‘โตมร’ อธิบาย ทำไม ‘ศธ.-วธ.’ สำคัญเกินถูกหยามเป็นกระทรวงชั้นรอง เอาใครเป็น รมต.ก็ได้

แฟ้มภาพ

‘โตมร’ อธิบาย ทำไม ‘ศธ.-วธ.’ สำคัญเกินถูกหยามเป็นกระทรวงชั้นรอง เอาใครเป็น รมต.ก็ได้

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา นายโตมร ศุขปรีชา นักเขียนนักแปลชื่อดังและผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้ OKMD เผยแพร่ข้อความผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัว มีเนื้อหากล่าวถึงความสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ว่าเหตุใดจึงนับเป็นกระทรวงที่มีความสำคัญเกินกว่าจะถูกมองว่าเป็นเพียงกระทรวงชั้นรอง

ความดังนี้

กระทรวงที่โดยส่วนตัวสนใจที่สุดคือ กระทรวงศึกษาธิการ และ กระทรวงวัฒนธรรม

ADVERTISMENT

กระทรวงศึกษาฯ คือกระทรวงแห่งการเรียนรู้ของผู้คนในประเทศนี้ คำถามที่จำเป็นต้องถามกระทรวงศึกษาฯ ก็คือตัวกระทรวง – ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่าเป็นผู้สถาปนา ‘วัฒนธรรมการเรียนรู้’ ของสังคมไทยนั้น มีความเข้าใจใน ‘วัฒนธรรมการเรียนรู้’ หรือ Learning Culture อย่างไร ในแง่มุมไหน และอยากนำพาวัฒนธรรมการเรียนรู้นี้ไปสู่ทิศทางแบบใด

วัฒนธรรมการเรียนรู้คือ ‘นิทาน’ ที่เล่าเรื่องของสังคมนั้นๆ ว่ากาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วสังคมนั้นๆ เคยเป็นอย่างไร ทุกสังคมเริ่มจากความไม่รู้ แต่ค่อยๆ เรียนรู้ และจำเป็นต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพราะนิทานเรื่องนั้นไม่ได้หยุดแค่กาลครั้งนั้น

ADVERTISMENT

การเรียนรู้คือกระบวนการต่อเนื่อง ไม่เคยสิ้นสุด และไม่มี ‘สัจธรรม’ หนึ่งเดียวที่สูงสุด ห้ามคัดค้าน ห้ามเถียง ห้ามตรวจสอบ และเพราะมันคือกระบวนที่ ‘ใหญ่’ มาก จึงไม่เคยมีใคร – ไม่ว่าจะทรงอำนาจ ศักดิ์สิทธิ์ หรือถูกมองว่าสูงส่งเพียงใด, จะครอบงำกระบวนการเรียนรู้ของสังคมทั้งหมดได้เพียงลำพัง ดังนั้น วัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ จึงคือนิทานว่าด้วยการ ‘แลกเปลี่ยนแบ่งปัน’ ความรู้ระหว่างกันของคนในสังคม ซึ่งแปลว่าอาจมีการถกเถียง ขัดแย้ง สนับสนุน ระหว่างความคิดและความรู้ชุดต่างๆ เพื่อนำทางไปสู่การเรียนรู้ที่กระจ่างชัดขึ้นทีละนิด

ไม่มีใครเป็นพระเจ้า ดังนั้น เราจึงต้องการการสนับสนุนจาก ‘กระทรวง’ ที่ดูแลเรื่องการเรียนรู้ เพื่อเสริมส่งความคิดและการถกเถียงที่หลากหลาย มุ่งไปข้างหน้า ไม่กลัวการท้าทาย status quo ใดๆ เพราะมันจะน่าเศร้ามากที่เราจะมาสู่โลกใบนี้และจากมันไป – โดยไม่ได้ร่วมกันขยายพรมแดนแห่ง ‘ความรู้’ (ซึ่งตรงข้ามกับ ‘ความไม่รู้’ หรือ ‘อวิชชา’ ที่มักชอบนั่งเฉยๆ กอดอดีต และไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง) ออกไปแม้เพียงเล็กน้อย

การเรียนรู้จึงไม่ใช่แค่ ‘การศึกษา’ ในระบบ ที่มีจุดสิ้นสุดที่ระดับมัธยมหรืออุดมศึกษา หรือเมื่อได้ปริญญาตรีโทเอกกิตติมศักดิ์เกียรติคุณอะไรพวกนั้นมาประดับบารมีและเหรียญตราที่หน้าอกบนชุดขาวเท่านั้น แต่คือสิ่งที่อยู่ข้างในกะโหลกศีรษะและโพรงหน้าอก คือสมองและหัวใจที่รักในการเรียนรู้ และมี ‘วัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้’ อยู่กับเนื้อตัวของตัวเอง

ด้วยเหตุนี้ กระทรวงแห่งการเรียนรู้อย่างกระทรวงศึกษาฯ จึงจำเป็นต้องทำงานร่วมกับกระทรวงที่ดูแล บ่มเพาะ และฟูมฟัก ‘เนื้อดิน’ แห่งวิถีชีวิตอันหลากหลายอย่าง ‘กระทรวงวัฒนธรรม’ ไปพร้อมกันด้วย เพื่อทำให้ประเทศแห่งนี้เติบโตเป็น ‘ดินแดนในนิทาน’ ที่ถึงพร้อมทั้งเรื่องเล่า ตำนาน ความภูมิใจใน ‘กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว’ พร้อมกับสามารถเงยหน้าขึ้น เพ่งมองไปในหมอกสลัวของอนาคตกาลได้อย่างมั่นใจ และ ‘รู้’ ว่าจะ ‘เล่าถึง’ เรื่องราวที่กำลังจะมาถึงอย่างไร

ไม่ใช่พร่ำพูดถึงเพียงกาลครั้งหนึ่งที่ผ่านพ้นไปเนิ่นนานแล้ว และที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือไม่เข้าใจกาลครั้งนั้นอย่างถ่องแท้ด้วยซ้ำ ได้แต่เพียงพูดด้วยลมปากตามที่ถูก ‘ฝังหัว’ มาแล้วจึงอยาก ‘ฝังหัว’ คนรุ่นต่อๆ ไป ด้วยความไม่รู้พวกนั้น ซ้ำร้ายกว่านั้นคือการฝังหัวคนด้วยวิธีการอันฉ้อฉลเหมือนฝังเหง้าแห่งความ ‘ง่านอดีต’ ไม่รู้แล้วซ้ำๆ ซากๆ

สองกระทรวงนี้จึงสำคัญมากเกินกว่าจะถูกหยามว่าเป็นกระทรวงชั้นรองที่เอาใครมาเป็นรัฐมนตรีก็ได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image