ศธ.โละแจก ‘แท็บเล็ต’ เปลี่ยนเป็น 1น.ร. 1โน้ตบุ๊ก มีประโยชน์กว่า เชื่อนายกฯ ไม่ติดใจ

ศธ.โละแจกแท็บเล็ต เปลี่ยนเป็นโน้ตบุ๊ก ครู-น.ร. ล็อตแรกเริ่มปี 67 ไม่ปูพรมเน้นวัยที่เหมาะสม ‘สุรศักดิ์’ มั่นใจ มีประโยชน์มากกว่า

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ที่จังหวัดน่าน นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เป็นประธานการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ โดยมีว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พร้อมด้วยผู้บริหาร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้การต้อนรับ

VIDEO CONTENT AVERTISEMENT

โดยนายสุรศักดิ์ กล่าวเปิดการประชุมตอนหนึ่งว่า รู้สึกยินดีที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการศธ. ได้มอบหมายให้ตนกำกับดูแลสพฐ. ซึ่งภาพรวมอยากให้การทำงานเกิดความร่วมมือในการจัดการศึกษาทั้งผู้บริหาร ครูผู้สอน บุคลากร ทางการศึกษา โดยมีแนวคิดในการจัดการศึกษาที่สําคัญ 2 ประการ คือ การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต ส่วนนโยบาย จะแบ่งเป็น นโยบายที่เน้นหนัก ในการทํางาน และนโยบายที่ต้องเร่งดําเนินการ

นายสุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับนโยบายที่เน้นหนักในการทำงาน คือ ลดภาระครู และบุคลากรทางการศึกษา 4 ด้าน

ADVERTISMENT

1. ปรับวิทยฐานะ ซึ่งว่าที่ร้อยตรีธนุ ก็ได้มีแนวคิด ให้ครูเลือกประเมินได้ตามความถนัด โดยรัฐมนตรีว่าการศธ. ให้ความสำคัญและเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุย เพื่อนำปัญหาและอุปสรรคที่ได้รับการสะท้อนจากการประเมินวิทยะฐานะมาปรับแก้ ทั้งนี้การประเมินวิทยฐานะ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ครูมีรายได้เพิ่ม ซึ่งถือเป็นความตั้งใจ ของรัฐมนตรีว่าการศธ.

2. นโยบายครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น ซึ่งอยากทำให้เกิดผลมากที่สุด โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างปรับแก้ระเบียบ และจัดทำระบบเพิ่มเติม เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้คืนถิ่น โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ. )ได้จัดทำระบบแมชชิ่ง ผ่านแอพพริเคชั่น จับคู่ครูที่จะแลกพื้นที่กัน เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ขณะที่ สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) ก็จะมีการปรับระเบียบเพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้บรรจุแต่งตั้งในภูมิลำเนาของตัวเอง

ADVERTISMENT

3.การแก้ปัญหาหนี้สินครู แน่นอนว่าเรื่องนี้ทำมาหลายรัฐบาล ดังนั้นตนจึงนำข้อมูลการแก้ปัญหาหนี้สินครูที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง อดีตรัฐมนตรีว่าการศธ.ได้ทำไว้ ทำให้ไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ และจะต่อยอดการทำงานจากคณะกรรมการชุดเดิมเรื่องนี้คงไม่ทำได้สำเร็จในคราวเดียว แต่จะเร่งเจรจาลดดอกเบี้ย แยกกลุ่มครูที่เป็นหนี้ เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด เบื้องต้นจะไปเจรจากับสถาบันการเงิน ที่เคยทำโครงการช่วยเหลือครูที่จะสิ้นสุดในสิ้นปีนี้ ให้ดำเนินการต่อเนื่อง และ

4. จัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการ ด้วยการสนับสนุน จัดหาอุปกรณ์ ในการช่วยจัดการเรียนการสอนต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมโยงระบบออนไลน์ รองรับการใช้งานให้เพียงพอกับจํานวนครูผู้สอน

นายสุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า นโยบายที่ต้องเร่งดำเนินการคือ ลดภาระนักเรียน และผู้ปกครอง 1. Anywhere Anytime เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา เรียนฟรี มีงานทํา “ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” มีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจัดหาอุปกรณ์ 1 นักเรียน 1 อุปกรณ์ ซึ่งผมไม่อยากใช้คำว่าแท็บเล็ต เพราะแนวโน้มจะปรับเป็น 1 นักเรียน 1 โน้ตบุ๊ก เพื่อให้สามารถใช้ในการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

อย่างไรก็ตาม และเรื่องนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบาย 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต ต่อรัฐสภา ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ แต่อาจจะไม่ใช่แท็บเล็ตแล้ว แนวโน้มจะเปลี่ยนมาเป็น 1 นักเรียน 1 แล็บท็อป ทั้งนี้การจะดำเนินการจัดซื้ออุปกรณ์ จะต้องมีการจัดทำคอนเทนต์ ทั้งนี้ การแจกก็จะต้องพิจารณาว่า จะแจกช่วงอายุใดก่อน โดยจะต้องดูความเหมาะสม

“จากการพูดคุยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นตรงกันว่า การแจกแล็บท็อปน่าจะสามารถใช้ประโยชน์ได้ดีกว่า ทั้งการเรียนการสอน และการใช้ประโยชน์ของนักเรียน โดยการแจกจะดูความเหมาะสม อาจจะเป็นมัธยมศึกษาตอนต้น เพราะหากแจกให้เด็กเล็กเกินไปอาจจะทำให้มีปัญหา เพราะการปล่อยให้เด็กอยู่กับแท็บเล็ตหรือโน้ตบุ๊กเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้สมาธิสั้น

ทั้งนี้การดำเนินการจะต้องทำให้เกิดการเท่าเทียม และจะเป็นลักษณะการเช่าเครื่องโน้ตบุ๊ก ที่ต้องมาพร้อมกับคู่สัญญาอินเตอร์เน็ตไวไฟ ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ อย่างไรก็ตามการปรับแก้จากแท็บเล็ตเป็นแล็บท็อป เชื่อว่านายกฯ คงไม่ติดใจ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ทำให้เด็กเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น โดยจะแจกทั้งครูและนักเรียน ส่วนงบประมาณ อยู่ระหว่างการพูดคุย จะเป็นการเช่า เพราะสินค้าเหล่านี้จะตกรุ่นเร็ว คาดว่าจะใช้งบพอสมควร แต่ศธ. จะทำให้เห็นว่า จะเช่าในราคาที่เหมาะสม ในสเปกที่สูง สำหรับงบในส่วนแรกจะพัฒนแพลตฟอร์ม ส่วนการเช่าเครื่องจะใช้งบปี 2567 แจกในกลุ่มเฉพาะเพราะงบประมาณที่จำกัด และขยายกว้างขึ้นในปี 2568” นายสุรศักดิ์ กล่าว

นายสุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังส่งเสริมบทบาทภาคเอกชน สถานประกอบการให้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนและจัดการศึกษา โดยให้ค่าตอบแทน ที่เหมาะสมในระหว่างการเรียนหรือฝึกอาชีพ รวมทั้งนําแพลตฟอร์มการเรียนรู้แห่งชาติมาผสมผสานการเรียนการสอนแบบเดิมในห้องเรียนกับการเรียนการสอนออนไลน์ (Hybrid Education) ผู้เรียนจะมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนทั้งในห้องเรียน และนอกห้องเรียน และขยายการเรียนรู้ไปถึงประชาชนทุกช่วงวัยทั่วประเทศ ให้มีโอกาส ทางการศึกษา เข้าถึงเนื้อหาสาระที่มีคุณภาพ ตลอดจนพัฒนาการศึกษา ผ่านระบบการ สะสมหน่วยการเรียนรู้ หรือเครดิตแบงก์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนและประชาชน ได้เรียนและทํางานไปในเวลาเดียวกัน

2. นโยบาย 1 อําเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ ด้วยการจัดให้มีการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพต้นแบบ อย่างน้อย 1 โรงเรียนในแต่ละอําเภอหรือเขตพื้นที่การศึกษา โดยต่อไปนี้จะทำทุกมิติให้โรงเรียนเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพจริงๆ โดยจะต้องมีคุณภาพตั้งแต่ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู มีการประเมิน และส่งเสริมความก้าวหน้า ในการดำรงตำแหน่งในโรงเรียนเหล่านั้นเป็นพิเศษ

3. ระบบแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิต ด้วยการพัฒนาและปรับปรุง หลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงโลก โดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกระดับ การศึกษาให้มีทักษะที่เหมาะสมและจําเป็นต่อการดํารงชีวิตและมีหลักสูตรที่ตอบสนอง ต่อความสนใจและความต้องการของผู้เรียน

4. การจัดทําระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ ผู้เรียนสามารถ เรียนเพิ่ม เพื่อรับประกาศนียบัตรในการประกอบอาชีพ ด้วยการนําหน่วยกิตที่สะสมมา ใช้เทียบคุณวุฒิ รับรองมาตรฐานวิชาชีพเพื่อรับประกาศนียบัตรในการประกอบอาชีพ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสายอาชีวศึกษา สามารถขอการรับรองมาตรฐานวิชาชีพ ได้ในระหว่างที่กําลังศึกษาอยู่ในระบบ

5.การจัดทําระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษา และประเมินผลการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนที่ มีความสามารถเป็นเลิศ ไม่ต้องเสียเวลาเรียนในระบบ ด้วยการจัดทําระบบการเทียบเคียง หรือเทียบโอนผลการเรียน ทักษะ ความรู้ และ

6.มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทํา (Learn to Earn) ด้วยการจัดการอาชีวศึกษา ระดับวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง

“อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการศธ. ไดมีข้อสั่งการและแนวทางปฏิบัติ ดังนี้ ให้ผู้บริหารทุกภาคส่วนในสังกัด นํานโยบายด้านการศึกษาของคณะรัฐมนตรีที่แถลง ต่อรัฐสภา และนโยบายของรัฐมนตรีว่าการศธ. สู่การปฏิบัติ อย่างเป็นรูปธรรม ดําเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เช่น การบรรจุ แต่งตั้งโยกย้าย เน้นย้ํา ห้ามซื้อ-ขายตําแหน่งห้ามทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างวัสดุ ครุภัณฑ์ ชุดนักเรียน อาหารกลางวัน และต้องจัดซื้อจัดจ้าง วัสดุครุภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เป็นต้น” รัฐมนตรีช่วยว่าการศธ. กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image