เรียนออนไลน์ 3 ปี ทำเด็กเก็บกด สุขภาพจิตเสีย-ก้าวร้าว-รุนแรง-เสียทักษะชีวิต แนะ ‘ศธ.-สธ.’ ถกกิจกรรมแสดงออกสร้างสรรค์
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยกรณีนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้กำชับให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ ดูแลเรื่องพฤติกรรมเด็ก ซึ่งมีความผิดเพี้ยนไปหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทั้งความรุนแรงที่เด็กกระทำกับตัวเอง และความรุนแรงที่เด็กกระทำกับเพื่อนร่วมชั้นเรียน จนถึงขั้นเสียชีวิต พบว่าปัญหาเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 นั้น ช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาด นักเรียนชั้นมัธยมจะต้องเรียนออนไลน์ ทำให้เด็กใช้เวลาส่วนใหญ่ในโลกออนไลน์ ขาดการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ซึ่งการระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ได้ระบาดแค่ 1 ปี แต่ลากยาว 2-3 ปี ส่งผลให้ปัญหาสุขภาพจิตของเด็กเสียเพิ่มขึ้น เด็กบางคนมีลักษณะก้าวร้าว รุนแรง เก็บกด และควบคุมการแสดงออกของตนยากขึ้น แต่ถ้าโรงเรียนเปิดปกติ เด็กจะรู้จักจังหวะ รู้จักชีวิต รู้จักการอยู่ร่วมกัน
ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เมื่อสถานศึกษากลับมาเปิดเรียนแล้ว พบปัญหาคือ เมื่อเด็กกลับมาเรียน เข้าสังคมไม่เป็น สบตาใครไม่ได้ ไม่มีทักษะการทำงานกลุ่ม ซึ่งสังคมไทยจะเจอปัญหาเด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว การสูญเสียทักษะชีวิตต่อเนื่องยาวนาน 2-3 ปี ทำให้พบปรากฏการณ์ที่ชัดเจนคือ สุขภาพจิตของเด็กกลุ่มนี้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง แต่ไม่ได้ชดเชย และไม่ได้แก้ไขเพื่อให้เด็กกลับมามีพฤติกรรมเหมือนเดิมอย่างจริงจัง
“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่คิดกิจกรรมเพื่อปรับพฤติกรรมเด็ก จะเห็นว่าเมื่อเปิดเทอม ก็ให้เด็กเรียนหนังสือ และไปยึดกฎระเบียบ ยึดการลงโทษ ตัดคะแนน ซึ่งผมคิดว่าการกระทำเหล่านี้ กำลังบีบคั้นเด็ก โดยไม่นึกถึงเลยว่าเด็กถูกกระทำจากนโยบายของรัฐมาถึง 3 ปีเต็ม ทำให้ทักษะชีวิต ทักษะทางอารมณ์ที่อ่อนไหวง่าย และเมื่อยังยึดระเบียบ กฎเกณฑ์ต่างๆ ทำให้เด็กอยู่ในภาวะที่พร้อมจะระเบิด และแสดงออกอย่างไม่เกรงใจ เราจึงเห็นเด็กไม่ค่อยอดทน และมีลักษณะการแสดงออกที่เกินความพอดี ซึ่งผมคิดว่าถ้าไม่แก้ปัญหานี้ สังคมไทยในอนาคตอาการน่าเป็นห่วง” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว
ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวอีกว่า ตนมองว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงสาธรณสุข (สธ.) ควรจะหารือร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปอย่างชัดเจน คือ วางกิจกรรมพัฒนาทักษะเด็ก เช่น มีกิจกรรมอะไรที่ทำให้เด็กกล้าแสดงออกในทางที่สร้างสรรค์ เพื่อไปทำให้สภาวะจิตใจเด็กคลี่คลาย โดยอาจจะใช้วิชาศิลปะ พละ ดนตรี จัดกิจกรรมให้เด็กเกิดความผ่อนคลาย เพราะยิ่งให้เด็กมุ่งแต่เรียน ยิ่งทำให้เด็กเก็บกดเพิ่มขึ้นไปอีก