ปลัดศธ. แจงภารกิจ ศธจ.-ศธภ.แก้ปัญหาการศึกษาภูมิภาค เผยข้อมูล3 ปีวิกฤตแรงงาน

ปลัดศธ. แจงภารกิจ ศธจ.-ศธภ.แก้ปัญหาการศึกษาภูมิภาค เผยข้อมูล3 ปีวิกฤตแรงงาน อุตสาหกรรมใช้เครื่องจักรแทนคนกว่า 70%

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมเชิงปฏิบัติการทิศทางการขับเคลื่อนการบริหารการศึกษาของประเทศไทยในระดับภูมิภาค โดยมีศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) ศึกษาธิการภาค(ศธภ.) ศึกษานิเทศก์ (ศก.) และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ว่า ศธ. ในยุคปัจจุบัน ต้องพยายามผลักดันให้ภาคสังคม ซึ่งหมายรวมถึง พรรคการเมือง ส.ส.ใหม่ เห็นถึงความสำคัญของศธจ. ศธภ. เพราะจะส่งผลต่องบประมาณการจัดการศึกษาที่จะได้รับ ซึ่งหลังจากได้รัฐบาลใหม่ จะต้องมีการปรับเปลี่ยนงบประมาณ ให้เข้ากับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการศธ. คนใหม่ อย่างไรก็ตาม ภารกิจสำคัญ นโยบายสำคัญของศธ. คือ คุณภาพการศึกษา ที่จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ยกระดับคุณภาพการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของศธ. ซึ่งตนเน้นย้ำเสมอว่า ทำอย่างไรที่จะสร้างหลักประกันคุณภาพการศึกษา อย่างครอบคลุมและเท่าเทียม สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต สอดคล้องกับ ภารกิจของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.)

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า ดังนั้นจะต้องเข้าใจบริบทการทำงาน ขณะนี้ภารกิจการทำงานเปลี่ยนไป การบริหารงานบุคคลถูกโอนกลับไปให้ คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคาลกรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา งานของศธจ. จะต้องเน้นในเชิงวิชาการ โดยจะต้องเป็นโซข้อกลางเชื่อมโยงงานการศึกษาระหว่างศธ. กับจังหวัดของตนเอง รวมถึงจะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาการจัดการศึกษา ผลักดันแนวนโยบายให้ไปสู่การปฏิบัติ รวมถึงต้องเข้าใจว่า วันนี้โลกไม่เหมือนเดิม มีความผันผวน และเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทุกหน่วยงานจัดการศึกษาโดยบริหารด้วยตัวเลข ทั้งตัวเลขเด็กออกกลางคัน งบประมาณรายหัว ฯลฯ แต่ในสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป เกิดดิจิทัลดิสรัปชัน มีโรคอุบัติใหม่ มีความผันผวนที่เรียนว่า วูก้าเวิลด์ โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เด็กเรียนรู้ผ่านออนไลน์ เกิดความผันผวนในระบบการศึกษา ตัวเลขผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น 12% หรือ 20 กว่าล้านคน ส่งผลในเรื่องการสาธารณสุข งบคนชราสูงขึ้น อาชีพต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป เรียกว่า บานี่เวิลด์ BANI World หรือ ความเปราะบางที่คาดการณ์ไม่ได้ ทำให้ โลกอาชีพและโลกของการศึกษาต้องเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น เป็นหน้าที่ของศธ.ต้องไปดูว่า จะจัดการศึกษาอย่างไรให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ซึ่งต้องเป็นการจัดการศึกษาในรูปแบบที่หลากหลาย ศธจ. ต้องมองให้เห็นภาพรวม เพื่อหล่อหลอมให้เยาวชนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ ส่วนจะเลือกอาชีพไปทางใดนั้น เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล

ADVERTISMENT

“ขณะเดียวกันการยกระดับคุณภาพการศึกษา ก็เป็นงานสำคัญของศธจ. ศธภ. จะทำอย่างไรให้จังหวัดของตัวเอง มีคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้น ทั้งนี้งบส่วนใหญ่ของศธ. ถูกใช้ไปกับเรื่องการบริหารงานบุคคล งบที่ถูกใช้ในการพัฒนาการจัดการศึกษาจริง ๆ มีแค่ 10% ซึ่งถือว่าน้อยมาก ดังนั้นจึงต้องพยายามพลิกโฉมการศึกษาของประเทศ อย่างแรก หลักสูตรต้องมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาทุกปี การวัดประเมินผลต้องให้สอคล้องเหมาะสมกับบริบทการเรียนการสอน เป็นหน้าที่ของศธจ. ไปดูรายละเอียด รวมถึงจะต้องดูรายงานข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ประกอบการพิจารณา โดยล่าสุด รายงานของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พบว่า ปีที่ผ่านมา มีการนำเข้าเครื่องจักรแทนแรงงานคน กว่า 30% และภายใน 3 ปีข้างหน้า ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีแนวโน้วจะใช้เครื่องจักรแทนคน เพิ่มขึ้นเป็น 70% ดังนั้น จึงต้องดูข้อมูล เพื่อวิเคราะห์การผลิตกำลังคนเพื่อมาใช้กับเครื่องจักรเหล่านี้ ซึ่งภายใน 3 ปี อาจผลิตคนไม่ทันต่อสถานการณ์ จึงต้องปรับเป็นรูปแบบการอัพสกิล รีสกิล เพื่อผลิตกำลังคน เข้าไปสู่ระบบการทำงาน” นายอรรถพล กล่าว

ADVERTISMENT

ปลัดศธ. กล่าวต่อว่า สกร. ซึ่งจัดการศึกษานอกระบบ ก็จะต้องไปพัฒนาคนเหล่านี้ เพื่อเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้การจัดการศึกษาเดินหน้าต่อไปได้ กำลังคนในยุคต่อไป จะต้องมีทักษะการทำงานที่ 2 จึงจะรักษาระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ในปัจจุบันไว้ได้ รวมถึงจะต้องมีแรงงานที่มีทักษะฝีมือชั้นสูงกว่า 2.5 เท่า ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ต้องบอกสถานศึกษาที่ผลิตกำลังคน ว่า การผลิตแรงงานทักษะ จะทำแบบเดิมไม่ได้แล้ว อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ การดูแลเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มผู้พิการ และเด็กยากจน เป็นหน้าที่ของศธจ.ที่จะต้องเข้าไปดูแลให้เข้าสู่ระบบการจัดการศึกษา เพราะหากจะให้สังคมเห็นความสำคัญของศธจ. และศธภ. จะต้องดูแลในเรื่องนี้ให้สมบูรณ์ ทำให้คนกลุ่มนี้มีอาชีพ มีรายได้ดูแลตัวเอง โดยจะต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชน และ อาสาสมัครกระทรวงศึกษาธิการ (อส.ศธ.) ให้องค์ความรู้ในเชิงพื้นที่เพื่อดูแลขับเคลื่อนแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยตั้งเป้าว่า จะต้องมีอส.ศธ. หมู่บ้านละ 1 คน แน่นอนว่า ตอนนี้ ยังให้ทำงานในรูปแบบอาสาสมัคร แต่ในอนาคต จะผลักดันให้มีเงินสนับสนุนเช่นเดียวกับ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ศธจ. เป็นตัวแทนในส่วนจังหวัด ศธภ. เป็นตัวแทนในส่วนของภูมิภาค

“หากได้รัฐบาลใหม่ อันดับแรก จะเสนอตั้งศธภ. เพื่อเติมให้เต็มอีก 5 ตำแหน่งที่ว่าง ให้ครบ 12 ตำแหน่ง ตามอัตราเงินเดือนที่มีอยู่ จากนั้นจะต้องเตรียมข้อมูลเรื่องตำแหน่งบริหารสูง แทนกลุ่มที่กำลังจะเกษียณอายุราชการ และกลุ่มที่ขยับไปเป็นศธภ. และเตรียมข้อมูลสำหรับกลุ่มบริหารต้นที่ว่างลงจากการเกษียณฯอายุราชการ และจากการที่ได้รับแต่งตั้ง เป็นข้าราชการระดับ10 เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการศธ. คนใหม่ พิจารณา ผมอยากบอกว่าทุกคนมีโอกาสที่จะเข้าสู่ตำแหน่งบริหารได้ แต่ขอให้แสดงให้เห็นว่า ทำงานอะไรบ้าง ขอให้ทำงานให้เต็มที่ตามความรู้ความสามารถ ไม่ต้องกังวลเรื่องการใช้เงินซื้อตำแหน่ง ศธ. ไม่เอาไม่เรื่องนี้ โดยเฉพาะผม นายอรรถพล จะไม่ยุ่งเรื่องผลประโยชน์เพราะอยากเกษียณอย่างมีความสุข” ปลัดศธ. กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image