นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้ทำการศึกษาแนวทางลดภาระค่าใช้จ่ายในสถานศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลความคิดเห็นต่อการปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัว และจัดการประชุมเรื่อง แนวทางการจัดสรรทรัพยากรเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อชี้แจงข้อมูลการปรับอัตราเงินอุดหนุนฯ ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อปี 2565 และรับฟังความคิดเห็นจากสถานศึกษาและหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยพบว่าอัตราเงินอุดหนุนรายหัวที่ปรับตามมติครม.ครั้งดังกล่าว ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาเพียงบางส่วนเท่านั้น
นายอรรถพล กล่าวต่อว่า ทั้งนี้สถานศึกษาส่วนใหญ่ยังคงมีภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษา ซึ่งเป็นข้อจำกัดสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะสถานศึกษาขนาดเล็ก เนื่องจากเงินอุดหนุนรายหัวจัดสรรตามจำนวนผู้เรียน ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายจำเป็นพื้นฐานและเป็นค่าใช้จ่ายประจำ อาทิ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์และการจัดระบบรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษา ดังนั้น การลดภาระค่าใช้จ่ายสถานศึกษาจึงมีส่วนสำคัญในการเพิ่มศักยภาพความพร้อมให้สถานศึกษา ซึ่งส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาและเพิ่มความปลอดภัยในสถานศึกษา
“การลดภาระค่าใช้จ่ายสถานศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม (All for Education) ตั้งแต่การมีส่วนร่วมพิจารณาแนวทางลดภาระค่าใช้จ่ายสถานศึกษาผ่านกลไกและมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ อาทิ การลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำในสถานศึกษา การเพิ่มโอกาสเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตและแหล่งข้อมูลที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ การลดหย่อนภาษีทางการศึกษาซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศและส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป”นายอรรถพล กล่าว
เลขาธิการสกศ. กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม สกศ. จึงได้กำหนดจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานและภาคส่วนหลักที่มีส่วนสำคัญต่อการกำหนดแนวทางลดภาระค่าใช้จ่ายสถานศึกษา เพื่อหารือประเด็นการมีส่วนร่วมลดภาระค่าใช้จ่ายสถานศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา อาทิ การสนับสนุนในปัจจุบัน กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ข้อจำกัด ข้อเสนอหรือแนวทางในการสนับสนุน รวมทั้งรับทราบเจตนารมณ์และแนวทางยกระดับคุณภาพการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการที่มุ่งหวังให้สถานศึกษามีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนและมีความปลอดภัย ผ่านการมีส่วนร่วมสนับสนุนจากทุกภาคส่วน โดยกำหนดการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 2 ครั้ง ดังนี้ ครั้งที่1 หารือด้านไฟฟ้า พลังงานทางเลือก และน้ำประปา กับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค และครั้งที่2หารือด้านอินเทอร์เน็ต และการรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษา โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และภาคเอกชนที่ให้บริการเครือข่าย รวมทั้งกรมสรรพากรในฐานะผู้กำหนดนโยบายทางภาษีเพื่อจูงใจให้ภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมสนับสนุนการศึกษา
————————–