ก.ค.ศ.ยันประเมิน PA ตอบโจทย์ ‘บิ๊กอุ้ม’ ลดขั้นตอนเอกสาร ประหยัดงบ 10 เท่า

ก.ค.ศ.ยันประเมิน PA ตอบโจทย์ ‘บิ๊กอุ้ม’ ลดขั้นตอนเอกสาร ประหยัดงบ 10 เท่า รับลูก สพฐ.ถกบอร์ดปรับเกณฑ์วิทยฐานะ

รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตั้งคณะทำงานเพื่อยกร่างหลักเกณฑ์การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ เสนอคณะกรรมการ ก.ค.ศ.พิจารณาปรับเปลี่ยนการประเมินวิทยฐานะ เพื่อลดขั้นตอน มุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน เพิ่มทางเลือกให้มีรูปแบบวิธีการประเมินที่หลากหลายมากกว่าเดิม เน้นให้เป็นไปตามบริบทของพื้นที่นั้น สพฐ.สามารถเสนอแนะให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ค.ศ.ที่มี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน เพื่อพิจารณารายละเอียดร่วมกันได้ ทั้งนี้ ภาพรวมการประเมินวิทยฐานะ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือเกณฑ์ PA (ว 9/2564) เปิดให้ผู้มีคุณสมบัติครบยื่นประเมินเพื่อขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยสำนักงาน ก.ค.ศ.พัฒนาระบบ ทำให้ขณะนี้สามารถพิจารณาและแจ้งผลการประเมินได้ภายใน 17 วัน

“ส่วนที่ สพฐ.จะเสนอให้ ก.ค.ศ.พิจารณา ปรับการประเมินนั้น สามารถเสนอแนะเข้ามาได้ เพื่อดูรายละเอียดร่วมกัน ซึ่งเรื่องนี้คงต้องคุยรายละเอียดร่วมกันอีกมาก รวมถึง ต้องมาดูเรื่องมาตรฐานการประเมิน โดยในส่วนของการประเมินด้วยระบบ PA ปัจจุบัน ถือว่าค่อนข้างตอบโจทย์นโยบายรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ในเรื่องการลดภาระครู ลดขั้นตอนการจัดทำเอกสารได้ค่อนข้างมาก เพราะมีการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ (ระบบ Digital Performance Appraisal : DPA) มาใช้ เพื่อเป็นการลดภาระในการจัดทำเอกสาร และลดงบประมาณการประเมิน ดังนั้น หากจะปรับการประเมินให้มีหลายช่องทาง เพิ่ม ว การประเมินให้มากขึ้น ก็ต้องมาพิจารณาความเหมาะสมร่วมกัน ซึ่งในส่วนของสำนักงาน ก.ค.ศ.เตรียมจะดำเนินการปรับตัวชี้วัด เพื่อให้การประเมินตอบโจทย์ในเรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนมากขึ้น ส่วนอนาคตจะมีการหลักเกณฑ์ปรับการประเมินวิทยฐานะ ก็ต้องหารือรายละเอียดร่วมกัน” รศ.ดร.ประวิต กล่าว

รศ.ดร.ประวิตรกล่าวต่อว่า สำหรับการประเมิน PA ปัจจุบัน มีครูและบุคลากรทางการศึกษายื่นขอเข้ารับการประเมินในระบบแล้วกว่า 9 หมื่นราย ประเมินแล้วกว่า 6 หมื่นราย อยู่ระหว่างการดำเนินการประเมินกว่า 1 หมื่นราย ทั้งนี้ การประเมินด้วยระบบ DPA สามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้กว่า 10 เท่า โดยระบบการประเมินรูปแบบเดิม ทุกหน่วยงานราชการใช้งบในการประเมินรวมกันกว่า 100 ล้านบาท ขณะที่ระบบ DPA ใช้งบเพียง 10 ล้านบาท หน่วยงานสามารถนำงบที่เหลือไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาส่วนอื่นได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ตั้งแต่เริ่มประเมิน DPA มายังไม่พบปัญหาเรื่องการฟ้องร้อง หรือร้องเรียนเรื่องทุจริต เพราะประเมินจากผลการปฏิบัติงานจริง ใช้ระบบดิจิทัล มีการสุ่มกรรมการ ทำให้ผู้ประเมิน และกรรมการ ไม่รู้ว่าต้องเข้ารับการประเมิน หรือต้องประเมินใคร ดังนั้น จึงเป็นระบบที่มีความโปร่งใส เป็นธรรม รวมถึง ยังแก้ปัญหาเรื่องการจ้างทำผลงานทางวิชาการ เพื่อขอมีและเลื่อนวิทยฐานะเช่นที่ผ่านมาได้ด้วย

ADVERTISMENT
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image