอุตสาหกรรมการบินฟื้นตัว

น.ต.ดร.วัฒนา มานนท์ คณบดีวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผยว่า ภายหลังการระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง ประกอบกับนโยบายภาครัฐที่เปิดประตูรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการบินที่เริ่มฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด สังเกตเห็นได้ว่าปี 2566 สถานการณ์ด้านการบินคึกคักมากขึ้น โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เฉพาะที่สนามบินสุวรรณภูมิ มีเที่ยวบินกว่า 800 เที่ยวต่อวัน เมื่อรวมทั้งประเทศจะมีเที่ยวบินกว่า 2,000 เที่ยวต่อวัน ในส่วนของนักท่องเที่ยว ประมาณการไว้ว่าจะมีจำนวน 3 แสนกว่าคนต่อวัน สอดรับกับรัฐบาลที่ประกาศตัวเลขนักท่องเที่ยวจากเดิม 20 ล้านคน เพิ่มขึ้นมาเป็น 25 ล้านคนต่อปี จากตัวเลขดังกล่าวคาดว่าจำนวนเที่ยวบิน และจำนวนนักท่องเที่ยว จะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“ขณะที่อุตสาหกรรมการบินเริ่มฟื้นตัว แต่แรงงานด้านการบินกลับขาดแคลน โดยในปี 2563 พบว่ามีบุคลากรโดยตรงในสายการบินเหลือเพียง 8 หมื่นกว่าคน จากเดิมที่มีกว่า 2 แสนคน แต่ความต้องการแรงงานที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการบินยังมีอย่างต่อเนื่อง ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่อาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน หรืออาชีพนักบิน ช่างเครื่อง หรือผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศเท่านั้น แต่ในอุตสาหกรรมการบิน มีอาชีพ และตำแหน่งงานที่รองรับมากกว่า 69 สายงานอาชีพ นอกจากนี้ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมการบินจะกลับมาเป็นปกติในปี 2567 ซึ่งคาดว่าแรงงานด้านนี้จะขาดแคลน เนื่องจากบุคลากรด้านการบินที่ออกไปประกอบอาชีพอื่นๆ หลายคนไม่กลับมาประกอบอาชีพเดิมแล้ว” น.ต.ดร.วัฒนากล่าว

ADVERTISMENT

น.ต.ดร.วัฒนากล่าวอีกว่า CADT มีความมุ่งมั่นสร้างมืออาชีพด้านธุรกิจการบิน ที่ต้องมีทั้งความรู้ ทักษะและประสบการณ์ และมีใจรักในงานบริการ โดยวิทยาลัยมีความพร้อมทั้งหลักสูตรการเรียนการสอน บุคลากร และสิ่งอำนวยความสะดวก โดยเปิดการสอนในระดับปริญญาตรี 2 หลักสูตร คือ ศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) สาขาธุรกิจการบิน และสาขาการจัดการเทคโนโลยีการบิน (วิชาเอกการจัดการอำนวยการบิน) และยังมีหลักสูตรฝึกอบรมด้านการบินสำหรับบุคคลทั่วไป ตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ซึ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้นด้านการบินต่างๆ ที่เป็นหลักสูตรมาตรฐานสากล นอกจากนี้ DPU Aviation Academy (DAA) ของ CADT ยังเป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านการบินครบวงจรที่สำคัญของประเทศ และเป็นมหาวิทยาลัยเดียวในไทยที่ได้รับการรับรองจาก IATA ถึง 6 ปีซ้อน ตอบสนองนโยบายของรัฐในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินของอาเซียน

“สาขาการจัดการเทคโนโลยีการบินเป็นหลักสูตร 2 ภาษา เป็นหลักสูตรปริญญาตรีสาขาแรกในไทยที่สร้างหลักสูตรขึ้นมาเพื่อให้น้องๆ ที่สนใจ และต้องการทำงานด้านการอำนวยการบิน หรือสนใจอยากจะต่อยอดไปเป็นนักบิน โดยวิทยาลัยมีเครื่องช่วยฝึกบินจำลองถึง 3 เครื่อง คือ เครื่องแบบ Boeing 737-800NG จำนวน 1 เครื่อง และแบบ Cessna 172-G1000 จำนวน 2 เครื่อง โดยน้องๆ จะได้สัมผัสประสบการณ์เสมือนจริงด้านการบิน ผู้ที่สนใจอยากเป็นนักบิน ก็มีโรงเรียนการบินที่เป็นพันธมิตร ล่าสุดได้ลงนามความร่วมมือกับบางกอกแอร์เวย์ โรงเรียนการบิน Thai Inter Flying และ Thai Flying Service แต่หากนอกเหนือจากเครือข่ายพันธมิตรของวิทยาลัย ก็สามารถประสานให้ได้” น.ต.ดร.วัฒนากล่าว

ADVERTISMENT

น.ต.ดร.วัฒนากล่าวอีกว่า CADT พัฒนาการเรียนการสอน เพิ่มทักษะ และประสบการณ์ให้นักศึกษาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับบริษัทในเครือของการบินไทยประกอบด้วย บริษัท ไทยไฟลท์เทรนนิ่ง จำกัด และบริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เข้าปฏิบัติงานสหกิจศึกษาในรูปแบบการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน รวมถึง โอกาสในการพัฒนาให้มีความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพ CADT ยังเป็นองค์กรรับรอง โดยเป็นศูนย์ทดสอบเพื่อรับใบประกาศนียบัตรของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน จัดสอบให้นักศึกษาชั้นปีที่ 4 โดยจะได้รับประกาศนียบัตรจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเมื่อสอบผ่าน โดยรัฐบาลให้เงินสนับสนุน เมื่อเรียนจบแล้วใครอยากเป็นนักบิน ก็สานฝันให้ ใครอยากเรียนหลักสูตรสากล IATA หรือสอบใบประกอบวิชาชีพเพื่อเป็น Portfolio นำไปสมัครงาน ก็จัดให้ได้ ส่วนน้องๆ ที่เรียนดี ทางวิทยาลัยมีทุนให้ด้วย 100% และ 50% ทุนสำหรับ influencer และทุนสำหรับน้องๆ ที่อยู่ในครอบครัวการบิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image