พศ.แจงมติมส.ห้ามต่างชาติเช่าพื้นที่วัด ชี้สกัดหลอกเช่าพระเครื่องราคาแพง

แฟ้มภาพ

พศ.แจงมติมส.ห้ามต่างชาติเช่าพื้นที่วัด สกัดหลอกเช่าพระเครื่องราคาแพง

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม นายอินทพร จั่นเอี่ยม รองผอ.รักษาราชการแทนผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยว่า ตามที่พศ.ได้แจ้งมติมหาเถรสมาคม (มส. ) เรื่องกรณีหลอกลวงขายพระเครื่องให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติภายในวัด เวียนไปยัง สำนักงานพระพทุธศาสนาจังหวัด (พศจ.)ทั่วประเทศ นั้น มติดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่เป็นการแจ้งเวียนเพื่อย้ำมติเดิม ว่า การให้เช่าที่วัดจะต้องเป็นนิติบุคลหรือบุคคลที่เป็นสัญชาติไทยเท่านั้น ถือเป็นการป้องปราม หลังเกิดกรณีวัดเขาชีจรรย์ ซึ่งพบกลุ่มทุนจีนเช่าที่วัดหลอกให้เช่าซื้อพระเครื่องราคาแพง ว่า เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง หากมีวัดใดไปดำเนินการในลักษณะดังกล่าว ก็ถือว่า ขัดต่อมติ พศ.จึงได้ย้ำเตือนมติมส.แล้ว

“ที่ผ่านมาพบว่า ดูมีบางวัด จะไม่ทราบมติดังกล่าวจริง ๆ อย่างวัดแห่งหนึ่งที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อทราบมติที่ชัดเจน ก็ได้ยุติการให้คนต่างชาติเช่าที่ไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนวัดที่เปิดพื้นที่ให้ต่างชาติเช่าจะถือว่ากฎหมายของบ้านเมืองด้วยหรือไม่ ถ้าเป็นเรื่องทางคณะสงฆ์ ก็ถือว่า ไม่ถูกต้อง หากวัดใดทำทั้งโดยเจตนาหรือไม่เจตนา ก็ขอให้ยุติ และเท่าที่ทราบส่วนใหญ่ก็ยุติการจำหน่ายวัตถุมงคลและนำวัตถุมงคลที่ไม่ถูกต้องออกจากวัดหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม โดยหลักการมส. อนุญาตให้จำหน่วยเฉพาะวัตถุมงคลที่มี ที่มาจากวัด และวัดรู้เห็นเรื่องการจำหน่าย มีพิธีพุทธาภิเษกชัดเจน เปิดให้เช่าบูชาเป็นรายได้ไปบำรุงวัด ตามราคาที่เหมาะสม เพื่อให้พุทธสาศนิกชนนำไปบูชาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ไม่ใช่ว่ามีบุคคลภายนอกนำวัตถุมงคลที่ไม่มีแหล่งที่มาเข้ามาจำหน่าย ตรงนี้จะถือว่าไม่ถูกต้องอย่างชัดเจน “ผู้อำนวยการพศ. กล่าว

นายอินทพร กล่าวต่อว่า มติดังกล่าวถือว่ามีผลบังคับใช้ทุกวัดทั่วประเทศ โดยวัดส่วนใหญ่จะมีการดำเนินการเปิดให้เช่าวัตถุมงคลในรูปแบบคณะกรรมการ มีพิธีพุทธาภิเษกที่ชัดเจน แต่ประเด็นที่เกิดขึ้นที่ วัดเขาชีจรรย์ เกิดจากวัดเปิดให้เช่าอาคารเพื่อจำหน่วยของที่ระลึก แต่มีการลักลอบนำวัตถุมงคล ที่ไม่มีที่มา ที่ไป มาจำหน่ายในราคาที่แพงเกินสมควร ซึ่งน่าจะเป็นการปล่อยปละละเลยของเจ้าอาวาส แต่โดยหลักการเจ้าของทรัพย์จะต้องลงไปดูว่าการเช่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ หากไม่เป็นไปตามข้อตกลง ก็จะต้องยกเลิกสัญญาทันที เพราะถือว่าผิดวัตถุประสงค์การเช่า ทั้งนี้นอกจากกลุ่มทุนจีนที่เข้าทำธุรกิจดังกล่าวแล้ว ยังไม่พบชาติอื่นที่เข้ามาทำธุรกิจ ส่วนใหญ่จะเป็นการเช่าซื้อเพื่อนำไปบูชา โดยประเทศที่พบว่ามีการเช่าซื้อพระเครื่องจำนวนมากใชช่วงนี้ คือ ประเทศสิงคโปร์ เพราะประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวจีนที่นับถือศาสนาพุทธ นิกายมหายาน

ADVERTISMENT

 

 

ADVERTISMENT
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image