‘ก.ค.ศ.’ เปิดเวทีประชุมนานาชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนการประเมินวิทยฐานะครู สู่สากล

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)  เป็นประธานเปิดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการพัฒนาวิชาชีพครู ประจำปี2566 การประเมินสมรรถนะครูและการพัฒนาคุณภาพการสอนสู่ความสำเร็จของผู้เรียน  มุ่งสู่การพัฒนาคุณภาพครูและผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ตอนหนึ่งว่า การจัดการเรียนการสอนในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าผลการปฏิบัติงานของครูถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ซึ่งในการพัฒนาความรู้ กระบวนการเรียนรู้ และทักษะที่จำเป็นของผู้เรียนนั้น ครูจะเลือกใช้เทคนิคและวิธีการสอนที่หลากหลายที่จะช่วยให้นักเรียนบรรลุเป้าหมายในการเรียนรู้ สำหรับประเทศไทย ผลการปฏิบัติงานของครูถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาความก้าวหน้าของวิชาชีพครู รวมไปถึงการพัฒนาระบบค่าตอบแทนและเงินเดือนที่สอดคล้องกับผลการปฏิบัติงานของครูและผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน โดยกระทรวงศึกษาธิการได้มีการนำกระบวนการประเมินผลการปฏิบัติงาน (Performance Appraisal : PA) ซึ่งจะเน้นไปที่การทำข้อตกลงในการพัฒนางานระหว่างครู และผู้อำนวยการโรงเรียนเข้ามาใช้ ซึ่งการจัดทำข้อตกลงในการพัฒนางานมีเป้าประสงค์ในการลดการใช้เอกสารและคืนครูสู่ห้องเรียน ดังนั้น การสังเกตการณ์สอนในชั้นเรียนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงในการพัฒนางาน ถือเป็นส่วนที่สำคัญมากในการประเมินผลการปฏิบัติงาน ครูจะต้องบันทึกวีดิโอการสอน โดยต้องแสดงให้เห็นถึงเทคนิควิธีการสอน ความคิดสร้างสรรค์และการจัดบรรยากาศหรือสภาพแวดล้อมในชั้นเรียนที่เน้นการเรียนรู้แบบเชิงรุก

“เชื่อว่าการจัดประชุมนานาชาติในครั้งนี้จะเป็นโอกาสอันดีที่นำไปสู่เป้าหมายในการสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านเทคนิคการสอน กระบวนการสอนที่มีประสิทธิภาพจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และคุณครู
ชาวต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และไทย ที่เดินทางมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิควิธีการ และนำเสนอ
Best Practices ที่หลากหลาย ซึ่งเป็นแนวทางที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพของครูไทยและนำไปสู่การยกระดับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนให้สูงขึ้น นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นการสนับสนุนความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ร่วมวิชาชีพจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อการพัฒนาระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานของครูในยุคดิจิทัลสู่มาตรฐานสากลต่อไป”น.ส.ตรีนุช

รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวว่า การจัดประชุมนานาชาติในครั้งนี้
จัดขึ้นภายใต้แนวคิด การประเมินผลการปฏิบัติงานของครูและการพัฒนาคุณภาพการสอนสู่ความสำเร็จของผู้เรียน (Teacher Performance Appraisal and Teaching Quality Development: The Making of Successful Learners) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ในการประเมินผลการปฏิบัติงานของครูในยุคดิจิทัลจากนานาประเทศที่ประสบความสำเร็จในการยกระดับคุณภาพการศึกษา ทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรด้านการศึกษา นักวิชาการ นักการศึกษาจากนานาประเทศในการพัฒนาและยกระดับวิชาชีพครูให้เป็นมาตรฐานสากล และเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ข้าราชการครูและบุคลากร

ทางการศึกษาในการพัฒนากระบวนการจัดการศึกษานำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาที่ดีขึ้น
โดยมีกิจกรรมสำคัญอาทิ ปาฐกถาพิเศษ โดย Professor Chan Lee จาก มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล, ประเทศเกาหลีใต้ การรายงานผลการวิจัย เรื่อง การประเมินผลการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติในการประเมินวิทยฐานะและการประเมินผลงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดย ดร.พงษ์ลิขิต เพชรผล (หัวหน้าโครงการวิจัย) กิจกรรมการเสวนา เรื่อง การประเมินผลการปฏิบัติงาน : การประเมินสมรรถนะของครูในยุคดิจิทัลเป็นอย่างไร? และผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนที่คาดหวังเป็นอย่างไร? การบรรยายพิเศษ เรื่อง การจัดการสอนด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์และผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน โดย Prof. Dr. Thomas Merz กิจกรรมการนำเสนอผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) เรื่อง การเป็นครูมืออาชีพในยุคดิจิทัลจะเพิ่มผลสัมฤทธิ์และผลลัพธ์ การเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างไร? โดยหวังว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นในการประชุมนี้จะเป็นประโยชน์ต่อข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา วงวิชาการและวงวิชาชีพได้เป็นอย่างดี

ADVERTISMENT

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image