‘ธนุ’ ตั้งทีมแก้ พ.ร.บ.อาชีวะฯ เล็งเพิ่ม ‘สอจ.-อาชีวะเอกชน’ ย้ำต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับปัจจุบัน

‘ธนุ’ ตั้งทีมแก้ พ.ร.บ.อาชีวะฯ เล็งเพิ่ม ‘สอจ.-อาชีวะเอกชน’ ย้ำต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 10 เมษายน ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนได้ตั้งคณะทำงานรวบรวมข้อมูลแก้ไข พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา พ.ศ. … โดยมอบหมายให้คณะทำงานรวบรวมข้อมูล ว่า ปัจจุบันสถานการณ์อาชีวศึกษาเป็นอย่างไร แล้วควรจะขับเคลื่อนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และปรับเปลี่ยนอาชีวศึกษาในอนาคตอย่างไร ตนมองว่าการทบทวนแก้ไข พ.ร.บ.อาชีวศึกษา ครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดี เพราะเราจะได้ทบทวนเปลี่ยนแปลง พัฒนาจัดการเรียนการสอนอาชีวะของประเทศให้ดีขึ้น ทั้งนี้ตนเน้นย้ำกับคณะทำงานฯ ว่า หากเห็นเรื่องไหนเป็นเรื่องดี ก็ให้นำมาใส่ใน พ.ร.บ.การอาชีวศึกษาได้เลย เช่น กำหนดโครงสร้างสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัด (สอจ.) โดยให้มี สอจ. และมีผู้อำนวยการ สอจ.ประจำจังหวัดทุกจังหวัด สาเหตุที่ต้องจัดตั้ง สอจ. เพราะเมื่อตนมาดูโครงสร้างของหน่วยงานอื่นๆ พบว่ามีหน่วยงานระดับจังหวัดเพื่อเชื่อมโยงบูรณาการทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานในพื้นที่ เช่น สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) จะมีศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ในทุกจังหวัด ส่วนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็จะมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) กระจายอยู่ในพื้นที่ เป็นต้น ในขณะที่ สอศ. ยังไม่มีหน่วยงานระดับจังหวัด จึงควรตั้ง สอจ.ขึ้นมาบูรณาการจัดการศึกษาร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่

เลขาธิการ กอศ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเน้นย้ำให้คณะทำงานฯ รวบรวมข้อมูลและแก้ไข พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา ให้เสร็จโดยเร็ว แม้ขณะนี้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ที่เป็นกฎหมายแม่บทในการปฏิรูปการศึกษายังค้างอยู่ในสภา แต่เมื่อไหร่ที่รัฐบาลใหม่เข้ามาทำงาน รัฐบาลชุดใหม่จะนำ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ขึ้นมาพิจารณาอยู่แล้วว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร ดังนั้น จะต้องเร่งแก้ไข พ.ร.บ.การอาชีวศึกษาให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อที่จะได้ขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ส่วนอาชีวะเอกชน จะถูกระบุไว้ใน พ.ร.บ.การอาชีวศึกษาหรือไม่ ผมมองว่าอาชีวะเอกชนต้องถูกกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 8/2559 ที่ให้วิทยาลัยอาชีวะเอกชนย้ายจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มาอยู่ในสังกัด สอศ. เพราะคำสั่ง คสช.ถือเป็นกฎหมายอยู่แล้ว สาเหตุที่มีคำสั่ง คสช.นั้น เพราะต้องการให้ สอศ.ดูแลอาชีวะรัฐและเอกชนให้เดินหน้าไปด้วยกัน

“ส่วนที่มีเสียงเรียกร้องของอาชีวะเอกชน ที่ต้องการกลับไปอยู่ สช.เหมือนเดิม ผมได้พูดคุยกับผู้บริหารอาชีวะเอกชนแล้วว่า สอศ.พร้อมดูแลอาชีวะเอกชนตามระเบียบ ตามกฎหมายกำหนด พร้อมกับรับฟังปัญหาอาชีวะเอกชนว่าต้องการปรับเปลี่ยนให้ดูแลอะไรหรือไม่ และข้อเรียกร้องของอาชีวะเอกชน ที่ผ่านมา สอศ.ก็พยายามแก้ไขให้ทุกข้อ ผมมองว่าช่วงแรกที่อาชีวะเอกชนมาอยู่ สอศ. อาจจะเจอปัญหาจนอยากจะกลับไปอยู่ สช.เหมือนเดิม แต่ขณะนี้เวลาผ่านไป อะไรก็เข้าที่เข้าทางแล้ว และเวลาทำงานขับเคลื่อนงานอะไร ผมจะดึงอาชีวะเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม มีบทบาทด้วยทุกครั้ง” ว่าที่ร้อยตรีธนุกล่าว

ADVERTISMENT
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image