ผู้เขียน | ผศ.สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ |
---|
อ่าน ‘เมื่อสายมู เถลิงอำนาจ’ โดย ผศ.สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ คณะสังคมวิทยาฯ มธ.
ก่อนหน้านี้คนไทยนำเข้าความเชื่อ ปี่เซี๊ยะ มาจากจีนแผ่นดินใหญ่ (เป็นสัตว์วิเศษ ที่กินแล้วไม่ขี้ คือเงินทองที่หามาได้จะไม่ไหลออก) นำเข้าเรื่องกังหันจากฮ่องกง (จะมีแต่สิ่งดีๆ พัดเข้ามา สิ่งชั่วจะพัดออกไป) ก่อนที่จะหันไปบูชา ชูชก (เพราะว่าขออะไรก็ได้ แต่ลืมไปว่าสุดท้ายจะท้องแตกตาย) ตอนนี้เรานำเข้า “ไสยดำ” ตัวใหม่ (โดยอ้างที่มาจากเขมร)
นับว่าน่าเสียดาย เราดูจะสนใจแต่ในแง่ของการเพิ่มพูนกิเลสและทรัพย์สินเงินทอง – ทางหนึ่งก็อาจเป็นว่า ชาติเราใกล้ล้มละลายในทางความคิดและเดินมาถึงความไม่มั่นใจอย่างยิ่งทั้งในทางความคิดและปากท้อง-หลังจากผ่านมา 9 ปี
ส่วนตัวแล้ว เมื่อเห็นครูกายแก้ว – กลับนึกถึง เวตาล แม้จะเป็นปีศาจแต่ก็เฉลียวฉลาด และเป็นหลักทางความคิดให้ได้นับตั้งแต่กษัตริย์ถึงประชาชน (หรือในทางกลับกัน)
ก่อนไปกราบครูกายแก้ว ลองอ่านเวตาลกันบ้างครับ…บางที การที่มีเวตาลเข้ามาอยู่ในเมือง ก็อาจแสดงให้เห็นถึงความโง่เขลาประการหนึ่ง
“พระราชาก็หยุดพิศดูศพซึ่งแขวนคออยู่บนกิ่งอโศก
ศพนั้นลืมตาโพลง ลูกตาสีเขียวเรืองๆ ผมสีน้ำตาล หน้าสีน้ำตาล ตัวผอมเห็นซี่โครงเป็นซี่ๆ ห้อยเอาหัวลงมาทำนองค้างคาว แต่เป็นค้างคาวตัวใหญ่ที่สุด เมื่อจับถูกตัวก็เย็นชืดเหนียวๆ เหมือนงู ปรากฏเหมือนหนึ่งว่าไม่มีชีวิต แต่หางเหมือนแพะนั้นกระดิกได้
พระวิกรมาทิตย์ทอดพระเนตรเห็นเช่นนี้ ก็ทรงคิดในพระหทัยว่า ตัวที่ห้อยอยู่นั้นคือ เวตาล…”
นิทานเวตาล หรือเวตาลปัญจวีศติ (นิทานเวตาล 25 เรื่อง) เป็นวรรณคดีสันสกฤตในยุคกลาง เมื่อ 2500 กว่าปีก่อน ถือเป็นเพียงบางส่วนของนิทานภาษาสันสกฤตที่เก่าแก่ที่สุดในโลกชุดหนึ่ง ในภาษาไทย น.ม.ส. (กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์) แปลมาจากภาษาอังกฤษอีกทอดหนึ่ง
ความน่าสนใจของนิทานเวตาล อยู่ที่เรื่องเล่าและบทสรุปจากเรื่องเล่า ที่อาจเรียกได้ว่ามีเนื้อหาสั่งสอนทั้งพระราชาและประชาชนผู้อ่านและได้รับฟัง
“…ข้าพเจ้าจะเล่านิทานเล่น เพราะปราชญ์ผู้มีความรู้ย่อมใช้เวลาของตนในเรื่องหนังสือ มิใช่ใช้เวลาในการนอน แลขี้เกียจอย่างคนโง่…เมื่อข้าพเจ้าตั้งปัญหา ถ้าพระองค์ตอบ จะเป็นด้วยกรรมในการปางก่อน บันดาลให้ตอบ หรือแพ้ความฉลาดของข้าพเจ้า เพราะข้าพเจ้าล่อให้ทรงแสดงความเย่อหยิ่งว่ามีความรู้ก็ตาม ถ้าตรัสตอบปัญหาข้าพเจ้าเมื่อใด ข้าพเจ้าจะกลับไปที่อยู่ของข้าพเจ้า ต่อเมื่อพระองค์ไม่ตอบปัญหาเพราะได้สติ หรือด้วยความโง่เขลาของพระองค์ก็ตาม ข้าพเจ้าจะยอมไปด้วย
ข้าพเจ้าขอทูลแนะนำเสียแต่ในบัดนี้ว่า พระองค์จงสงบความหยิ่งในพระหฤทัยว่าเป็นผู้มีความรู้ เมื่อเกิดมาเป็นคนโง่แล้วก็จงยอมโง่เสียเถิด มิฉะนั้นพระองค์จะไม่ได้ประโยชน์ ซึ่งนอกจากข้าพเจ้าแล้ว ไม่มีใครจะอำนวยได้…